ส.ส.ม้ง อนาคตใหม่ รับข้อร้องเรียนชาวบ้าน จ.ตาก ลั่นถึงเวลาสังคายนาปัญหาที่ดิน
ณัฐพล สืบศักดิ์วงศ์ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ รับข้อร้องเรียนชาวบ้าน อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ระบุชัด ปัญหาแบบนี้ มีอยู่แทบทุกภาค ชูปัญหาที่ดินเป็นวาระแห่งชาติ เชื่อถึงจะแก้ปัญหาทุกเรื่องที่มีได้ทั้งหมด
วันที่ 7 ธันวาคม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ (มพน.), มูลนิธิชุมชนไท, กลุ่มจับตาปัญหาที่ดิน Land Watch Thai และคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) จัดเวทีเสวนาเรื่อง “จากปารีณา 1,700 ถึงกรณีปัญหาที่ดินป่าไม้ของคนจน รัฐบาลประยุทธ์ มีกี่มาตรฐาน” ณ ห้อง 103 ตึก 1 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายในงาน นายณัฐพล สืบศักดิ์วงศ์ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ซึ่งเป็นส.ส.ม้งคนแรกของไทย เดินทางมารับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้านด้วยตัวเอง เพื่อนำเข้าคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร
นายสุริยันต์ ทองหนูเอียด ผู้จัดการมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ กล่าวถึงปัญหาชาวบ้าน บ้านขุนเหว่ย (แม่ปอคี) หมู่ 5 ต.ท่าสองยาง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ซึ่งเป็นหมู่บ้านชาติพันธุ์กระเหรี่ยง ชุมชนดั่งเดิม ตั้งมากว่า 150 ปี พร้อมประกาศพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษ ตามมติครม. 3 สิงหาคม 2553 ว่าด้วยการฟื้นฟูวิถีชีวิตกะเหรี่ยง แต่ปัจจุบันเผชิญปัญหานโยบายการอนุรักษ์ การจัดการทรัพยากรที่ไม่มีความสอดคล้องกับอัตลักษณ์ นิเวศวัฒนธรรมของชุมชน รวมทั้งมีการเตรียมประกาศอุทยานแห่งชาติแม่เงา ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรม และวิถีชีวิตของคนในชุมชนทั้งทางตรงและทางอ้อม
สำหรับข้อเสนอและข้อเรียกร้องเพื่อการฟื้นฟูวิถีชีวิตชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงชุมชนบ้านขุนแม่เหว่ย(แม่ปอคี) มีดังนี้ 1.ขอความร่วมมืออุทยานแห่งชาติแม่เงา กันพื้นที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย พื้นที่ทางจิตวิญญาณ พื้นที่ประกอบพิธีกรรม ความเชื่อ ป่าศักดิ์สิทธิ์ ป่าอนุรักษ์ ออกจากเขตพื้นที่เตรียมประกาศเขตอุทยานแห่งชาติแม่เงา 2.ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับรองสิทธิ และสนับสนุนชุมชนบ้านขุนเหว่ย เป็นเขตพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษ โดยเฉพาะไร่หมุนเวียน ที่ขึ้นทะเบียนป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมชาติ ให้ชุมชนสามารถสืบทอดทำกินในรอบหมุนเวียนอย่างน้อย 5 ปี 3.ให้มีการแบ่งขอบเขตพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ โดยใช้ฐานข้อมูลวิจัยของวิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) 4.ส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่มีฐานจากวัฒนธรรมและทรัพยากรจากชุมชน เช่น บุก ไผ่ พริก และอื่นๆ ให้ออกมาจำหน่ายและแปรรูปได้ 5.การพัฒนาในพื้นที่ขอให้คำนึงถึงผลกระทบทางวัฒนธรรมของชุมชน และต้องมีการแจ้งล่วงหน้า ตลอดจนชุมชนมีสิทธิ์รับหรือปฏิเสธอย่างอิสระตามหลักการปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง
จากนั้น นายณัฐพล กล่าวถึงปัญหาที่ดินทำกินชนกลุ่มน้อยแบบนี้ มีอยู่แทบทุกภาคของประเทศไทย ถึงเวลาแล้วที่บ้านเราต้องนำปัญหาที่ดินเป็นวาระแห่งชาติ ถึงเวลาสังคายนา เชื่อจะแก้ปัญหาทุกเรื่องที่มีได้ทั้งหมด เพราะปัญหาที่ดิน เป็นปัญหาแรกของพี่น้องชาวไทย พี่น้องเกษตรกร กลุ่มชาติพันธุ์ เมื่อมีกฎหมายประกาศออกมา เขากลายเป็นคนผิดทันที ดังนั้น เป็นเรื่องน่าเศร้ากลุ่มพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ ที่อยู่ตามวิถีชีวิตมาเป็นร้อยปี วันหนึ่งกลายเป็นอยู่ในที่บุกรุกผิดกฎหมาย เรื่องนี้ฟังอย่างไรก็ฟังไม่ขึ้น
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/