ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล : ปตท.ได้กำไรจากการเป็นตัวกลางนำเข้าก๊าซเท่าไหร่?
"...ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา กฟผ. ซื้อก๊าซจาก ปตท. ราคาเฉลี่ย 270 บาท/ล้านbtu เมื่อแปลงเป็นราคาต่อตัน คูณด้วย 52 ล้านbtu/ตัน ราคาซื้อผ่าน ปตท. คือ 14,040 บาท/ตัน ผลประมูล 1.5 ล้านตัน(ซึ่ง ปตท. ก็ยื่นประมูลด้วย แต่ปรากฏว่าราคา ปตท. แพงกว่า) เปโตรนาสเสนอขาย 7.7 usd/ล้านbtu ซึ่งแปลงเป็นเงินบาทในอัตรา 30.30 บาท/usd ก็คือ 233 บาท/ล้านbtu ..."
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.2562 นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในสมัยน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว ชื่อว่า Thirachai Phuvanatnaranubala แสดงความเห็นต่อปตท.ได้กำไรจากการเป็นตัวกลางนำเข้าก๊าซเท่าไหร่? https://www.facebook.com/thirachai.phuvanatnaranubala/posts/2948403855193400?__tn__=K-R
.............
ในโพสต์ข้างล่าง ผมเขียนเกี่ยวกับ ครม. อนุมัติให้ กฟผ. นำเข้าก๊าซ LNG เอง ไม่ต้องผ่าน ปตท. 1.5 ล้านตัน
ซึ่งคณะกรรมการกำกับเรื่องพลังงานที่ รมว. พลังงานเป็นประธาน เคยท้าทาย ครม. โดยมีมติให้ กฟผ. ไปเจรจายกเลิก
ผมตั้งข้อสังเกตว่า คณะกรรมการฯ ไม่มีอำนาจสั่งในเรื่องการดำเนินธุรกิจ และคณะกรรมการฯ มีปลัดกระทรวงพลังงานซึ่งเป็นกรรมการ ปตท. อยู่ด้วย จึงมีประโยชน์ทับซ้อน
ก็ปรากฏว่า มีการโยกปลัดออกจากบอร์ด ปตท. ไปเป็นประธาน กฟผ. และปรากฏต่อมาว่า บอร์ด กฟผ. เกิดมีการลงมติยกเลิก 1.5 ล้านตันเอง เป็นอันว่า ไม่ต้องใช้มติคณะกรรมการฯ จากภายนอก
มีผู้อ่านตั้งคำถามว่า
“กฟผ. นำเข้าเองราคาถูกลงตันละกี่บาท และ 1.5 ล้านตัน คิดเป็นเงินกี่หมื่นล้านบาทครับ เผื่อชาวบ้านจะได้ตาสว่าง ว่าโดนโกงไปเท่าใด”
อันที่จริง ประหยัดมากประหยัดน้อย เป็นประเด็นรอง หลักการให้อิสระเชิงธุรกิจ ไม่ถูกผูกขาด เป็นประเด็นหลัก
และที่ผมเผยแพร่นี้ ก็มิได้เพื่อสนับสนุนข้อวิจารณ์ว่า ชาวบ้านโดนโกงหรือไม่ เพียงแต่ให้ข้อมูลทางวิชาการ
ข้อมูลที่ผมค้นหามาได้ และน่าเชื่อถือ พบว่า
ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา กฟผ. ซื้อก๊าซจาก ปตท. ราคาเฉลี่ย 270 บาท/ล้านbtu เมื่อแปลงเป็นราคาต่อตัน คูณด้วย 52 ล้านbtu/ตัน ราคาซื้อผ่าน ปตท. คือ 14,040 บาท/ตัน
ผลประมูล 1.5 ล้านตัน(ซึ่ง ปตท. ก็ยื่นประมูลด้วย แต่ปรากฏว่าราคา ปตท. แพงกว่า) เปโตรนาสเสนอขาย 7.7 usd/ล้านbtu ซึ่งแปลงเป็นเงินบาทในอัตรา 30.30 บาท/usd ก็คือ 233 บาท/ล้านbtu
แปลงเป็นราคาต่อตัน คูณด้วย 52 ล้านbtu/ตัน
ราคาปิโตรนาสคือ 12,132 บาท/ตัน
ดังนั้น กรณีซื้อจากเปโตรนาส โดยทำสัญญาระยะยาว จึงถูกกว่าซื้อจาก ปตท. 1,908 บาท/ตัน
สรุปแล้ว ถ้า กฟผ. นำเข้าเอง สำหรับปริมาณ 1.5 ล้านตัน เฉพาะในปริมาณนี้ กฟผ. จะประหยัด 2,862 ล้านบาท/ปี ซึ่งจะทำให้ กฟผ. สามารถลดค่าไฟฟ้าแก่ประชาชนได้
ถามว่า ถ้า กฟผ. นำเข้าเองทั้งหมด จะประหยัดเท่าไหร่?
ในแต่ละปี กฟผ. ใช้ก๊าซประมาณ 3.4 ล้านตัน ถ้า กฟผ. นำเข้าเองทั้งหมด 3.4 ล้านตัน กฟผ. จะประหยัด 6,487 ล้านบาท/ปี
ถ้าเป็นเวลาหลายปี ก็คูณจำนวนปีเข้าไปง่ายๆ เช่น ห้าปีก็ 32,435 ล้านบาท สิบปีก็ 64,870 ล้านบาท
แต่ตัวเลขประหยัด ในอนาคตน่าจะมากกว่านี้
เพราะตามข้อมูลที่ผมได้รับ ปรากฏว่า ปตท. ทำสัญญาซื้อก๊าซล่วงหน้าไว้ในราคาสูงกว่าปัจจุบัน อีกประมาณ 10% แถมล๊อกสัญญาไว้ 10-15 ปี ใช่หรือไม่?
(ทั้งนี้ กฟผ. เพิ่งประมูลซื้อในตลาดจร 2 แสนตัน ปรากฏว่าได้ราคาต่ำสุดจากปิโตรนาสอีกเช่นเดิม แต่ลดลงไปต่ำกว่านี้ เหลือเพียง 5.5 usd/ตัน หรือแปลงเป็นเงินบาท 8,665 บาท/ตันเท่านั้น
กรณีนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับราคาที่ซื้อจาก ปตท. 14,040 บาท/ตัน จะยิ่งถูกลงมาก โดยจะถูกกว่าราคา ปตท. ถึง 5,375 บาท/ตัน แต่ทั้งนี้ราคาตลาดจรมีขึ้นลง ไม่แน่นอน)
ถามว่า กฟผ. และโรงผลิตไฟฟ้าเอกชน(IPP)ทั้งประเทศ ใช้ก๊าซต่อปีปริมาณเท่าใด?
ตอบว่า ใช้ปริมาณ 8.4 ล้านตัน/ปี
ดังนั้น ถ้าหากสมมุติทุกโรงนำเข้าเอง ไม่ซื้อจาก ปตท. เมื่อเปรียบเทียบกับราคาระยะยาวของปิโตรนาส โรงผลิตไฟฟ้าทั้งหมดจะประหยัด 16,027 ล้านบาท/ปี
ถ้าตัวเลขที่ผมเสนอมาข้างต้นถูกต้อง อธิบายง่ายๆ ...
ถ้าเปิดเสรีเต็มที่ ให้ทุกคนนำเข้าก๊าซเองไม่ต้องผ่านคนกลางใดที่ผูกขาด ...
ประชาชนจะได้ประโยชน์จากค่าไฟฟ้าลดลง แต่ละปี เกิดได้สูงสุด 16,027 ล้านบาท ห้าปีก็ 8 หมื่นล้านบาท สิบปีก็ 1.6 แสนล้านบาท
ถามว่า ถ้าทำอย่างนี้ กำไร ปตท. จะลดลงเท่าไหร่?
ตอบว่า ถ้าหากสมมุติ ปตท. ไม่ปรับตัว หรือถ้าหากยอมลดราคาลงมาเท่ากันเพื่อแข่งขัน กำไรก็จะลดลงปีละ 16,027 ล้านบาท เป็นตัวเลขเท่ากัน
เพราะธุรกิจพลังงานในบางลักษณะ เป็น zero sum การที่ผู้ประกอบธุรกิจได้กำไรมากขึ้น ผู้บริโภคจะได้ประโยชน์น้อยลงอัตโนมัติ และเป็นจริงในทางกลับกันด้วย
กรณีนี้ ถ้ายังไม่คำนึงถึงปัจจัยอื่น ...
กระทรวงคลังก็จะเสียกำไรไป ในฐานะผู้ถือหุ้น 51% คือ 8,173 ล้านบาท/ปี
ผู้ถือหุ้นเอกชนและนักลงทุนต่างชาติจะเสียกำไรไป 49% คือ 7,854 ล้านบาท และราคาหุ้นจะลดลงเล็กน้อย
แต่เมื่อเปรียบเทียบกับประชาชนได้รับประโยชน์จากค่าไฟฟ้าต่ำลง นับว่าคุ้มมาก
นอกจากนี้ เมื่อคำนึงว่า ปตท. ได้กำไรต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายปี ก็คงต้องถึงเวลาจะปรับตัวเรียนรู้การแข่งขันในตลาดสากลมากขึ้น
รัฐมนตรีพลังงานและข้าราชการก็คงได้รับรู้ตัวเลขทำนองนี้อยู่แล้ว จึงขึ้นกับว่า
1. ท่านจะเอาประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก หรือเอาประโยชน์ของตลาดหุ้นเป็นหลัก
2. ท่านจะอธิบายให้ท่านนายกฯ รับทราบและพิจารณาทางเลือก หรือไม่ อย่างไร
3. ท่านจะให้ปลัดพลังงาน และบอร์ด กฟผ. อธิบายต่อพนักงาน และประชาชน อย่างไร
วันที่ 6 ธันวาคม 2562
ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล
Facebook Thirachai Phuvanatnaranubala
หมายเหตุ: การกล่าวถึงชื่อบุคคลใดมิใช่เป็นการกล่าวหากระทำความผิด แต่เป็นเพื่อประกอบการบรรยายทางวิชาการเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการในการรักษาประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/