ร่วง! ครม.บิ๊กตู่ สอบตกทุกประเด็นนโยบายย้ายถิ่นเเรงงานข้ามชาติ
เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติสรุปสถานการณ์ย้ายถิ่น บริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ-ครอบครัว จัดเกรดนโยบาย ครม.ตู่ สอบตกร่วงทุกประเด็น ยกกรณีต่ออายุใบอนุญาตทำงาน เรียกร้องกระทรวงแรงงานเร่งดำเนินการปรับปรุงแก้ไข กม.แรงงานสัมพันธ์ ออกอนุบัญญัติ กฎระเบียบเกี่ยวข้อง นำไปสู่บังคับใช้ทางปฏิบัติเร็วที่สุด พร้อมเร่งรัดให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับที่ 87
เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.2562 ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ แถลงข่าว “จัดเกรดนโยบายการย้ายถิ่นของรัฐบาลตู่” รุ่งหรือ ร่วง เนื่องในวันผู้ย้ายถิ่นสากล ปี 2562 (International Migrants Day 2019)UNTAPPED POWER: MIGRATION REDEFINED, WORKERS REUNITED ปลดปล่อยพลัง ผูกใจคนใช้แรงงานเป็นหนึ่งเดียว
นายอดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ สรุปสถานการณ์การย้ายถิ่นและการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติและครอบครัว ในปี พ.ศ.2562 ว่า แม้ว่าในปี 2561 ไทยประสบความสำเร็จในการยุตินโยบายการผ่อนผันแรงงานข้ามชาติที่ยังมีสถานะหลบหนีเข้าเมือง ทำให้แรงงานข้ามชาติเข้าเมืองอย่างถูกกฎหมาย และเน้นการนำเข้าตามระบบ MOU ได้มากขึ้น แต่ในปี 2562 พบว่ามีการจับกุมขบวนการนำพาคนข้ามชาติผ่านประเทศไทยไปยังประเทศมาเลเซียมากขึ้นกว่าเดิม โดยมีการจับกุมไม่ต่ำกว่า 5 ครั้ง มีผู้ย้ายถิ่นข้ามชาติที่ถูกจับกุมมากกว่า 100 คน
นอกจากนี้ยังพบว่า กลไกการคุ้มครองตามกฎหมาย คือ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การคุ้มครองแรงงานในงานประมง พ.ศ. 2562 และพระราชกำหนด (พ.ร.ก.)แก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 และ พ.ศ.2562 ยังไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ และไม่ตอบสนองต่อหลักการใหญ่ของกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายภายในมากนัก เช่น ระบบประกันสังคมของแรงงานในกิจการประมงทะเล ที่ขาดมาตรการในการเข้าถึงการคุ้มครองของแรงงานข้ามชาติที่ชัดเจน
ขณะเดียวกันในการคุ้มครองแรงงาน ไม่มีความก้าวหน้าใด ๆ ทั้งมาตรการการคุ้มครองแกนนำแรงงานที่ถูกฟ้องคดีปิดปาก รวมถึงการคุ้มครองแรงงานในพื้นที่ชายแดนให้ได้รับการคุ้มครองสิทธิแรงงานตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน การคุ้มครองทางสังคม ซึ่งสะท้อนให้เห็นความถดถอยของการมีมาตรการคุ้มครองสิทธิแรงงานของไทยเช่นกัน
ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีความล่าช้าของการแก้ไขปัญหาเด็กที่ไม่มีสัญชาติในระบบการศึกษาของไทย ซึ่งพบว่าในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา แก้ไขปัญหาได้ไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ของนักเรียนกลุ่มเป้าหมายทั้งหมด ขณะเดียวกันการจัดตั้งศูนย์การเรียนก็ยังมีอุปสรรคในการดำเนินการจัดตั้งให้ถูกต้องตามกฎหมาย จนในปีที่ผ่านมามีการปิดศูนย์การเรียน และทำให้เด็กข้ามชาติจำนวนหนึ่งไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาที่เหมาะสมและสอดคล้องกับพวกเขาอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของเด็กทุกคนซึ่งมีความเสี่ยงหรือเป็นที่จับตามองว่าสถานการณ์การเข้าไม่ถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานดังกล่าวจะผลักให้เด็กกลับไปสู่วงจรการใช้แรงงานเด็กได้หรือไม่
“การขาดความใส่ใจ กลไกที่ไม่เอื้อต่อการเข้าถึงการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติและประชากรข้ามชาติ ทำให้กฎหมายและนโยบายที่ดีของไทยขาดประสิทธิภาพ ความล่าช้าในการดำเนินการตามกฎหมายนโยบายกลายเป็นโซ่ตรวนที่ฉุดรั้งการได้รับการคุ้มครองและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานข้ามชาติและประชากรข้ามชาติทั้งหมด การพยายามเล่นเกมส์การเมืองโดยการมองข้ามความสำคัญของสิทธิในการรวมตัวต่อรอง และกลไกสำคัญในการให้แรงงานทุกคนในประเทศไทยได้ปกป้องและคุ้มครองตัวเองซึ่งทำให้ทิศทางเรื่องการคุ้มครองสิทธิแรงงานเข้าสู่ภาวะตกต่ำ และยังเป็นพันธนาการที่ผูกมัดแรงงานทั้งหมดในประเทศไทยให้ถูกละเมิดซ้ำ ๆ ดังนั้นประเทศไทยแม้จะดูมีความพยายามแต่ก็ยังอยู่ในเกณฑ์สอบตกในเรื่องการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติและคนข้ามชาติ”นายอดิศรระบุ
นายอดิศร ยังระบุต่อถึงการจัดเกรดในเรื่องการบริหารจัดการแรงงานข้ามตามมาตรฐานสากลว่า ขอให้เกรดรัฐบาลชุดนี้ร่วง เพราะกรณีการต่ออายุใบอนุญาตทำงาน ซึ่งดำเนินอยู่ในขณะนี้และมีกำหนดแล้วเสร็จภายใน 31 มี.ค. พ.ศ. 2563 มีความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยกรณีต่ออายุใบอนุญาตทำงานในปี พ.ศ. 2560 ซึ่งพบว่ามีแรงงานข้ามชาติที่หายไปจากกลุ่มจำนวนตัวเลขเป้าหมายที่ต้องได้รับการพิสูจน์สัญชาติจำนวนสูงถึง 811,437 คน
นอกจากนี้ยังมีการกีดกันแรงงานข้ามชาติจากการก่อตั้งสหภาพแรงงานของตนเองขึ้น เพื่อคุ้มครองสิทธิของแรงงานข้ามชาติในสถานประกอบการ ดังนั้นแล้วเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ จึงขอเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกระทรวงแรงงานเร่งดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ ออกกฎหมายอนุบัญญัติและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปสู่บังคับใช้กฎหมายในทางปฏิบัติโดยเร็วที่สุด และควรให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับที่ 87 ว่าด้วยว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว ค.ศ. 1948 และ อนุสัญญาฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรองอย่างเร่งด่วน รวมทั้งดำเนินการพิจารณาหากลไกในการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติที่ถือเอกสารจ้างงานชายแดนในเร็ววัน โดยในทุกประเด็นที่กล่าวมาควรเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้าไปมีส่วนร่วมเพื่อความโปร่งใสตามหลักการ‘ไตรภาคีบวก’
“ มีความเป็นห่วงว่า การต่อใบอนุญาตการทำงานในอีกไม่กี่เดือนนี้ จะซ้ำรอยปี 2560 เพราะสองปีที่ผ่านมา รัฐบาลไม่มีความพร้อมใดๆในการพัฒนาระบบการต่ออายุ ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบัน พบว่ารัฐบาลมีการดำเนินการสองส่วนโดยในส่วนของระบบออนไลน์ที่ค่อนข้างล้มเหลว ระบบล่มไม่สามารถดำเนินการต่อได้ อีกทั้งหากต้องการเปลี่ยนนายจ้าง จะต้องให้อดีตนายจ้างมาเซ็นรับรอง ทำให้ต่อไปแรงงานที่เข้ามาอย่างถูกกฎหมาย อาจจะกลายเป็นแรงงานที่ผิดกฎหมายทันทีหากเปลี่ยนนายจ้าง ซึ่งมีความกังวลว่าจะมีแรงงานนับแสนคน จะหลุดออกจากระบบในการต่ออายุปี 2563 นี้”นายอดิศรระบุ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/