เงินราชการลับที่มี'นัยยะ'แยบยล
"...เงินราชการลับยังอาจจะเกิดขึ้นได้อีกจากการโอนงบประมาณรายจ่ายตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 มาตรา 36 ให้อำนาจผู้อำนวยการสำนักงบประมาณโอนจากรายการใดรายการหนึ่งของหน่วยรับงบประมาณที่เป็นงบปกติไปเพิ่มรายจ่ายประเภทเงินราชการลับโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรี..."
ปัจจุบันในพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีจะไม่มีการตั้งรายการเงินราชการลับในงบประมาณรายจ่ายงบกลางและในงบประมาณรายจ่ายของส่วนราชการหรือที่เรียกว่างบประจำ แต่รายการเงินราชการ “ลับ” จะปรากฏอยู่ในเอกสารงบประมาณฉบับที่ 3 เล่ม 1 ตั้งไว้ในงบประมาณของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเป็นของส่วนราชการต่างๆ ที่จำเป็นต้องมีเงินราชการลับ มีวงเงินไม่มากต่างกับของกระทรวงกลาโหมที่ตั้งไว้ในงบประมาณของกระทรวงกลาโหมที่มีวงเงินที่สูงมาก
มีข้อสังเกตว่าที่ผ่านมาจะตั้งวงเงินราชการลับไว้เกือบเท่ากันทุกปีงบประมาณ เช่นของกองทัพบกตั้งไว้เป็นจำนวน 290,046,000 บาท เท่ากันมาอย่างนี้ไม่ขาดสาย ตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปี 2562 และปี 2563 และทุกๆ ปีที่ผ่านมารายการจำนวนเงินราชการลับจะไม่เหลือคืนเงินคงคลังเลย
อนึ่ง เคยมีหนังเสือเวียนของกระทรวงการคลังที่ ก.ค. 0502/3161 ลงวันที่30 มกราคม 2518 กำหนดว่าเมื่อเบิกมาแล้วแต่ยังใช้จ่ายไม่หมดจะต้องไปฝากไว้ที่กระทรวงการคลังหรือที่ธนาคารกรุงไทย ห้ามนำไปฝากไว้ที่ธนาคารพาณิชย์เพื่อหาดอกเบี้ย
ผู้เขียนนั้นไม่คัดค้านการมีเงินราชการลับแต่อย่างไรเพราะมีความจำเป็นในการใช้เพื่อความมั่นคงของประเทศ เพียงแต่มีข้อเสนอแนะบางประการว่า ในการแปรญัตติร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ขอเสนอให้คณะกรรมาธิการวิสามัญได้นำรายการจำนวนเงินราชการลับที่อยู่ในเอกสารงบประมาณและไม่มีฐานะเป็นกฎหมายนำมาไว้บัญญัติไว้ในตัวพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี อันจะเป็นการสอดคล้องกับกฎหมายวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 มาตรา 36 ที่จะต้องกำหนดไว้ในรายการงบประมาณของหน่วยรับงบประมาณและยังแสดงความโปร่งใสในการตั้งงบประมาณรายการเงินราชการลับต่อประชาชนที่เป็นเจ้าของเงินแผ่นดินในระบอบประชาธิปไตยอีกด้วย
ตัวอย่างเงินราชการลับในเอกสารประกอบร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 และ 2557 ของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ฉบับที่ 3 เล่มที่ 1 และ ในเอกสารประกอบร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 ของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะอยู่ในฉบับที่ 3 เล่มที่ 1 เช่นกัน (รายการเงินราชการ “ลับ” จะมีการตั้งไว้เหมือนกันแบบนี้ทุกๆ ปีงบประมาณซึ่งสามารถหาข้อมูลย้อนหลังไปได้นับตั้งแต่มีระบบเงินราชการลับเกิดขึ้น) ดังนี้
สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี จะอยู่ใน.....
งบรายจ่ายอื่นรายการที่ 4 (หน้า 59) จำนวนเงิน 397,680,000 บาท สำหรับงบประมาณปี 2556
งบรายจ่ายอื่นรายการที่ 4 (หน้า 53) จำนวนเงิน 450,680,000 บาท สำหรับงบประมาณปี 2557
งบรายจ่ายอื่นรายการที่ 4 (หน้า 61) จำนวนเงิน 485,680,000 บาท สำหรับงบประมาณปี 2558
ซึ่งจำแนกเป็นของส่วนราชการต่างๆ ดังนี้ (ดูตาราง)
ส่วนรายการเงินราชการลับในงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จะอยู่ในเอกสารงบประมาณ ฉบับที่ 3 เล่มที่ 1 ในส่วนของสำนักนายกรัฐมนตรีได้จัดไว้ในงบประมาณของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี หน้า 319 งบรายจ่ายอื่นมีเงินราชการลับ 19 รายการ จำนวนทั้งสิ้น 558,053,000 บาท
กระทรวงกลาโหมมีเงินราชการลับในส่วนราชการในสังกัดที่ปรากฏในเอกสารประกอบงบประมาณรายจ่าย ฉบับ 3 เล่ม 1 งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2556, 2557, 2558, 2559 และ 2563 ดังนี้
เงินราชการลับยังอาจจะเกิดขึ้นได้อีกจากการโอนงบประมาณรายจ่ายตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 มาตรา 36 ให้อำนาจผู้อำนวยการสำนักงบประมาณโอนจากรายการใดรายการหนึ่งของหน่วยรับงบประมาณที่เป็นงบปกติไปเพิ่มรายจ่ายประเภทเงินราชการลับโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรี
อนึ่ง การโอนโดยใช้อำนาจบริหารนี้เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติงบประมาณโดยตรงแต่ไม่ต้องผ่านความเห็นชอบจากฝ่ายนิติบัญญัติแต่อย่างใด
จากตารางข้างบน เห็นได้ว่าเงินราชการลับของกระทรวงกลาโหมมีจำนวนที่มากทำให้เกิดคำถามต่อไปว่าแต่ละปีงบประมาณได้มีการตั้งเงินราชการลับเท่ากันอย่างนี้มานานกี่ปีแล้ว และมีการใช้หมดพอดิบพอดีกับที่ตั้งไว้ไม่มีเหลือในวันสิ้นปีงบประมาณ เป็นไปได้อย่างไร ?
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก https://www.sanook.com