นักวิเคราะห์ชี้ ‘กองทุน SSF’ ตอบโจทย์นักออมรุ่นใหม่ สร้างวินัยการเงิน- ลดหย่อนภาษีสูง
นักวิเคราะห์ ชี้กองทุน SSF ตอบโจทย์นักลงทุน-ออมรุ่นใหม่ คนรายได้ปานกลางลดหย่อนภาษีได้มากกว่า LTF ระบุถึงเวลาสร้างวินัยทางการเงิน
วันที่ 9 ธ.ค. 2562 สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน จัดเวที Hot Issue ครั้งที่ 4 ปี 2562 เรื่อง กลยุทธ์ลงทุนช่วงเปลี่ยนผ่าน LTF เป็น SSF ณ ห้องประชุมเสรี จินตนเสรี อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กรุงเทพฯ
นายวิกิจ ถิรวรรณรัตน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิจัย บริษัท หลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การซื้อกองทุนรวมเพื่อการออม (Super Savings Fund: SSF) หรือ กองทุน SSF ซึ่งเหมาะสมกับนักออมเงินทุกคน โดยเฉพาะนักลงทุนหรือนักออมเงินคนรุ่นใหม่ เพิ่งเริ่มต้นทำงานและเริ่มออมเงินบางส่วน เพื่อฝึกวินัยทางการออม ซึ่งเชื่อว่าจะตอบโจทย์อย่างแน่นอน เพราะแทนที่จะไปจ่ายภาษีเต็มที่ เราควรคว้าผลประโยชน์ไว้ ไม่ปล่อยให้ผ่านไป
“กองทุน SSF เหมาะสำหรับนักออมเงินทั่วไป คนเพิ่งเริ่มทำงาน และตอบโจทย์คนที่มีรายได้ประจำทุกคน ไม่เหมือนการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long-Term Equity Fund) หรือกองทุน LTF ซึ่งเหมาะสมกับคนที่มีฐานรายได้สูง” ผอ.อาวุโส สายงานวิจัย บล.บัวหลวง กล่าว
นายวิกิจ กล่าวต่อว่า คนในยุคนั้นที่ซื้อกองทุน LTF ไว้ แม้จะมีอายุ 40 ปีขึ้นไป แต่สามารถซื้อกองทุน SSF ไว้ได้อีก เพราะเอื้อการลงทุนจากนี้ไปอีก 10 ปี โดยตอบโจทย์การซื้อที่ดีกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund: RMF)หรือกองทุน RMF นั้น SSF มีความยืดหยุ่นมากกว่า โดยเราไม่จำเป็นต้องซื้อกองทุน SSF ทุกปี หากซื้อปีไหนจะสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ในปีนั้น ดังนั้น กองทุน SSF จึงเปิดกว้างให้ทุกคนได้มีโอกาสออมเงิน
ส่วนนโยบายการลงทุนจะกระจุกตัวอยู่ในหุ้นมากกว่าประเภทอื่นหรือไม่นั้น ผอ.อาวุโส สายงานวิจัย บล.บัวหลวง กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ โดยหากสถานการณ์โลกปัจจุบันบีบบังคับให้อุตสาหกรรมหนึ่งเติบโตขึ้น ขณะที่อีกอุตสาหกรรมเติบโตลดลง เศรษฐกิจในประเทศจะเป็นตัวตอบโจทย์ว่า เมื่อการบริโภคมีการชะลอตัว จะทำให้หุ้นที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคมีราคาลดลง เพราะฉะนั้น การออกแบบผลิตภัณฑ์จึงมีความสำคัญ
นายวิกิจ ยังกล่าวขยายความถึงการออมเงินในระยะยาว มีความจำเป็นกับคนรุ่นใหม่ ซึ่งมีการกล่าวว่า ภาระหนี้ครัวเรือนค่อนข้างสูง จะจ่ายหนี้ยังแทบชักหน้าไม่ถึงหลัง ดังนั้น จะนำเงินที่ไหนมาออม แต่หากมองจริง ๆ แล้วจะพบความจำเป็นในเรื่องของการสร้างวินัยทางการออมต้องเริ่มต้นแล้ว
“10 ปีที่ผ่านมา นักออมเงินเริ่มมีอายุมากแล้ว แต่อยากให้คนรุ่นใหม่เห็นโอกาสตรงนี้ ในเมื่อรัฐบาลยอมเสียงบประมาณเพื่อกระตุ้นออมเงินสำหรับใช้จ่ายระยะยาว ดังนั้น ควรสร้างวินัยการออมให้สม่ำเสมอ มีความต่อเนื่อง เพราะสุดท้าย เม็ดเงินจะสร้างผลตอบแทนที่ดี และเชื่อว่าจะมีความสุขในการใช้ชีวิตในอนาคต ทั้งนี้ ยืนยันว่า กองทุน SSF ตอบโจทย์และยืดหยุ่นมากกว่ากองทุน RMF สำหรับนักลงทุนหรือนักออมเงินที่เป็นคนรุ่นใหม่” ผอ.อาวุโส สายงานวิจัย บล.บัวหลวง กล่าว พร้อมกับมองว่า เศรษฐกิจไทยปีหน้า เรายังอยู่ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว แต่ไม่ถึงขั้นถดถอย
ด้าน นายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด กล่าวเปรียบเทียบให้เห็นระหว่างผู้มีรายได้ปานกลาง คือ 7 แสนบาท/ปี ต้องมีภาระภาษี 33,500 บาท/ปี หากซื้อ LTF (เดิม) ได้สูงสุด 105,000 บาท ภาระภาษีจะลดเหลือ 21,000 บาท เท่ากับประหยัดภาษีได้ 12,500 บาท ขณะที่การซื้อ SSF (ใหม่) ได้สูงสุด 200,000 บาท ภาระภาษีจะลดเหลือ 11,500 บาท เท่ากับประหยัดภาษีได้ 22,000 บาท
ส่วนผู้มีรายได้สูง คือ 3.5 ล้านบาท/ปี ต้องมีภาระภาษี 767,000 บาท หากซื้อ LTF (เดิม) ได้สูงสุด 500,000 บาท ภาระภาษีจะลดเหลือ 617,000 บาท ประหยัดภาษีได้ 150,000 บาท ขณะที่การซื้อ SSF (ใหม่) ได้สูงสุด 200,000 บาท ภาระภาษีจะลดเหลือ 707,000 บาท เท่ากับประหยัดภาษีได้ 60,000 บาท
ทั้งนี้ นายสุกิจ ตอบคำถาม ปีหน้า สินทรัพย์ไหนที่ยังน่าลงทุน? "ผมคิดว่า ต่อให้มี LTF หรือไม่มี LTF คนยังเลือกลงทุนในหุ้นอยู่ จะสังเกตว่า ปีนี้ผลตอบแทนพันธบัตรค่อนข้างสูงมาก เป็นปีที่สินทรัพย์ที่ใกล้เคียงกับตราสารหนี้ให้ผลตอบแทนสูง เพราะดอกเบี้ยในโลกนี้ต่ำมาก ไม่มีที่ไป ต้องหาผลตอบแทน และก็กลัวความเสี่ยง เลยทำให้สินทรัพย์ประเภทเสี่ยงต่ำ กลับให้ผลตอบแทนสูง ปีนี้เป็นปีของคนกลัว"
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการซื้อ กองทุน SSF และการปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการซื้อกองทุน RMF เป็นไปตามมติครม. 3 ธ.ค. 2562 โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1.ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการซื้อกองทุน SSF ซึ่งเป็นกองทุนเพื่อการออมระยะยาว ที่จัดตั้งขึ้นใหม่ โดยกำหนด ดังนี้
1.1 ให้บุคคลธรรมดาสามารถหักลดหย่อนภาษีเงินได้สำหรับเงินที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุน SSF ไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 200,000 บาท โดยเมื่อรวมกับกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ (กองทุน RMF กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน กองทุนการออมแห่งชาติ หรือเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญ) แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท ในแต่ละปีภาษี
1.2 กองทุน SSF ลงทุนในหลักทรัพย์ได้ทุกประเภท
1.3 ไม่กำหนดจำนวนขั้นต่ำในการซื้อหน่วยลงทุน และไม่กำหนดเงื่อนไขในการซื้อต่อเนื่อง
1.4 ผู้ซื้อกองทุน SSF สามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้เมื่อถือมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปีนับจากวันที่ซื้อ
1.5 เงินได้จากการขายคืนหน่วยลงทุน SSF จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หากปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด
ทั้งนี้ สามารถหักลดหย่อนค่าซื้อหน่วยลงทุนใน SSF ได้ 5 ปี (2563 - 2567) โดยกระทรวงการคลังจะประเมินผลของมาตรการเพื่อพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมต่อไป
2.ปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการซื้อกองทุน RMF ดังนี้
2.1 ปรับสัดส่วนการหักลดหย่อนภาษีสำหรับเงินที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุน RMF จากเดิมไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมิน เป็นไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินได้พึงประเมิน โดยยังคงกำหนดวงเงินหักลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อรวมกับกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ (กองทุน SSF กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน กองทุนการออมแห่งชาติ หรือเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญ) เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนออมได้มากขึ้น
2.2 ยกเลิกการกำหนดจำนวนขั้นต่ำในการซื้อกองทุน RMF (เดิมกำหนดให้ซื้อไม่น้อยกว่าร้อยละ 3 ของเงินได้พึงประเมิน หรือไม่น้อยกว่า 5,000 บาทต่อปี แล้วแต่จำนวนใดจะต่ำกว่า) เพื่อให้ผู้ที่มีรายได้ปานกลางถึงน้อยสามารถซื้อกองทุน RMF ได้ โดยยังคงกำหนดให้ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี และไม่ระงับการซื้อเกิน 1 ปีติดต่อกันเช่นเดิม .
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ:ครม.ไฟเขียวกองทุน SSF ลดหย่อนภาษีได้ 30%