กางนโยบาย ปี 63 กษ. สร้าง 'เเก้มลิง' กักเก็บน้ำ-จับมือ ‘ลาซาด้า’ อบรมเกษตรกรขายออนไลน์
ก.เกษตรฯ กางเเผนขับเคลื่อนนโยบาย ปี 63 สร้าง 'เเก้มลิง' หวังกักเก็บน้ำ เพิ่มปริมาณผันจากซีกตะวันตก เข้าลุ่มน้ำเจ้าพระยาเป็น 2,000 ล้าน ลบ.ม./ปี เดินหน้า ลด ละ เลิก ใช้สารเคมี จับมือ 'ลาซาด้า' อบรมเกษตรกร ขายของออนไลน์
วันที่ 27 ธ.ค. 2562 นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมว.กษ.) แถลงข่าวการขับเคลื่อนการดำเนินงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ณ ห้องประชุม 115 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายเฉลิมชัย กล่าวว่า ปี 2563 กระทรวงเกษตรฯ มีแผนการขับเคลื่อนนโยบายอยู่หลายด้าน โดยในเรื่องการบริหารจัดการน้ำนั้น จะมีการเพิ่มแหล่งน้ำขนาดใหญ่ กลาง และเล็ก ซึ่งขณะนี้มีการสำรวจในพื้นที่แล้ว และเชื่อว่าจะสามารถสร้างแหล่งกักเก็บน้ำได้ โดยเน้น ‘แก้มลิง’ ในลุ่มน้ำและลำน้ำต่าง ๆ เพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสียน้ำไปโดยเปล่าประโยชน์ รวมถึงจะมีการเพิ่มปริมาณการผันน้ำจากซีกตะวันตก (ลุ่มน้ำแม่กลอง) มายังลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพราะลุ่มน้ำแม่กลอง มีความอุดมสมบูรณ์และมีปริมาณน้ำมากกว่าความต้องการของประชาชนในลุ่มน้ำนั้น ดังนั้นคาดว่าจะเพิ่มกำลังส่งน้ำเข้ามาในปีหน้า 2,000 ล้าน ลบ.ม./ปี จากเดิม 800 ล้าน ลบ.ม./ปี เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาระบบนิเวศ
นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ ยังเตรียมส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์ ซึ่งน้อมนำศาสตร์พระราชา ‘เกษตรทฤษฎีใหม่’ เข้ามาเป็นนโยบายขับเคลื่อน และใช้มาตรการลด ละ เลิก สารเคมี ซึ่งการลด คือ การขอให้ประชาชนประชาสัมพันธ์ให้ใช้สารเคมีน้อยที่สุด การละ คือ ในพื้นที่ใดที่มีความพร้อม ขอให้ละไม่ต้องใช้ และเป้าหมายสุดท้าย เมื่อทุกอย่างมีความพร้อมให้เลิกใช้ โดยจะมีการหาและพัฒนาสารชีวภัณฑ์ต่าง ๆ มาทดแทน
รมว.กษ. กล่าวต่อว่า กระทรวงเกษตรฯ ยังจะพัฒนาการใช้ระบบการตลาดทางการผลิต ถือเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นและสำคัญและเป็นการทำงานต่อเนื่อง ตามนโยบายที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2562 เพื่อแก้ปัญหาสินค้าล้นตลาด ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ โดยต้องหาตลาดใหม่ทั้งในและต่างประเทศ เพิ่มผลผลิตช่องทางการขายให้ผู้ผลิตสินค้าเกษตร ไม่ว่าจะเป็นสหกรณ์ เกษตรแปลงใหญ่ วิสาหกิจชุมชน และกลุ่มเกษตรรุ่นใหม่ เพื่อนำร่องปฏิรูปภาคการเกษตร และยังเตรียมจับมือกับ ลาซาด้า (ประเทศไทย) เพื่อจัดอบรมเกษตรกรเข้าสู่ตลาดออนไลน์ ให้ขายสินค้าเกษตรตรงได้ จะช่วยเพิ่มมูลค่า
อีกทั้ง ส่งเสริมให้ลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มมูลค่าให้สินค้าเกษตร โดยมีนโยบายและแต่งตั้งคณะกรรมการในเรื่องการปรับปรุงปุ๋ย การใช้ปุ๋ยตามสภาพดิน หรือปุ๋ยสั่งตัด เป้าหมาย คือ ลดต้นทุนค่าปุ๋ย 30% เชื่อว่าจะทำให้ต้นทุนเกษตรกรลดลงด้วย แต่หากเกษตรกรมีความพร้อมใช้ปุ๋ยธรรมชาติ ภาครัฐจะดำเนินการให้ความรู้และส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตปุ๋ยใช้เอง มีการใช้เทคโนโลยีพัฒนาพันธุ์พืช ปรับปรุงคุณภาพ ให้ได้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น รวมถึงพัฒนาโลจิสติกส์ โดยมีคณะกรรมการทำหน้าที่พิจารณาลดค่าขนส่งทั่วประเทศ โดยเจรจากับบริษัทขนส่ง อย่างเคอรี่ ไปรษณีย์ไทย การบินไทย เป็นต้น
นายเฉลิมชัย ระบุอีกว่า กระทรวงเกษตรฯ ยังส่งเสริมให้มีการบริหารจัดการการประมงอย่างยั่งยืน ทั้งประมงพาณิชย์และพื้นบ้าน โดยประมงพื้นบ้านมีการขึ้นทะเบียนแล้วประมาณ 50,000 ลำ และส่งเสริมประมงพาณิชย์ให้มีการรักษาสมดุลทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล เพื่อให้เกษตรกรสามารถทำกินได้ตลอดปี
“กรมประมงมีของขวัญเพิ่มวันทำประมงให้แก่เรืออวนลากในอ่าวไทยอีก 30 วัน และในปี 2563 เรือประมงประเภทอื่นจะทำการประมงได้ทั้งปี ยกเว้นเรืออวนลาก”
ทั้งนี้ สิ่งหนึ่งที่จะเกิดขึ้นในปี 2563 จากปัญหาภัยแล้ง คือ รายได้ของเกษตรกร กระทรวงเกษตรฯ จึงมีมาตรการเสริมรายได้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร โดยกรมชลประทานเปิดการจ้างงาน ซึ่งมีการตั้งงบประมาณไว้แล้ว เพื่อจ้างงานเกษตรกรในชนบทรับจ้างทำงาน เพื่อมีรายได้มาเลี้ยงครอบครัว
นายเฉลิมชัย กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้จะมีการเพิ่มพันธุ์สัตว์น้ำตามแหล่งน้ำทั่วประเทศ มีการตั้งงบประมาณ จำนวนสัตว์น้ำชนิดปลาและกุ้ง ทั้งหมด 550 ล้านตัว สามารถดำเนินการได้ คาดว่าใช้ระยะเวลา 4-6 เดือน เกษตรกรสามารถจับไปจำหน่ายและบริโภค ช่วยเสริมรายได้ให้เกษตรกรอีกระดับหนึ่ง
พร้อมจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีทางการเกษตร ทำให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงข้อมูล สิ่งต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ โดยการตั้งศูนย์แห่งนี้ 77 จังหวัด เพื่อเป็นมาตรการเสริมจากการทำ Big Data อย่างไรก็ตาม แผนการขับเคลื่อนทั้งหมดในปี 2563 จะมีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการอีกครั้ง ในวันที่ 3 ม.ค. 2563 ซึ่งจะมีปลัดกระทรวงเกษตรฯ อธิบดี และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ให้ข้อมูล .
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/