นักวิชาการมหาวิทยาลัยในพื้นที่ปัญหาเฉียบพลัน
"...ทุกวันนี้ก็เริ่มพูดถึง human-centered organization แต่อาจารย์พนักงานไม่เคยได้รับสิทธิประโยชน์ทัดเทียมกับข้าราชการเลย ดังที่มีคนเปรียบเปรยว่า อาจารย์มหาวิทยาลัยขาดความมั่นคงในอาชีพและมีสิทธิประโยชน์น้อยกว่าคนกลุ่มอื่น ไม่ว่าจะเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ ที่ยังสามารถรวมตัวเป็นสหภาพแรงงาน แต่มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่มีเพียงสภาคณาจารณ์กลวงๆ ที่ไม่ได้มีอำนาจคะคานหรือเรียกร้องอะไรจากฝ่ายบริหารได้เลย จึงอยู่กับแบบเซื่องๆ หงอยเหงา ซึมเศร้ามานานหลายปี..."
มหาวิทยาลัยไทยไม่เคยอยู่ในคอมฟอร์ตโซน แต่อยู่ในพื้นที่ปัญหาเฉียบพลัน (Zone of Urgency) โดย บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ (คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ได้อ่านบทสัมภาษณ์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ก็พอสรุปได้ว่าท่านจะวางแนวทางดังนี้
ประเด็นแรก จะวางแนวทางให้สถาบันอุดมศึกษาไทยมีสามลู่ กลุ่มแรกเพื่อพัฒนาพื้นที่ อย่างเช่นมหาวิทยาลัยราชภัฏ กลุ่มที่สองเน้นด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม อย่างเช่นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าทั้ง 3 แห่ง (รวมมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล และอาจพ่วงอาชีวะไปด้วย) และกลุ่มสุดท้ายเน้นให้สามารถไปสู่ระดับโลก ซึ่งหากเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำก็จะสามารถดึงเด็กเก่งไว้ได้ (ส่วนด้านวิจัยขอไม่แตะ เพราะเป็นปัญหาใหญ่และบทความจะยาวไป)
ประเด็นที่สอง ที่สะเทือนความรู้สึกอาจารย์มหาวิทยาลัยจำนวนมากก็คือที่ท่านบอกว่าการเรียนรู้ในห้องเรียนโดยอาจารย์ไม่เวิร์กแล้ว อาจารย์ไล่พวกเด็กๆ นี้ไม่ทัน ดังนั้นมหาวิทยาลัยต้องปรับตัวเองให้ฝึกทักษะคน อาจารย์มหาวิทยาลัยอยู่ในภาวะคอมฟอร์ตโซน (comfort zone) เพราะมหาวิทยาลัยรัฐปิดไม่ได้ อาจารย์เหมือนอยู่ในตลาดที่ไม่แข่งขัน ดังนั้นก็จะมีแนวทาง ควบรวมหลักสูตรก่อน เพราะควบรวมมหาวิทยาลัยเป็นเรื่องยาก เพื่อให้เด็กเรียนข้ามได้ และใช้ทรัพยากรน้อยลง
ขณะเดียวกัน ท่านก็อยากให้มหาวิทยาลัยเปิดหลักสูตร non-degree, Reskill, up skill และท่านบอกว่าจะใช้พลังทุกภาคส่วน โดย “จตุภาคี” คือมีพลังองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัย 2.ภาคเอกชน 3.ภาคชุมชน 4.มีเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศ 4 พลังนี้เพียงพอแล้วที่จะขับเคลื่อนเรื่องใหญ่ๆ ได้ (ข่าวสด, ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์‘อาจารย์มหาวิทยาลัยอยู่ในภาวะคอมฟอร์ตโซน’ : สัมภาษณ์พิเศษ,https://www.khaosod.co.th/lifestyle/news_3126602)
ในฐานะที่พอจะผ่านงานบริหารชั้นต้นและเห็นโลกภายนอกมาบ้าง ผมเห็นว่าข้อคิดท่านมีส่วนถูก แต่ก็ยังวนเวียนอยู่กับความเชื่อและอคติบางประการที่อยู่ในหมู่คนนอกมหาวิทยาลัย ในที่นี้ ผมคงไม่ไปแตะระบบวิจัย เพราะคงจะต้องคุยกันอีกเยอะ แต่ผมมีประเด็นสำคัญที่อยากจะแลกเปลี่ยนในเบื้องต้น ดังนี้
ประการแรก เรื่องการแบ่งกลุ่มตามภารกิจก็คุยกันมาหลายปี แต่ไม่มีใครกล้าทำให้เป็นรูปธรรม ผลก็คือ มหาวิทยาลัยเปิดหลักสูตรแข่งกัน และเกิดปัญหาประเภทจ่ายครบ จบแน่ หลักสูตรประเภท scavenger ที่บินโฉบไปตามจังหวัดต่างๆ จนกระทั่งหมดคนเรียนและปิดตัว เลิกจ้างอาจารย์สัญญาจ้างชั่วคราวลงในที่สุด
มหาวิทยาลัยจำนวนมาก เคยมีจุดเด่น โดยเฉพาะกลุ่มราชภัฏที่ทำหน้าที่ฝึกวิชาชีพและครู ส่วนกลุ่มที่สร้างความเป็นเลิศ ก็ต้องเติมเงินให้ ไม่ใช่เอาแต่กดดันให้ทำงานตามเป้าโดยไม่มีเม็ดเงิน
นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยที่เน้นการขยายโอกาสในรูปมหาวิทยาลัยเปิดสองแห่งก็พึงได้รับการพิจารณาปรับภารกิจ แนวทางการบริหารและปรับงบประมาณเสียใหม่ เพราะเป็นมหาวิทยาลัยที่รับเงินภาษีอากรในสัดส่วนที่สูง
และยังต้องกล่าวอีกด้วยว่า ปัญหาที่ค้างคาในระบบมหาวิทยาลัยไทยมานานก็คือการตั้งผู้บริหารอายุเกิน 60 ปีในหลายสถานศึกษาและไม่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ด้านหนึ่งก็อ้างว่าคำพิพากษาศาลปกครองไม่ใช่บรรทัดฐาน ต้องดูเป็นรายกรณี แต่ก็ละเลยเจตนารมณ์ของการห้ามคนอายุเกิน 60ให้เป็นผู้บริหาร ในหลายมหาวิทยาลัยจึงเกิดความค้างคา เดินหน้าสร้างความเปลี่ยนแปลงใดๆ ไม่ได้เลย เกิดความขัดแย้งภายในอย่างที่ไม่เคยเกิดมาก่อนปรากฏเป็นรูปธรรม ท่านรัฐมนตรีและผู้บริหารการศึกษาไทยเองก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหานี้ว่าธรรมาภิบาลของมหาวิทยาลัยตกต่ำอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ยังไม่รวมคดีร้องเรียนที่ค้างคาใน ป.ป.ช. ศาลปกครอง เป็นต้น
ปัญหาในข้อนี้ แค่แตะก็ยุ่งเป็นลิงแก้แหแล้ว
การปลดล็อกเงื่อนไขการบริหารงาน ตลอดจนควบรวมมหาวิทยาลัยจึงเป็นเรื่องใหญ่ แต่ก็ต้องทำ ซึ่งถึงที่สุดก็ยุบมหาวิทยาลัยไม่ได้ ถ้าไม่มีแรงสนับสนุนจากสังคม โดยเฉพาะจากชุมชนวิชาการที่มีปัญหาภายในค้างคาอยู่มาก
ประการที่สองเรื่องเด็กเก่งไปเรียนนอก อันนี้เป็นธรรมชาติอยู่แล้ว เมื่อเด็กรุ่นใหม่มีสมรรถนะสูง มหาวิทยาลัยใหญ่ของไทยก็ไม่ใช่แม่เหล็กดึงดูดทำตัวเป็นเสือนอนกินได้อีกต่อไป ไม่นับว่ามหาวิทยาลัยใหญ่หลายแห่งที่เคยรับปริญญากันปีละหลายๆ วันก็ผลิตบัณฑิตได้น้อยลงลงอย่างน่าใจหาย
เด็กเก่งสมัยนี้เป็นเด็ก bi-lingualและผู้ปกครองจำนวนมากยังสามารถส่งลูกไปเรียนมัธยมต่างประเทศ ซึ่งทำให้เด็กหูตากว้างไกลและสามารถวางแผนเข้าเรียนระดับ ivy league หรือระดับรองๆ ลงมา เพราะมหาวิทยาลัยเหล่านี้มีทุนการศึกษาเต็ม แถมค่าใช้จ่ายอื่นๆ ซึ่งสร้างแรงจูงใจได้มากกว่าอยู่แล้ว มหาวิทยาลัยไทยจะดึงดูดเด็กกลุ่มนี้ได้น้อยลงทุกที
ระบบนักเรียนทุนรัฐบาลก็คงจะต้องพิจารณา เพราะไม่ใช่เงื่อนไขที่แข่งขันและดึงดูด เนื่องจากระบบทุนรัฐบาลคือสัญญาจ้างงานแบบผูกพันล่วงหน้า ซึ่งคนที่มีทางเลือกจะไม่รับเด็ดขาด
ขณะที่เด็กที่มีขีดจำกัด หรือมุ่งมั่นจะเรียนในประเทศ ก็จะผ่านระบบการคัดเลือกซึ่งยังไม่ลงตัว ปรับแก้กันมาหลายปี เด็กจำนวนไม่น้อยหล่นหายไปในความไม่แน่นอนนี้
แน่นอนว่าการยกระดับมหาวิทยาลัยไทยให้ได้อยู่ในระดับโลก ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ดึงเด็กสมรรถนะสูงให้อยู่ได้ แต่ก็ต้องไม่ลืมเหมือนกันว่าเด็กเหล่านี้ก็จะเหลือเครือข่ายภายในประเทศเท่านั้น ขณะที่เด็กที่เรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกจะได้เครือข่าย ทุนการศึกษาและโอกาสอื่นๆ ต่างไป เช่น การเรียนในจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ก็เป็นทางเลือกหนึ่ง นอกเหนือจากการไปเรียนในสหรัฐ หรือสหราชอาณาจักร ไม่นับรวมถึงสถานศึกษาในยุโรปจำนวนมากที่ให้ทุนการศึกษาดึงดูดนักเรียนที่สมรรถนะสูงตั้งแต่ปริญญาตรี จนถึงโท เอก
ที่ท่านควรพิจารณาก็คือ จะทำอย่างไรให้เด็กเหล่านี้งอกงามและกลับมาทำงานในประเทศนั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
แต่อีกเรื่องหนึ่งก็คือมหาวิทยาลัยไทยไม่ใช่แม่เหล็กหนึ่งเดียวที่ดึงเด็กสมรรถนะสูงได้อีกแล้ว
เมื่อเป็นเช่นนี้ สิ่งที่รัฐบาลควรทำก็คือการวางรากฐานในการสร้างงาน สร้างระบบทรัพยากรมนุษย์และสวัสดิการอื่นๆ ที่รองรับ ตลอดจนดึงดูดคนสมรรถนะสูงให้กลับมา
ประการที่สาม กรณี comfort zoneผมยอมรับและเข้าใจว่าอาจารย์จำนวนหนึ่งไม่ปรับตัว ตามไม่ทันความเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าท่านได้ลงมาดูภารกิจที่อาจารย์แต่ละคนจะต้องทำ ทั้งงานเอกสาร งานสอน งานบริการวิชาการ งานวัฒนธรรมประเพณี รวมทั้งคุณธรรม ยังรวมถึงงานเอกสารจำนวนมากอีกด้วย
ถ้าประเทศไทยติดกับดักรายได้ปานกลาง มหาวิทยาลัยไทยก็ติดกับดักในการสร้างเอกสารประเภทกระดาษ ไม่ว่าจะเป็น มคอ. และอื่นๆ รวมทั้งระบบการขอตำแหน่งทางวิชาการที่ไม่สะท้อนความจริงในโลกวิชาการ เช่น การเขียนงานวิจัยและการตีพิมพ์ผลงานวิจัย ที่การตีความความถูกต้องของเอกสารตกอยู่ในมือเจ้าหน้าที่และผู้ทรงคุณวุฒิไม่กี่คน การตีพิมพ์บทความวิจัยก็จะถูกถามหา “ยานแม่” หรือ “งานวิจัยต้นฉบับ” หากไม่ผ่านตามระยะเวลาก็จะถูกพิจารณาไม่ต่อสัญญา (เรื่องนี้ก็น่าแปลก ที่บางสถาบันก็ปล่อยให้ผู้บริหารที่ไม่ทำตำแหน่งทางวิชาการใดๆ มาเร่งรัดให้อาจารย์ใหม่ๆ ทำตำแหน่งทางวิชาการ แต่พอทำแล้วก็ถ่วงเวลาละเลย ไม่ติดตาม จนอาจารย์บางท่านเกษียณอายุไปก่อนก็มี)
ในด้านการเรียนการสอน เฉพาะในส่วนที่ผมรับผิดชอบคือวิชาการเมืองไทย ผมต้องเตรียมและอ่านงานวิชาการใหม่ๆ ที่หลั่งไหลออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่มีเพดานในการพูดและอธิบายอยู่ไม่มากก็น้อย แตกต่างไปแต่ละมหาวิทยาลัยและสาขาวิชา
แต่ขอยืนยันว่า อาจารย์ไม่เคยอยู่ในสิ่งที่เรียกว่า “คอมฟอร์ตโซน” เลย
ผมได้ยินเรื่องเล่าจากรุ่นน้องว่า อาจารย์พนักงานมหาวิทยาลัยคนแรกที่เพิ่งเกษียณอายุไป ได้เงินก้อนสุดท้ายจากมหาวิทยาลัยเพียงสองแสน ไม่มีบำนาญ ไม่มีสิทธิประโยชน์อื่นใด นอกจากบัตรทอง ยิ่งหดหู่ใจมาก ว่าผู้บริหารการศึกษาไทยมุ่งเน้นการเปลี่ยนแปลงในเชิงสถาบัน โดยละเลยคน
จึงมีหลายคนบ่นว่าครูมัธยมได้เงินมากกว่าอาจารย์มหาวิทยาลัย (ป.ล. มีมหาวิทยาลัยบางแห่งจัดระบบไตรภาค อาจารย์แทบจะไม่ได้พัก หรือไปสัมมนาวิชาการ ประชุมวิชาการด้วยซ้ำ แล้วจะเอาเวลาที่ไหนมาพัฒนาตัวเอง)
ไม่นับการที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยปล่อยให้ทหารเข้าไปละเมิดกิจกรรมทางวิชาการในมหาวิทยาลัย แจ้งความทั้งอาจารย์และนักศึกษาหลายคนในรอบหลายปีที่ผ่านมา
อาจารย์มหาวิทยาลัยไทยไม่เคยอยู่ในคอมฟอร์ตโซนเลย!
ประการสุดท้าย เรื่องการ disrupt ตัวเอง อาจารย์บางท่านมีสัญญาจ้างงานถาวร หรือกระทั่งชั่วนิรันดร์ในสถานศึกษาบางแห่ง จึงไม่ต้องทำอะไร ไม่เคยทำ มคอ. ไม่เคยทำงานเอกสาร ไม่เคยทำผลงานวิจัย แต่มีอำนาจบริหารล้นฟ้า
ท่านรัฐมนตรีควรจะไปดูคนกลุ่มนี้ คนกลุ่มนี้คือคนที่อยู่ในคอมฟอร์ตโซนโดยแท้ พวกเขารับเงินเดือนหลายทาง รับตำแหน่งหลายเก้าอี้จนแทบไม่มีเวลาทำงานให้มหาวิทยาลัยต้นสังกัด ซึ่งควร ปลด โอนย้ายไปได้แล้ว
ในการ disrupt ตัวเองเพราะคนจะเรียนน้อยลง อันนี้เป็นเรื่องธรรมดา ผมเองพูดบ่อยๆ ว่าอีกหน่อยเด็กปริญญาตรีจะต้องเรียน on-line ในวิชาพื้นฐาน จนกว่าจะเก็บได้ครบแล้วจึงค่อยมาเรียนสัมมนาในปีสองหรือปีสาม ไม่นับว่าเพื่อนๆ อาจารย์จำนวนมากเริ่มรับทุนวิจัย ทำวิจัยร่วมกับนักวิจัยต่างประเทศมาบ้างแล้ว
แต่อุปสรรคก็ยังคงเป็นเรื่องกรอบเวลา กรอบงบประมาณ และระเบียบ ขั้นตอนของแต่ละมหาวิทยาลัย
การสร้างหลักสูตร non-degree, re-skill, up-skill ก็เป็นเรื่องที่ควรทำ ถ้าหากมหาวิทยาลัยไทยใจกล้าพอและพร้อมพอที่จะบอกว่า ต่อไปนี้ให้เรียนระบบ MOOC (Massive Open Online Course) ให้ครบตามเกณฑ์แล้วมาเรียนสองปีสุดท้าย แต่นั่นก็คงใช้เวลาอีกนาน
มหาวิทยาลัยในสิงคโปร์เคยใช้ระบบเตรียมคนโดยการทำข้อตกลงร่วมกับ MIT และให้อาจารย์ของตัวเองไปทำวิจัยอยู่ MIT เพื่อรับทอดระบบคิด การเรียนการสอน ระยะหนึ่งแล้วค่อยกลับมาสิงคโปร์
มหาวิทยาลัยไทยมีความพร้อมระดับนั้นหรือไม่?
ไม่นับว่าในเกมส์การแข่งขันเรื่อง Ranking ทำให้มหาวิทยาลัยกดดันให้อาจารย์ต้องตีพิมพ์บทความในวารสารวิชาการะดับนำ แต่ก็ต้องคิดด้วยว่า ใครจะวางรากฐานการศึกษาถ้ามหาวิทยาลัยไม่ส่งเสริมการเขียนตำราพื้นฐานเป็นภาษาไทย?
หลายปีก่อน ญาติสนิทผม (ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัยด้านเทคโนโลยีแห่งหนึ่ง) เล่าให้ฟังว่า ตอนที่ญี่ปุ่นสร้างชาติ นักวิชาการญี่ปุ่นสร้างระบบการแปลภาษาชั้นยอดและส่งเสริมให้มีการแปลตำราในสาขาต่างๆ เป็นภาษาญี่ปุ่น ปรากฏการณ์นี้ชัดเจนและเห็นได้ในจีน เกาหลี และอื่นๆ
การแปลเป็นภาษาถิ่น ทำให้บรรดาชนชั้นนำไม่สามารถ “ผูกขาดความรู้” ผ่านสมรรถนะทางภาษาที่เหนือกว่าสามัญชนได้อีกต่อไป ที่สำคัญ ตำราพื้นฐานเหล่านั้นได้วางรากฐานการศึกษาชั้นสูงให้เข้มแข็งได้ โดยไม่ต้องเริ่มนับศูนย์หรือหนึ่งใหม่
จะว่าไป ใครมาเป็นผู้บริหารก็ต้องเผชิญกับภาวะที่ผมเรียกตาม Hou Han Ru ภัณฑารักษ์คนหนึ่งที่อธิบายว่า ประเทศในเอเชียต่างก็ตกอยู่ในพื้นที่ปัญหาเฉียบพลัน (Zone of Urgency) คือขณะที่เรากำลังแก้ปัญหาหนึ่ง ปัญหาที่มีอยู่ก็ตามติดมาทันทีและก่อประเด็นให้แก้ โดยที่ยังไม่ทันแก้ปัญหาที่เพิ่งเริ่มแตะไปด้วยซ้ำ
นักวิชาการในมหาวิทยาลัยไทยไม่เคยอยู่ในคอมฟอร์ตโซน แต่อยู่ในพื้นที่ปัญหาเฉียบพลัน (Zone of Urgency)
ผศ.ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
หมายเหตุ : ภาพประกอบจากผู้จัดการออนไลน์