เริ่มแล้ว! สธ.-ยธ.จับมือปลดล็อกกัญชา กระท่อม ออกจากพ.ร.บ.ยาเสพติด
บทเริ่มต้นการแก้ไขพ.ร.บ.ยาเสพติด สธ.-ยธ.จับมือรวมพลังทำงานเพื่อปลดล็อก กัญชา กระท่อม นำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ และผลิตสินค้าเพื่อสุขภาพ ที่มีมูลค่าทางธุรกิจ หวังเป็นรายได้ใหม่ให้คนไทย
วันที่ 27 ธันวาคม นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และนายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการดำเนินการเพื่อยกเลิกพืชกระท่อมจากยาเสพติดให้โทษ และบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการดำเนินการเพื่อพิจารณายกเลิกพืชกัญชาจากยาเสพติดให้โทษ ณ กระทรวงยุติธรรม ถนนแจ้งวัฒนะ
นายอนุทิน กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข กับ กระทรวงยุติธรรมลงนามใน ข้อตกลงรวมพลังกันทำงาน เพื่อปลดล็อก กัญชา กับ กระท่อม ออกจากพ.ร.บ.ยาเสพติด เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ และผลิตสินค้าเพื่อสุขภาพ ที่มีมูลค่าทางธุรกิจ เศรษฐกิจ เป็นรายได้ใหม่ให้คนไทย เป็นสินค้าใหม่ของประเทศไทย ซึ่งจะเป็นบทเริ่มต้นของการแก้ไขพ.ร.บ.ยาเสพติด โดยสองกระทรวง ที่มีหน้าที่โดยตรงของรัฐบาลทำงานทุกวัน เดินหน้าทุกวัน
"ทั้งกัญชาและกัญชงถูกจัดเป็นยาเสพติดให้โทษในกฎหมายฉบับปัจจุบัน ทั้งที่พืชทั้ง 2 ชนิด มีประโยชน์ทางการแพทย์ สำหรับกัญชา มีผลวิจัยมากมายที่ยืนยันว่าสามารถรักษาผู้ป่วยได้ ขณะที่กระท่อมนั้น หลายประเทศไม่ได้จัดให้เป็นยาเสพติด และไม่ได้ถูกควบคุมโดยสหประชาชาติ จึงสมควรที่ประเทศไทย จะผลักดันมาใช้ประโยชน์ สร้างความมั่นคงทางยา และต่อยอดนวัตรกรรมด้านการเกษตร ที่มีรากฐานมาจากภูมิปัญญาคนไทย ซึ่งจะเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจ สร้างรายได้กับประชาชน ภายใต้กลไกการควบคุมที่รัดกุม ให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทยและบริบททั่วโลก การปลูก การผลิต การสกัดจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ เพื่อควบคุมการใช้ มิให้เกิดผลเสียตามมา"
นายอนุทิน กล่าวว่า ปัจจุบันนโยบายกัญชาของไทยมาได้ไกล กระทรวงสาธารณสุข ทยอยเปิดคลีนิคกัญชาทั่วประเทศ และให้หมอพื้นบ้านมาลงทะเบียน ในเดือนมกราคมปี 2563 มอบหมายให้กรมการแพทย์ทางเลือกและแพทย์แผนไทย เปิดคลีนิคกลางกัญชา ให้ผู้ป่วยเข้ามารับการรักษาได้ กำลังนำของใต้ดินขึ้นมาบนดิน และทำให้มีมาตรฐาน ดีต่อประชาชน
"ส่วนของความกังวลจากประชาชนบางส่วน หากสามารถทำความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับการใช้อย่างถูกต้อง พืชทั้ง 2 ชนิดจะเป็นประโยชน์ทางการแพทย์และเศรษฐกิจอย่างมหาศาล ที่ผ่านมาทั้ง 2 กระทรวงตั้งคณะกรรมการมาหารือเรื่องนี้บ้าง คือคณะกรรมการยาเสพติดให้โทษ มี เลขา อย.และ เลขา ปปส.ร่วมด้วย แต่การเซ็น MOU คือการยกระดับความร่วมมือไปอีกขั้น หลังจากนี้ ทั้ง 2 กระทรวง จะรวบรวมข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งข้อมูลทางวิชาการเพื่อเสนอต่อรัฐบาล ใช้ประกอบการเสนอร่างกฎหมายเพื่อการยกเลิกกัญชาและกระท่อมจากยาเสพติดให้โทษต่อไป เป็นไปตามเป้าหมายของรัฐมนตรี 2 กระทรวง ที่ต้องการใช้ประโยชน์จากพืช 2 ชนิดทั้งด้านการแพทย์ และการสร้างรายได้ให้ประชาชน"
ส่วนความกังวลว่าสหประชาชาติจะไม่ยอมให้ปลดล็อก นายอนุทิน กล่าวว่า หากมุ่งใช้ไปในทางการแพทย์ เราควบคุมได้ ไม่สร้างปัญหา สหประชาชาติก็ยอมรับได้ ขณะนี้ ยังมีร่างกฎหมายเกี่ยวกับกัญชา อยู่ในการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรอีกหลายฉบับ ก็หวังว่าจะช่วยกันผลักดัน เพื่อประโยชน์โดยรวมของประชาชน