นักวิชาการฝาก รบ.เร่ง ออกกม.ลูก ‘ภาษีที่ดินฯ' หวั่นยื้อกระทบ อปท. ประเมินรายได้
นักวิชาการฝาก รบ.ให้ความสำคัญ ออกกม.ลำดับรอง 'จัดเก็บภาษีที่ดินฯ' หลังมีการขยายเวลาเป็น ส.ค. 63 เเม้อยู่ในรอบปี อาจกระทบรายได้ อปท. ล่าช้า โครงการติดปัญหา
สืบเนื่องจากนายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย มีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ทุกจังหวัด แจ้งเรื่องการขยายกำหนดเวลาดำเนินการของผู้มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกำหนดเวลาในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 เฉพาะการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประจำปี พ.ศ.2563 เป็นการทั่วไป เนื่องจากการออกกฎหมายลำดับรอง 8 ฉบับ ไม่แล้วเสร็จ
(อ่านประกอบ:ออกกฎหมายลูกล่าช้า มท.ขยายเวลาจัดเก็บภาษีที่ดินฯ จากเม.ย. เป็นส.ค.63)
ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่าการออกกฎหมายลำดับรองไม่ควรล่าช้าไปมากกว่านี้แล้ว เพราะที่ผ่านมามีการเตรียมการมานาน จึงไม่เข้าใจเหมือนกันว่า ความล่าช้าที่เกิดขึ้นติดขัดปัญหาส่วนใด ทั้งที่ควรคลอดกฎหมายดังกล่าวออกมาได้และไม่ควรเลื่อนออกไปอีก
“แม้รอบนี้จะเลื่อนออกไป แต่ยังคงอยู่ในรอบปีภาษี อย่างไรก็ตาม รัฐบาลควรให้ความสำคัญในเรื่องนี้มากขึ้น โดยไม่ควรยื้อเวลาออกไปอีก”
อาจารย์ มธ. กล่าวอธิบายถึงรอบปีภาษี ระบุหากนับเป็นปีงบประมาณ จะเป็น 1 ต.ค. 2562-30 ก.ย. 2563 หากผู้เสียภาษีมาชำระภายใน ส.ค. 2563 ตามที่มีการเลื่อนออกไป ยังถือว่าอยู่ในรอบปีภาษีนั้น แต่อาจติดปัญหา คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จะได้รับภาษีหรือรายได้ล่าช้า ฉะนั้นทำให้การทำโครงการต่าง ๆ มีปัญหาตามมา
"ไม่ควรขยายออกไปอีก เพราะร่างกันมานาน แต่ไม่ทราบว่าติดตรงไหน ทำไมออกไม่ได้ ทั้งที่ในชั้นกรรมาธิการได้ให้เตรียมไว้อยู่แล้ว ดังนั้นรัฐบาลต้องให้ความสำคัญ มิฉะนั้นอปท.สำรวจได้ครบ จะไม่สามารถประเมินภาษีได้”
ขณะที่ปัญหาในทางปฏิบัติของอปท. ผศ.ดร.ดวงมณี กล่าวว่า อปท.มีจำนวนมาก เพราะฉะนั้นบางแห่งอาจจะไม่ค่อยมีความเข้าใจเท่าที่ควร แต่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและกระทรวงการคลังได้มีการจัดอบรมมาหลายรุ่นแล้ว เพียงแต่อย่างที่กล่าวไว้ว่า ด้วยอปท.ที่มีจำนวนมาก นั่นจึงทำให้บางแห่งอาจยังไม่เข้าใจเท่าที่ควร
ทั้งนี้ เห็นว่า เกี่ยวกับการทำบัญชีรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อประกาศพร้อมทั้งจัดส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้ผู้เสียภาษีแต่ละรายทราบ จะต้องมีการสำรวจจึงจะจัดทำบัญชีออกมาได้ ซึ่งอปท.ขนาดใหญ่หรือมีจำนวนแปลงทรัพย์สินจำนวนมาก อาจติดปัญหาทำไม่ทัน เพราะตามหลักกฎหมายต้องสำรวจรายแปลงว่ามีการใช้ประโยชน์อย่างไร และบางทรัพย์สินใช้ประโยชน์หลายอย่าง ต้องไปดูอีกว่าเป็นใช้ประโยชน์เรื่องใดบ้าง ทำให้ในส่วนนี้จะใช้ระยะเวลาพอสมควรจึงจะสามารถประกาศออกมาได้ ถือเป็นเรื่องค่อนข้างยาก ประกอบกับบางท้องถิ่นมีเจ้าหน้าที่จำนวนน้อยด้วย
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/