ศาลปค.กลาง สั่งอุตฯ จ.อยุธยา -นายกอบต.แก้ปัญหาท่าเรือขนสินค้าก่อฝุ่นละออง ภายใน 90 วัน
ศาลปกครองกลาง พิพากษาให้อุตสาหกรรม จ.อยุธยา และนายกอบต.ปากจั่น แก้ไขปัญหาเหตุรำคาญภายใน 90 วัน หลังส.ต่อต้านสภาวะโลกร้อน - ปชช.ในพื้นที่ ยื่นฟ้อง กรณีอนุญาตให้ผู้ประกอบกิจการต่าง ๆ เข้ามาดำเนินกิจการโรงงาน และท่าเรือขนส่งสินค้า จนเป็นเหตุให้เกิดฝุ่นละออง น้ำเสีย และส่งเสียงดังกระทบกระเทือนต่อชาวบ้านและสิ่งแวดล้อม
วันที่ 19 ธันวาคม 2562 ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาในคดีที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน และประชาชนในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ยื่นฟ้องอุตสาหกรรมจังหวัดฯ กับพวก กรณีอนุญาตให้ผู้ประกอบกิจการต่าง ๆ เข้ามาดำเนินกิจการโรงงาน และท่าเรือขนส่งสินค้า จนเป็นเหตุให้เกิดฝุ่นละออง น้ำเสีย และส่งเสียงดังกระทบกระเทือนต่อชาวบ้านและสิ่งแวดล้อม จำนวน 4 คดี ดังนี้
- คดีหมายเลขแดงที่ ส.49/2562 และ ส.50/2562 โดยศาลฯ พิพากษาเพิกถอนคำสั่งอธิบดีกรมเจ้าท่า ที่อนุญาตให้ผู้ประกอบกิจการท่าเรือขนถ่ายสินค้าบริเวณท่าเรือ พี.เอ็น. พอร์ท. และบริษัท ท่าเรืออยุธยาและไอซีดี จำกัด เปลี่ยนวัตถุประสงค์หรือประเภทการใช้ท่าเทียบเรือขนาดไม่เกิน 500 ตันกรอส ให้สามารถใช้เทียบเรือขนาดเกินกว่า 500 ตันกรอสได้ โดยให้มีผลย้อนหลังนับแต่วันที่อนุญาต พร้อมทั้งให้นายกเทศมนตรีตำบลนครหลวง และนายกเทศมนตรีตำบลอรัญญิก ใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ในการแก้ไขเหตุรำคาญเกี่ยวกับฝุ่นละอองจากการประกอบกิจการท่าเรือขนถ่ายสินค้าดังกล่าว โดยให้ดำเนินการภายใน 90 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด
เนื่องจากศาลฯ เห็นว่า การเปลี่ยนประเภทการใช้ท่าเรือดังกล่าว จะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการซึ่งต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติ และแนวทางการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ลงวันที่ 24 เมษายน 2555 แต่ข้อเท็จจริงปรากฎว่า อธิบดีกรมเจ้าท่า ได้ให้ความเห็นชอบการเปลี่ยนประเภทการใช้ท่าเรือโดยไม่ปรากฏว่า ผู้ประกอบกิจการท่าเรือได้ดำเนินการจัดทำ EIA จึงเป็นกรณีที่ไม่ดำเนินการตามขั้นตอนและวิธีการอันเป็นสาระสำคัญตามที่กฎหมายกำหนด
- คดีหมายเลขแดงที่ ส.52/2562 และ ส.53/2562 โดยศาลฯ พิพากษาให้อุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 แก้ไขเหตุเดือดร้อนรำคาญจากฝุ่นละอองและเสียงดังจากการประกอบกิจการโรงงานเก็บรักษาหรือแบ่งบรรจุปุ๋ยเคมีของบริษัท จิ้นหยู่เฮง จำกัด และการประกอบกิจการโรงงานลำเลียงสินค้าลงเรือด้วยระบบสายพาน และเก็บรักษาหรือลำเลียงพืช เมล็ดพืช หรือผลผลิตจากพืชในไซโลโกดังหรือคลังสินค้าของบริษัท เอส.พี. อินเตอร์ มารีน จำกัด พร้อมทั้งให้นายก อบต. บ่อโพง และนายก อบต. ปากจั่น ซึ่งเป็นพื้นที่ตั้งของโรงงานทั้งสองแห่ง ใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ในการแก้ไขเหตุรำคาญจากการประกอบกิจการดังกล่าวข้างต้น โดยให้ดำเนินการภายใน 90 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด
เนื่องจากศาลฯ เห็นว่า การประกอบกิจการโรงงานข้างต้นส่วนใหญ่มีผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม และเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ดังนั้น อุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติโรงงานฯ และนายก อบต.ในพื้นที่ตั้งของโรงงานดังกล่าว ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่น ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 จึงมีหน้าที่ในการกำกับดูแลการประกอบกิจการดังกล่าวที่อยู่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของตนให้เป็นไปตามกฎหมาย โดยไม่จำเป็นต้องรอให้มีผู้ใดมาร้องเรียนหรือแจ้งเหตุก่อน และต้องดำเนินการตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ก่อนผู้ฟ้องคดีจะนำคดีมาฟ้องต่อศาล อุตสาหกรรมจังหวัดฯ และนายก อบต. ในพื้นที่ ได้เข้าไปตรวจสอบสถานประกอบการดังกล่าว หรือดำเนินการใดๆ ตามอำนาจหน้าที่แล้วแต่อย่างใด กรณีจึงเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ปฏิบัติในการกำกับดูแลการประกอบกิจการดังกล่าว
ขณะที่ นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กล่าวถึงคำพิพากษาว่า ศาลฯได้พิพากษาเพิกถอนคำสั่งอธิบดีกรมเจ้าท่า ที่อนุญาตให้ผู้ประกอบกิจการท่าเรือขนถ่ายสินค้าบริเวณท่าเรือ พี.เอ็น. พอร์ท. และบริษัท ท่าเรืออยุธยาและไอซีดี จำกัด ที่เปลี่ยนวัตถุประสงค์หรือประเภทการใช้ท่าเทียบเรือขนาดไม่เกิน 500 ตันกรอส ให้สามารถใช้เทียบเรือขนาดเกินกว่า 500 ตันกรอสได้ โดยให้มีผลย้อนหลังนับแต่วันที่อนุญาต พร้อมทั้งให้นายกเทศมนตรีต.นครหลวง และนายกเทศมนตรี ต.อรัญญิก ใช้อำนาจตามพ.ร.บ.การสาธารณสุข 2535 ในการแก้ไขเหตุรำคาญเกี่ยวกับฝุ่นละอองจากการประกอบกิจการท่าเรือขนถ่ายสินค้าดังกล่าว โดยให้ดำเนินการภายใน 90 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด
เนื่องจากศาลฯ เห็นว่า การเปลี่ยนประเภทการใช้ท่าเรือดังกล่าว จะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่ข้อเท็จจริงปรากฎว่า อธิบดีกรมเจ้าท่า ได้ให้ความเห็นชอบการเปลี่ยนประเภทการใช้ท่าเรือโดยไม่ปรากฏว่า ผู้ประกอบกิจการท่าเรือได้ดำเนินการจัดทำ EIA จึงเป็นกรณีที่ไม่ดำเนินการตามขั้นตอนและวิธีการอันเป็นสาระสำคัญตามที่กฎหมายกำหนด
นอกจากนั้นศาลฯ ยังพิพากษาให้อุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ใช้อำนาจตามพ.ร.บ.โรงงาน 2535 แก้ไขเหตุเดือดร้อนรำคาญจากฝุ่นละอองและเสียงดังจากการประกอบกิจการโรงงานเก็บรักษาหรือแบ่งบรรจุปุ๋ยเคมีของบริษัท จิ้นหยู่เฮง จำกัด และการประกอบกิจการโรงงานลำเลียงสินค้าลงเรือด้วยระบบสายพาน และเก็บรักษาหรือลำเลียงพืช เมล็ดพืช หรือผลผลิตจากพืชในไซโลโกดังหรือคลังสินค้าของบริษัท เอส.พี. อินเตอร์ มารีน จำกัด พร้อมทั้งให้นายก อบต. บ่อโพง และนายก อบต. ปากจั่น ซึ่งเป็นพื้นที่ตั้งของโรงงานทั้งสองแห่ง ใช้อำนาจตามพรบ.การสาธารณสุข 2535 ในการแก้ไขเหตุรำคาญโดยให้ดำเนินการภายใน 90 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด
ทั้งนี้ในพื้นที่ลำน้ำป่าสัก อ.นครหลวง มีการก่อสร้างท่าเรือขนถ่ายถ่านหิน ปุ๋ย แป้งมัน และอื่นๆอีกกว่า 51 ท่าเรือซึ่งไม่ได้จัดทำ EIA ตามประกาศกระทรวงทรัพย์ฯเลย ซึ่งก่อให้เกิดเหตุเดือดร้อนและเสียหายต่อประชาชนตลอดริมน้ำป่าสักเป็นจำนวนมาก ซึ่งในวันจันทร์ที่ 23 ธ.ค.62 นี้เวลา 10.30 น. สมาคมฯและชาว อ.นครหลวง จะเดินทางไปยื่นคำร้องให้ ผอ.สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาอยุธยา ถ.อู่ทอง ต.หอรัตนไชย จ.อยุธยา เพื่อสั่งให้ผู้ประกอบการระงับการใช้ท่าเรือที่ผิดกฎหมายตามคำพิพากษาโดยทันทีต่อไปด้วย และหลังจากนั้นจะเดินทางไปยื่นคำร้องต่ออุตสาหกรรมจังหวัดอยุธยาต่อไปด้วย นายศรีสุวรรณ กล่าวในที่สุด
อ่านคำพิพากษาฉบับเต็ม https://drive.google.com/file/d/1YpRpV5QZ1kFMR4QCbbTteE8d3S4LpGka/view?fbclid=IwAR10k0PpRGGr_LAMbbaP169V_tG0tCPUVi7rcs17I3ZbzDb0BsFmAle0ang