พิภพ ธงไชย:ปัญหาของ’ธนาธร-พรรคอนาคตใหม่’กับ ‘โจชัว หว่อง
"...ผิดกับกรณีฮ่องกง Joshua เขาเริ่มด้วยการไม่เห็นด้วยกับหลักสูตรการศึกษา โดยตั้งชื่อกลุ่มของเขาว่า “SCHOLARISM” เป็น”องค์กรต่อต้านการศึกษาแห่งชาติ” และพยายามพัฒนาการชุมนุมไปสู่ประเด็น”ไม่เป็นประชาธิปไตยและไม่ยุติธรรม” โดยใช้รูปแบบ “Occupy Central” เพื่อต่อต้านการกำหนดวิธีการเลือกผู้นำบริหารเกาะฮ่องกง ตามที่ปักกิ่งกำหนด จนไปถึง กม.ส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน แล้วตอนนี้ Joshua จึงคิดจะนำตัวเข้าสู่ระบบรัฐสภาฯ ตั้งพรรคการเมืองเพื่อสมัครลงเลือกตั้ง Joshua ไม่มีเรื่องส่วนตัวทางคดีความในฐานะผู้นำการชุมนุมแต่อย่างใด ถึงแม้ในระหว่างการชุมนุม จะถูกจับ ถูกตั้งข้อหา เขานำการชุมนุมอย่างบริสุทธ์ใจสมกับ”วัยทีนเอจ”ของความเป็น”นักเรียนมัธยม”ของเขา..."
พรรคอนาคตใหม่กับคุณธนาธรและอาจารย์ปิยบุตรกับคณะ ได้ประกาศว่าจะใช้กลไกทางการเมืองในรัฐสภาฯแก้ปัญหาการเมืองและปัญหาบ้านเมือง แต่พรรคอนาคตใหม่กลับไม่อดทนพอที่จะปฏิบัติงานทางการเมืองในรัฐสภาฯให้ถึงที่สุด ไม่ว่าการแก้รัฐธรรมนูญ หรือการตรวจสอบการใช้งบประมาณ หรือการตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชัน หรือการลดความเหลื่อมล้ำโดยการออกกฎหมายใหม่ ทั้งที่มี ส.ส.ในสภาฯ ถึง 80 ที่นั่งในจำนวน 500 ที่นั่ง และเสียงสนับสนุนของประชาชนถึง 6,330,617 คน
แต่กลับนำเอาเรื่องคดีความในศาลของตนเองมาก่อม๊อบ ทันทีที่ตัวเองแพ้คดีความและอาจจะนำไปสู่การพ่ายแพ้อีก
อันนี้เหมือนทักษิณตอน”คดีซุกหุ้น”และต่อมาก็กรณีนิรโทษกรรมสุดซอย
จึงค่อยบานปลายไปยังเรื่องอื่นๆ และจัดตั้งกลุ่ม นปช.เพื่อช่วยทักษิณในคดีความต่างๆเพื่อคานพลังมวลชนของ พธม. จนถึงมวลมหาประชาชนของ กปปส. และเพื่อต่อสู้กับทหารที่ทำการรัฐประหารโค้นล้มนายกรัฐมนตรีของตน
จริงอยู่ในระหว่างเส้นทางการต่อสู้บนท้องถนนร่วม 10 ปี มีการรัฐประหาร 2 ครั้ง มีการแก้กฎหมายและเขียนรัฐธรรมนูญให้ทหารเป็น”รัฐซ้อนรัฐ” ใน รธน.60 และแล้วทหารก็พาตัวเองมาเป็นรัฐบาลเสียเอง (หลังจากเหตุการณ์พฤษภา 35 ทหารถูกลดอิทธิพลทางการเมืองลงไปมาก เราจึงได้รัฐธรรมนูญ 40 ฉบับประชาชน)
แต่รัฐทหารก็ไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจและการคอร์รัปชัน รวมถึงความยากจนลงได้
ผิดกับกรณีฮ่องกง Joshua เขาเริ่มด้วยการไม่เห็นด้วยกับหลักสูตรการศึกษา โดยตั้งชื่อกลุ่มของเขาว่า “SCHOLARISM” เป็น”องค์กรต่อต้านการศึกษาแห่งชาติ” และพยายามพัฒนาการชุมนุมไปสู่ประเด็น”ไม่เป็นประชาธิปไตยและไม่ยุติธรรม” โดยใช้รูปแบบ “Occupy Central” เพื่อต่อต้านการกำหนดวิธีการเลือกผู้นำบริหารเกาะฮ่องกง ตามที่ปักกิ่งกำหนด จนไปถึง กม.ส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน
แล้วตอนนี้ Joshua จึงคิดจะนำตัวเข้าสู่ระบบรัฐสภาฯ ตั้งพรรคการเมืองเพื่อสมัครลงเลือกตั้ง
Joshua ไม่มีเรื่องส่วนตัวทางคดีความในฐานะผู้นำการชุมนุมแต่อย่างใด ถึงแม้ในระหว่างการชุมนุม จะถูกจับ ถูกตั้งข้อหา เขานำการชุมนุมอย่างบริสุทธ์ใจสมกับ”วัยทีนเอจ”ของความเป็น”นักเรียนมัธยม”ของเขา
แต่ปัญหาของฮ่องกงนั้นมีการเมืองมหาอำนาจเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โดยการนำของสหรัฐอเมริกาที่ออกกฎหมาย แทรกแซงการชุมนุมของฮ่องกงได้ โดยอ้างกฎบัตรสหประชาชาติในเรื่องสิทธิมนุษยชน จึงเป็นเรื่องใหญ่ของปักกิ่งที่จะจัดการข้อเรียกร้องและการชุมนุมนี้อย่างไร
ถ้าจะเปรียบเทียบกับการชุมนุมของ พธม. คือเราเริ่มด้วยการตรวจสอบการบริหารงานของทักษิณและพวก ที่เรากล่าวหาว่าอาจจะนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชันทั้งระบบ ที่เรียกว่า”ทักษิโณมิกส์”
ต่อมาทักษิณฟ้อง 5 แกนนำกับผู้ประสานงานว่าหมิ่นประมาท 4 คดี 4 ศาล
เราชนะทั้ง 4 คดี และ 4 ศาลว่าข้อมูลในแถลงการณ์ทั้ง 4 ฉบับที่กล่าวหาทักษิณและสมัครพรรคพวกนั้นเป็นความจริง
การต่อสู้ของ พธม.นั้นยาวนาน นับปี เน้นสันติวิธี ไม่มีเรื่องผลประโยชน์ส่วนตัวทั้งของแกนนำและผู้เข้าร่วมชุมนุม แม้แกนนำจะถูกศาลตัดสินให้ติดคุกใน”คดียึดทำเนียบรัฐบาล” หรือแพ้”คดีแพ่ง” 3 คดี เป็นเงินเกือบพันล้านบาท ก็ไม่มีเหตุที่จะนำมาเป็นข้ออ้างเรียก พธม.มาชุมนุมใดๆทั้งสิ้น
วันนี้นักวิชาการพยายามนำเหตุการณ์ในฮ่องกงมาเปรียบเทียบกับการชุมนุม “flash mob” เมื่อ 14 ธ.ค.ที่ผ่านมา
ก็ลองเปรียบเทียบความเป็น”ธนาธร” กับ “Joshua” ดูว่ามีการเริ่มต้นที่มีลักษณะคล้าย หรือเหมือนกันตรงไหน ก็จะวิเคราะห์สถานการณ์ที่กำลังพาไปได้ใกล้เคียงขึ้น
พิภพ ธงไชย
16/2/62
ปล. ขอบคุณคุณหมอตุลย์และคุณหมี ที่ให้แรงบันดาลใจเขียนเรื่องนี้ทันทีที่อ่าน
บทวิพากษ์ของทั้งสองท่านจบลง
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก the standard