2 แนวทางวินิจฉัย ‘เงินกู้ธนาธร’ จริงหรือ?ความยุติธรรมอยู่ที่ปลายปากกาของผู้มีอำนาจ
"...ผลการวินิจฉัยของผู้ชี้ขาดคดีจะออกมาในแนวทางใด ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงที่จะปรากฏต่อผู้ชี้ขาดคดี ซึ่งหากจะตัดสินให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ ก็จะต้องมีพยานหลักฐานหรือปรากฏพฤติการณ์ของผู้ที่เกี่ยวข้องเพียงพอที่จะชี้ให้เห็นโดยปราศจากข้อสงสัยว่าครบองค์ประกอบตามที่กฎหมายกำหนดไว้ในมาตราต่าง ๆ มิใช่ความยุติธรรมอยู่ที่เพียงปลายปากกาของผู้ชี้ขาดคดี..."
• แม้ไม่มีคำว่า “นิติกรรมอำพราง” อยู่ในข่าวแจกของคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.เมื่อวันพุธที่ 11 ธ.ค. 2562 ที่ กกต.มีมติให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณายุบพรรคอนาคตใหม่ กรณีกู้ยืมเงินจากนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค 191.2 ล้านบาท โดยมติ กกต.เสียงข้างมาก 5 ต่อ 2 เสียง เห็นว่าเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืน มาตรา 72 อันเป็นเหตุที่จะยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยยุบพรรคตาม มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) ประกอบมาตรา 93 แห่ง พรป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 โดยข่าวแจกดังกล่าวไม่ได้ระบุรายละเอียดการวินิจฉัยของ กกต.ว่าเป็นอย่างไร
• ทำให้กระแสสังคมเกิดข้อสงสัยว่า ทำไม กกต.เสียงข้างมาก 5 เสียง จาก 7 เสียง ยกเว้น 2 เสียงที่ไม่เห็นด้วย จึงได้วินิจฉัยว่าการกู้ยืมเงินของพรรคอนาคตใหม่ฝ่าฝืนต่อมาตรา 72 ทั้งที่มาตรานี้ระบุไว้เพียงห้ามพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยไม่ได้ระบุว่าห้ามกู้ยืมเงิน ขณะที่นายธนาธร ก็ได้ออกมาให้ข่าวว่าถึงความไม่เป็นธรรมที่พรรคของตนได้รับจากมติเสียงข้างมากของ กกต. และกล่าวว่าความยุติธรรมอยู่ที่ปลายปากกาของผู้มีอำนาจ ซึ่งหมายถึงศาลรัฐธรรมนูญที่จะเป็นผู้ชี้ขาดต่อไป
• ผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จะส่งผลต่อพรรคอนาคตใหม่ทางใดทางหนึ่ง คือ “ร่วง” หรือ “รอด” จากการถูกยุบพรรค
แนวทางการวินิจฉัยที่ 1 พรรคอนาคตใหม่ “ร่วง”
1. เริ่มต้นจากการวินิจฉัยว่าพรรคการเมืองไม่อาจกู้ยืมเงินได้ เนื่องจากการกู้ยืมเงินไม่ใช่รายได้ที่อาจมีได้ตามที่ระบุไว้ใน มาตรา 62 โดยการวินิจฉัยจะต้องให้เหตุผลในทำนองว่าการกู้ยืมเงินถือเป็นรายได้อย่างหนึ่ง เนื่องจากการกู้ยืมเงินทำให้ได้รับมาซึ่งเงินที่จะนำไปใช้ในการดำเนินงานของพรรคการเมือง
2. เมื่อพรรคการเมืองไม่อาจกู้ยืมเงินได้ การกู้ยืมเงินของพรรคอนาคตใหม่กับนายธนาธร จึงเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อ มาตรา 62 วรรคหนึ่ง แต่การกระทำฝ่าฝืนมาตรา 62 วรรคหนึ่ง ไม่มีบทกำหนดโทษ
3. การที่จะเป็นการกระทำที่มีบทกำหนดโทษ จะต้องเชื่อมโยงไปยังมาตรา 66 วรรคหนึ่ง ที่ห้ามบุคคลใด บริจาคเงินเกินสิบล้านบาทต่อพรรคการเมืองต่อปีมิได้ และในวรรคสองห้ามพรรคการเมือง รับบริจาคเงินในลักษณะดังกล่าว โดยผู้บริจาคที่ฝ่าฝืนบริจาค จะมีโทษตามมาตรา 124 คือ จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี ส่วนพรรคการเมืองที่ฝ่าฝืนรับบริจาค จะมีโทษตามมาตรา 125 คือ ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนด 5 ปี
4. หากจะทำให้พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบด้วย จะต้องเชื่อมโยงไปยังมาตรา 72 ที่ห้ามพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งการกระทำฝ่าฝืนมาตรา 72 จะทำให้ กกต.มีอำนาจยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ได้ ตามมาตรา 92 โดยมีวิธีการตามมาตรา 93 ซึ่งผู้ที่ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองที่กระทำการฝ่าฝืนมาตรา 72 จะมีโทษตามมาตรา 126 คือ จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
การเชื่อมโยงไปยังมาตรา 72 มีความสำคัญมาก เพราะหากไม่สามารถเชื่อมโยงได้ จะทำให้ไม่มีเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ได้ตามมาตรา 92 และ กกต.ไม่มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ ตามมาตรา 93
5. การที่จะเชื่อมโยงไปถึงมาตรา 72 ได้ จะต้องมีข้อเท็จจริงครบทั้ง 2 องค์ประกอบ
องค์ประกอบที่ 1 จะต้องรับฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยให้ได้ว่าการกู้ยืมเงินของพรรคอนาคตใหม่เป็นการรับบริจาคเงิน โดยต้องปรากฏจากหลักฐานและพฤติการณ์ของผู้เกี่ยวข้องที่มีความชัดเจนว่า เจตนาที่แท้จริงของนายธนาธรและพรรคอนาคตใหม่ ไม่ใช่เป็นการกู้ยืมเงิน แต่มีเจตนาบริจาคและรับบริจาคเงิน โดยการกู้ยืมเงินเป็นเพียง “นิติกรรมอำพราง” ซึ่งนิติกรรมแท้จริงที่ถูกอำพรางไว้คือ การบริจาคและรับบริจาคเงิน โดยมาตรา 155 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ให้บังคับตามนิติกรรมที่ถูกอำพรางไว้ คือการบริจาคและรับบริจาคเงิน
องค์ประกอบที่ 2 จะต้องรับฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยให้ได้ว่า เงินที่พรรคอนาคตใหม่รับมาจากนายธนาธรเป็นเงินที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งองค์ประกอบข้อนี้เมื่อไม่ปรากฏหลักฐานว่าเงินของนายธนาธรที่ให้กับพรรคอนาคตใหม่ได้มาจากการกระทำที่ผิดกฎหมาย แนวทางที่พอจะนำไปวินิจฉัยว่าเป็นเงินที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงต้องอ้างถึงช่องทางการส่งมอบเงินของนายธนาธรให้กับพรรคอนาคตใหม่ โดยผ่านวิธีการให้กู้ยืมเงิน ซึ่งได้วินิจฉัยไว้แล้วว่าพรรคการเมืองไม่อาจกู้ยืมเงินได้ตามมาตรา 62 วรรคหนึ่ง และไม่อาจรับบริจาคเงินเกิน 10 ล้านบาทต่อปีได้ตามมาตรา 66 วรรคสอง ดังนั้นเงินของนายธนาธรที่ส่งมอบให้กับพรรคอนาคตใหม่โดยผ่านช่องทางที่ไม่ได้ระบุไว้ในมาตรา 62 วรรคหนึ่ง และมีจำนวนเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ตามมาตรา 66 วรรคหนึ่ง จึงถือเป็นเงินที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้ว่าก่อนหน้านั้นเงินจำนวนดังกล่าวนายธนาธรจะได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายก็ตาม
6. อีกแนวทางหนึ่งที่จะวินิจฉัยว่าฝ่าฝืนมาตรา 72 โดยไม่ต้องวินิจฉัยว่าการกู้ยืมเงินเป็นนิติกรรมอำพราง คือวินิจฉัยให้การกู้ยืมเงินเป็นประโยชน์อื่นใดที่พรรคอนาคตใหม่ได้รับมาจากนายธนาธร เนื่องจากเงินกู้ที่ได้รับมาย่อมเป็นประโยชน์ต่อพรรคอนาคตใหม่ในการนำไปใช้ดำเนินกิจกรรมทางการเมือง
7. การเชื่อมโยงมาตรา 62 มาตรา 66 มาตรา 72 มาตรา 92 และมาตรา 93 รวมทั้งบทกำหนดโทษตามมาตรา 124 มาตรา 125 และมาตรา 126 จะนำไปสู่การยุบพรรคอนาคตใหม่ การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง การได้รับโทษทางอาญาทั้งโทษจำคุกและโทษปรับ ของผู้ที่เกี่ยวข้อง
แนวทางการวินิจฉัยที่ 2 พรรคอนาคตใหม่ “รอด”
1. เริ่มต้นจากการวินิจฉัยที่มาตรา 62 โดยตีความคำว่า “รายได้” โดยใช้หลักการทางบัญชี ซึ่งรายได้จะเป็นรายการที่ปรากฏอยู่ในงบกำไรขาดทุน แต่เงินกู้ยืมจะไม่ถูกบันทึกเป็นรายได้ในงบกำไรขาดทุน โดยจะเป็นรายการในงบดุลทางด้านหนี้สิน ซึ่งกิจการมีภาระผูกพันที่จะต้องชำระคืนให้กับเจ้าหนี้ จึงไม่อาจตีความว่าเงินกู้ยืมเป็นรายได้ เมื่อเงินกู้ยืมไม่ใช่รายได้ การกู้ยืมเงินจึงไม่ได้ฝ่าฝืนมาตรา 62
2. แม้ พรป.พรรคการเมือง จะไม่ได้กำหนดให้พรรคการเมืองกู้ยืมเงินได้ แต่เมื่อพรรคการเมืองได้ทำการกู้ยืมเงิน พรป.พรรคการเมือง ก็ไม่มีบทกำหนดโทษ
3. ไม่อาจตีความได้ว่าการกู้ยืมเงินเป็นนิติกรรมอำพรางการบริจาคและรับบริจาคเงิน เพราะมีหลักฐานการกู้ยืมเงิน มีแหล่งที่มาของเงินที่จะชำระคืนเงินกู้ และได้มีการใช้คืนเงินกู้กันไปแล้วบางส่วน อันแสดงให้เห็นว่าไม่มีเจตนาที่จะบริจาคหรือรับบริจาคเงิน
4. ไม่อาจตีความได้ว่าการกู้ยืมเงินเป็นประโยชน์อื่นใด เพราะเงินที่พรรคอนาคตใหม่ได้รับมาจากนายธนาธรมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ย และจะต้องใช้คืนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยตามปกติของการกู้ยืมเงิน
5. การฝ่าฝืนมาตรา 72 จะต้องครบทั้ง 2 องค์ประกอบ โดยเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า องค์ประกอบที่ 1 ไม่ใช่การรับบริจาคเงิน และไม่ใช่การรับประโยชน์อื่นใด องค์ประกอบที่ 2 ไม่ใช่เงินหรือประโยชน์อื่นใดที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 72
หากวินิจฉัยตามแนวทางที่ 2 พรรคอนาคตใหม่ก็มีโอกาส “รอด”
ผลการวินิจฉัยของผู้ชี้ขาดคดีจะออกมาในแนวทางใด ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงที่จะปรากฏต่อผู้ชี้ขาดคดี ซึ่งหากจะตัดสินให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ ก็จะต้องมีพยานหลักฐานหรือปรากฏพฤติการณ์ของผู้ที่เกี่ยวข้องเพียงพอที่จะชี้ให้เห็นโดยปราศจากข้อสงสัยว่าครบองค์ประกอบตามที่กฎหมายกำหนดไว้ในมาตราต่าง ๆ
มิใช่ความยุติธรรมอยู่ที่เพียงปลายปากกาของผู้ชี้ขาดคดี
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก สยามรัฐ