"15 ศพลำพะยา - อับดุลเลาะ" 2 เหตุจากชายแดนใต้ทำสิทธิมนุษยชนไทยถอยหลัง
วันที่ 10 ธันวาคม นอกจากจะเป็นวันรัฐธรรมนูญของประเทศไทยแล้ว ยังเป็นวันสิทธิมนุษยชนสากลด้วย
ปีนี้ สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน มูลนิธิผสานวัฒนธรรม มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา และสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ได้ร่วมกันจัดทำรายงานสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2562 ในหัวข้อ "10 เด่น (ก้าวหน้า) 10 ด้อย (ถดถอย)" เพื่อให้สังคมได้เห็นภาพรวมทั้งในแง่ของการพัฒนาและถอยหลังของการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย
สถานการณ์ 10 เด่น (ก้าวหน้า) ซึ่งเป็นแง่ดีของการพัฒนาด้านสิทธิมนุษยชน ประกอบด้วย
1. การเลือกตั้งปี 2562 เมื่อวันที่ 24 มีนาคม ทำให้เกิดสิทธิของประชาชนในการกำหนดและการมีส่วนร่วมในอำนาจการปกครองประเทศ ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกนับตั้งแต่การยึดอำนาจการปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นเวลาถึง 5 ปี
แม้กติกาที่กำหนดในรัฐธรรมนูญจะส่งผลให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่งก็ตาม แต่ผลการเลือกตั้งได้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดแจ้งถึงเจตจำนงของประชาชนที่ต้องการเปลี่ยนแปลง โดยพิจารณาจากเสียงของฝ่ายรัฐบาลจำนวน 255 เสียง และเสียงฝ่ายค้านจำนวน 245 เสียง ซึ่งมีเสียงก้ำกึ่งกันเป็นอย่างมาก ทำให้มีพรรคฝ่ายค้านมีความเข้มแข็งในสภาผู้แทนราษฎร
2. ความคืบหน้ากรณีการหายตัวไปของ นายพอละจี รักจงเจริญ หรือ "บิลลี่" หลานชายของ "ปู่คออี้" ผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวกะเหรี่ยงในผืนป่าแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี
3. การประกาศแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน แต่หลังจากนี้ต้องมีกระบวนการติดตามเพื่อตรวจสอบให้รัฐบาลและกลไกต่างๆ ของรัฐนำแผนปฏิบัติการนี้ไปปฏิบัติอย่างจริงจัง
4. กรณีหมู่บ้านกะเหรี่ยงแห่งลำห้วยคลิตี้ล่าง คดีสิ่งแวดล้อมและชุมชนคดีแรกที่ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย คำสั่งของศาลในคดีนี้ถือเป็นบรรทัดฐานคดีแรกในการยืนยันหลักการ "ผู้ก้อมลพิษเป็นผู้จ่าย" และเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาการฟื้นฟูการปนเปื้อนของมลพิษในสิ่งแวดล้อมว่าหากผู้ประกอบการไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา ชุมชนผู้เสียหายซึ่งเป็นโจทก์ในคดีสามารถร้องขอต่อศาล เพื่อให้หน่วยงานรัฐที่มีอำนาจหน้าที่และมีความเชี่ยวชาญเข้ามาดำเนินการแก่ไขปัญหา และเรียกค่าใช้จ่ายทั้งหมดจากผู้ประกอบการได้ โดยไม่ต้องไปฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นคดีใหม่ซึ่งต้องใช้ระยะเวลานาน
5. การคุ้มครองสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิมของไทย "ชาวมานิ" ที่ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในจังหวัดสงขลา สตูล ตรัง และพัทลุง กระทั่งได้มีบัตรประจำตัวประชาชน ทำให้ชาวมานิได้รับสิทธิสวัสดิการของรัฐ ทั้งหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และสิทธิอื่นๆ เช่น สวัสดิการผู้สูงอายุ ผู้พิการ และเด็ก ตลอดจนสิทธิทางการเมืองในฐานะพลเมืองไทย
6. สิทธิแต่งกายได้ตามเพศวิถีของนิสิต นักศึกษา และบัณฑิตมหาวิทยาลัย โดยมหาวิทยาลัยหลายแห่งได้ออกประกาศอนุญาตให้แต่งกายตามเพศสภาวะได้ อาทิเช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นต้น
7. สิทธิการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย เนื่องจากได้มีการตราพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา ฉบับที่ 34) พ.ศ.2562 ประกาศบังคับใช้เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2562 ซึ่งกฎหมายได้กำหนดให้คดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน 10 ปี ผู้ถูกกล่าวหาต้องได้รับสิทธิในการประกันตัว และจะมีหลักประกันด้วยหรือไม่ก็ได้ จากกฎหมายเดิมที่กำหนดสำหรับคดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน 5 ปีขึ้น การปล่อยชั่วคราวต้องมีหลักประกัน
การแก้ ป.วิอาญา นี้ เป็นการลดภาระของผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่ต้องหาหลักประกันมาวางศาลมากจนเกินสมควร หากศาลเห็นว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีพฤติกรรมจะหลบหนี หรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือไปก่อเหตุอันตราย จึงถือเป็นการคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพของผู้ต้องหาหรือจำเลยให้ได้รับการปลอยชั่วคราวมากขึ้น และสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 ที่บัญญัติว่า "ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้
8. การคุ้มครองสิทธิของบุคคลที่พ้นโทษสามารถประกอบอาชีพหมอนวดได้ทันทีโดยไม่ต้องรอ 1 ปี โดยเป็นการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2562
9. สิทธิของเด็กปฐมวัยได้รับการดูแลและพัฒนาจากรัฐตามกฎหมายว่าด้วยการพัฒนาเด็กปฐมวัย การออกกฎหมายฉบับนี้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
10. การคุ้มครองสิทธิเด็กข้ามชาติเข้าเมืองไม่ให้ถูกกักตัวไว้ในสถานกักตัวคนต่างด้าว ซึ่งมีการทำ "บันทึกความตกลง" ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยต้องให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่องในประเด็นความเป็นเอกภาพของครอบครัวของคนต่างด้าวเข้าเมือง ให้สามารถอยู่ร่วมกับลูกในสถานสงเคราะห์ หรือกลับสู่ชุมชนได้
ส่วน 10 สถานการณ์ถดถอย ซึ่งเป็นแง่ลบของสิทธิมนุษยชนไทย มีดังนี้
1. กรณี 15 ศพ ยะลา สั่นสะเทือนองคาพยพไฟใต้ เหตุการณ์นี้เป็นการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอย่างรุนแรง โดยเฉพาะสิทธิต่อชีวิต โดยมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากเป็นชาวไทยพุทธ บางส่วนเป็นชาวมลายูมุสลิม บางคนเป็นเจ้าหน้าที่รัฐและอดีตเจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายพลเรือนที่ช่วยกันทำหน้าที่อาสาสมัครป้องกันหมู่บ้านในวันเกิดเหตุ
การดำเนินการค้นหาและจับกุมผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามกฎหมาย อีกทั้งการสืบค้นหาความจริงเกี่ยวกับสาเหตุรากเหง้าของปัญหาการใช้ความรุนแรงโต้ตอบกันทั้งในระดับชุมชน และภาพรวมของการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่ยืดเยื้อยาวนาน มีความจำเป็นที่จะทำให้สถานการณ์คลี่คลายไปได้ระดับหนึ่งเพื่อลดความรุนแรง และหาแนวทางการแก้ไขปัญหาการใช้ความรุนแรงโต้ตอบกัน อีกทั้งทุกฝ่ายต้องมีการเสริมสร้างให้เกิดความอดทนอดกลั้น และมีความรู้ในการจัดการกับข้อมูลข่าวสารในสื่อสังคมออนไลน์ที่เผยแพร่ไปอย่างกว้างขวางในลักษณะที่มีการสร้างความเกลียดชังให้หมดไป
2. ฟ้องปิดปาก (SLAPPs)เนื่องจากมีชาวบ้านและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนถูกฟ้องในลักษณะนี้มากขึ้นทั้งทางแพ่งและอาญา จากบริษัทเอกชน หรือแม้แต่รัฐเอง เช่น การฟ้องผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องหมู่บ้านข้าราชการตุลาการเชิงดอยสุเทพ (คดีป่าแหว่ง) หรือบริษัทเหมืองแร่ถ่านหินแจ้งจับชาวบ้านที่ถือป้ายประท้วงคัดค้าน
3. นักปกป้องสิทธิมนุษยชนและนักประชาธิปไตยถูกข่มขู่ คุกคาม และทำร้าย ทั้งกรณีของ นายเอกชัย หงส์กังวาล, นายอนุรักษ์ เจนตวนิชย์ หรือ ฟอร์ด เส้นทางสีแดง, นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ นักกิจกรรมและนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว ซึ่งทั้งหมดมีการดำเนินคดีกับคนร้ายได้เพียง 3 ครั้ง นอกนั้นไร้ความคืบหน้าแม้มีกล้องวงจรปิด
4. กรณีผู้ถูกควบคุมตัวขาดอากาศจนหมดสติในค่ายทหาร กรณี นายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ซึ่งตัวแทนภาคประชาสังคมและประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้บางส่วนได้ออกมาแสดงความกังวลว่า นายอับดุลเลาะอาจถูกซ้อมทรมาน และยังมีการตั้งคำถามเรื่องการบังคับใช้กฎหมายพิเศษอย่างยาวนานในพื้นที่ด้วย
5. การไล่รื้อหาบเร่แผงลอยใน กทม. ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาล คสช. และกรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยมีคำสั่งยกเลิกการค้าและหาบเร่แผงลอยทุกประเภทบริเวณถนน ทางเท้า และที่สาธารณะ ครอบคลุมทั้ง 50 สำนักงานเขต จำนวน 683 จุด ถือเป็นการคุกคามโดยตรงต่อสิทธิในทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะสิทธิในการประกอบอาชีพของประชาชนจำนวนถึงกว่า 20,000 ครอบครัว
6. นโยบายทวงคืนผืนป่าของ คสช. ซึ่งมีการใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. และใช้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน. ซึ่งเป็นหน่วยงานของฝ่ายทหาร ทำหน้าที่จัดระเบียบ ส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ทับซ่้อนเขตป่าและกำลังอยู่ระหว่างกระบวนการแก้ไขปัญหากับภาครัฐหลายกรณี
7. เลื่อนการยกเลิกการใช้สารพิษพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสออกไปเป็นเวลา 6 เดือน และไม่ยกเลิกการใช้สารไกลโฟเซต เปลี่ยนเป็นการจำกัดการใช้
8. สำนักงานตำรวจแห่งชาาติยกเลิกรับสมัคร "นักเรียนนายร้อยตำรวจหญิง" อย่างถาวร สะท้อนถึงปัญหาความไม่เท่าเทียมกันทางเพศ
9. คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่อาจส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม
10. ตำรวจละเมิดสิทธิมนุษยชน ซ้อมทรมาน ยัดข้อหาประชาชน ซึ่งมีหลายกรณี