ครูดีที่จากไป: อเล็กซานเดอร์ วี โอ แมทธิว ปิดตำนานอัสสัมชัญลำปาง
"...คนดีนั้นจากเราไปก็แต่กาย แต่สิ่งที่จะคงอยู่ต่อไป ตลอดไป ก็คือความดีที่สร้างไว้ ในกรณีนี้ ก็คือ อุดมคติของความเป็นครูบาอาจารย์ และ ต้นแบบแห่งความเป็นผู้นำ สิ่งเหล่านี้ย่อมจะไม่สูญหายไปแน่นอน และตำนานที่กล่าวในตอนต้นว่า “ปิดเล่ม” ไปแล้วนั้น ย่อมพลิกออกมาอ่านได้ใหม่เสมอ นำเอามาเป็นบทเรียนได้ เสมอ..."
ความคิดและปัญญาของผมนั้นโตมาจาก "แก้ว" สามดวง เว้นจากพ่อแม่แล้ว แก้วดวงที่หนึ่งก็คือ หนังสือครับ อ่านมันมาแทบหมดห้องสมุด ตั้งแต่วัยประถม เช่น สามก๊ก ผู้ชนะสิบทิศ ไทยรบพม่า เป็นต้น แก้วดวงที่สอง ก็ คือ เพื่อนมิตรแต่วัยเยาว์จวบจนชั้นมหาวิทยาลัย เราท่องเที่ยวกัน ถกเถียง อ่านหนังสือด้วยกัน เคลื่อนไหวด้วยกัน ผมได้อะไรมาจากเพื่อนเยอะทีเดียว และ แก้วดวงที่สาม ครูที่เป็น ไอดอล หรือ “ครูแก้ว” ซึ่งในสามดวงนี้ น่าจะเป็นดวงที่วิเศษสุด
มีอาจารย์ทางการศึกษาเคยเล่าว่า ถ้าถามคนวัยสามสิบในปัจจุบัน ว่า จำครู “ไอดอล” สมัยประถมถึงมัธยมได้กี่คน ? คำตอบคือ คนส่วนใหญ่จะไม่มีครูเป็นไอดอล และที่หมายได้ว่ามีครูใดเป็นไอดอลได้ ก็มักจะไม่เกิน 2-3 ท่าน แต่เมื่อกว่าห้าสิบปีมาแล้ว ที่ผมเรียนอยู่ที่อัสสัมชัญลำปาง ในชั้น ป 2- มศ 3 นั้น มีครูเป็นไอดอล นับเกิน 10 ท่าน แน่นอน ที่เป็นสุดยอดเลย เห็นจะมีอยู่สามท่าน ล้วนแต่เป็นครูและอธิการด้วย ท่านหนึ่งนั้น ไม่มีโอกาสเขียนรำลึกถึง เมื่อท่านถึงแก่กรรม อธิการอิลเดฟองโซ ชาวสเปน ท่านที่สอง คือ อธิการฟิลิป หรือ ภราดาอำนวย ปิ่นรัตน์ ซึ่งจากไปเมื่อสองปีที่แล้ว และท่านสุดท้าย ก็คืออธิการอเล็กซานเดอร์ จากรัฐเคราลา ของอินเดีย
ถ้าเปรียบสามท่านนี้เป็นธงใหญ่สามผืนของอัสสัมชัญลำปางในยุคแรกเริ่ม ณ บัดนี้ ธงผืนสุดท้ายได้ลดลงมาจากยอดเสาเสียแล้ว ความโศรกสลดพลันปกคลุมไปทั่วโรงเรียน ภราดา ครูบาอาจารย์และนักเรียนเก่าหลายพันคนสะอื้นไห้ หลั่งน้ำตา คิดถึงบุญคุณของบราเดอร์อเล็กซานเดอร์ กล่าวได้ว่าตำนานเล่มใหญ่ที่เล่าสืบกันมาว่า อันโรงเรียนชั้นเลิศนั้น จักสร้างมาได้ ก็ ด้วยสุดยอดผู้นำ ผู้เสียสละความสุขความสบายส่วนตนเท่านั้น ผู้เดินทางมาจากบ้านอันไกลโพ้น มาสอนสั่ง มานำพา มาทำงาน อยู่ในพรหมจรรย์ เต็มไปด้วยความเข้มงวด มีความเป็นแบบอย่าง และ มีความล้ำเลิศในทางวิชาการนั้น เวลานี้ พลิกอ่านกันมาถึงหน้าสุดท้ายเสียแล้ว และจะปิดเล่มลง เพียงเท่านั้น
จากนี้ร่างที่ไร้วิญญาณของบราเดอร์ที่เรารักและเคารพยิ่ง ผู้ออกจากบ้านเกิด มาอยู่กับเราหกสิบปี จะถูกฝังลงไปในผืนดินของไทย แผ่นดินที่ท่านรักและอุทิศชีวิตเพื่ออบรมกุลบุตรกุลธิดาให้
ผมพบบราเดอร์อเล็กซานเดอร์ครั้งแรก ตอนอยู่ ป 2-3 ท่านจัดเป็นหนึ่งใน “บราเดอร์แขก” ที่ดุ เข้มงวด แต่รักเด็ก สอนพวกเราเรื่องวินัย ความสะอาด ความเรียบร้อยอยู่เสมอ ท่านเดินบ้าง ชี่จักรยานบ้าง ช่วย อธิการฟิลิปตรวจตราโรงเรียน ดูแลนักเรียน โดยเฉพาะช่วงเล่นอยู่นอกห้องเรียน ท่านคุยกับพวกเราเป็นภาษาไทยครับ แม้ท่านจะเป็นครูภาษาอังกฤษเด็กชั้นโตๆ รุ่นพี่ทั้งหลายจะพากันร่ำว่าท่านสอนดีมาก
มาพบท่านครั้งที่สอง หลังจากท่านย้ายไปสอนที่อื่นมานานพอควร พบพร้อมพี่ชายคนโต พี่จำรัส ซึ่งอายุแก่กว่าผม 13 ปี ตอนนั้นผมอยู่ชั้น มศ 1 ส่วนพี่จำรัสนั้นเพิ่งกลับจากการทำปริญญาโททางเศรษฐศาสตร์ที่สหรัฐ ผมมากับคุณแม่มารับพี่ที่เพิ่งกลับจากนอก และเดินทางต่อมาเยี่ยมบ้านที่ลำปาง จำแม่นว่าพี่จำรัสเข้าไปจับมือทักทาย พร้อมกับคุยกับครูเก่าอย่างอบอุ่น เป็นภาษาอังกฤษ ซึ่ง ผมก็ได้ยินครูผู้ยิ่งใหญ่ผู้นี้พูดอังกฤษเป็นครั้งแรกที่นี่เอง สำนวนและสำเนียงของท่าน ฟังแล้วไพเราะยิ่ง
พี่จำรัสเป็นลูกศิษย์บราเดอร์อเล็กซานเดอร์ที่ รร มงฟอร์ต เชียงใหม่ แกสรรเสริญบราเดอร์ท่านนี้ให้ฟังมากมาย ท่านทั้งดุ ทั้งเฮี๊ยบ ทั้งเอาจริง ทั้งเร่งรัด ทั้งกวดขัน นักเรียนแทบไม่มีทางพลัดหลงไปสู่ความเหลวไหลไร้มาตรฐานได้ รร มงฟอร์ต นั้น มีภาษาอังกฤษเป็นเลิศได้ ส่วนหนึ่งก็เพราะท่านเอาจริง และกวดขัน พี่จำรัสนั้นออกจากมงฟอร์ตก็สอบเข้าเรียนต่อ ที่ รร เตรียมอุดม ได้เรียนที่นั่นอีกเพียงปีเดียวก็เข้าเรียนที่เศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ในยุคที่ ศ. สมทบ สุวรรณสิทธิ์ เป็นคณบดี
มาได้ยินเรื่องบราเดอร์อเล็กซานเดอร์อีกครั้งหนึ่ง เมื่อผมจบชั้น ม ต้น จากโรงเรียน จากปีนั้น ท่านก็ถูกย้ายกลับมาเป็นอธิการที่ลำปาง โรงเรียนเราซึ่งก้าวหน้ามาเรื่อยๆ ก็พลันก้าวกระโดดครั้งใหญ่ ท่านไม่เพียงแต่สอนเก่ง ยังบริหารเก่งมาก สอนทั้งภาษา สอนทั้งคณิตศาสตร์ ซึ่งมักใช้ตำราเป็นภาษาอังกฤษเสียด้วย จึงในสมัยที่ท่านเป็นอธิการนั้น โรงเรียนขึ้นถึงจุดสูงสุดทั้งด้านการเรียนสอน กีฬา ดนตรี ศิลปะ นักเรียนจากภาคเหนือหลั่งไหลมาเช้าเรียนที่นี่ นักเรียนชั้น มศ 3 ของเราสอบได้เป็นที่หนึ่งของจังหวัดเกือบทุกปี จบที่อัสสัมชัญลำปางแล้วยกไปสอบเข้าเตรียมอุดม เตรียมทหาร ได้เป็นจำนวนมากมาย และเข้าโรงเรียนและวิทยาลัยดีๆ อื่นๆ ได้อีก
ในภาคเหนือขณะนั้นดูเหมือนจะมีสองโรงเรียนในดวงใจของพ่อแม่และเด็กๆ คือ อัสสัมชัญลำปางและมงฟอร์ตวิทยาลัย รุ่นน้องหลังผม 5-6 ปี จดจำบราเดอร์อเล็กซานเดอร์ไว้ในดวงใจเสมอ เป็น “ผู้นำ” ที่ยิ่งใหญ่ ที่เคลื่อนขับโรงเรียนไปสู่ความเป็นเลิศทั้งในระดับภาคและระดับประเทศได้อย่างรวดเร็ว
มาพบบราเดอร์อีกครั้งก็เมื่อท่านเริ่มเป็น”อมตะ” ไปแล้ว ท่านชรามากแล้ว อายุจวนจะแปดสิบ ไม่ทำงานแล้ว มาเป็นเกียรติที่โรงเรียนฉลองอายุครบห้าสิบปี ปีนั้นผมได้เป็นศิษย์เก่าดีเด่น พร้อมอีกหลายๆ ท่าน มี พล อ สะพรั่ง กัลยาณมิตร เป็นต้น ผมได้คุยกับท่านเป็นภาษาอังกฤษ แบบที่พี่ชายเคยคุยด้วย และอดคิดไม่ได้ว่า ภาษาอังกฤษที่ตนเองสอน และเขียน อยู่ในแวดวงนานาชาตินั้น มีจุดกำเนิดมาจาก รร อัสสัมชัญ ลำปาง นี่เอง จากการสอนสั่งของครูอาจารย์ตั้งแต่ชั้นประถมถึงมัธยมต้น บราเดอร์ครับ มัสเซอร์ ครับ ผมได้อะไรจากพวกท่านมาเยอะเลย และบรรดาครูบาอาจารย์ทั้งหลายนี้ ในเวลานั้น ย่อมมีบราเดอร์อเล็กซานเดอร์ โบกธง นำหน้าอยู่
จากนั้นมาก็ได้พบท่านอีก เป็นครั้งเป็นคราว ส่วนใหญ่ก็ที่ รร. อัสสัมชัญลำปาง สุขภาพท่านยังดียังแข็งแรง มาจนถึงงานฉลองโรงเรียนครบรอบ หกสิบปี เมื่อเกือบสองปีมาแล้ว นั่นแหละที่สุขภาพท่านเริ่มมีปัญหา ท่านตั้งใจจะมางานนั้น แต่ที่สุดก็ต้องล้มเลิกการเดินทางจากกรุงเทพฯ เพราะสุขภาพไม่อำนวยเสียแล้ว ก็ ในงานนั้นเอง บราเดอร์ฟิลิป อธิการคนแรก ก็มาไม่ได้เช่นกัน ท่านถึงแก่กรรมก่อนวันงานเพียงไม่กี่เดือน
คนดีนั้นจากเราไปก็แต่กาย แต่สิ่งที่จะคงอยู่ต่อไป ตลอดไป ก็คือความดีที่สร้างไว้ ในกรณีนี้ ก็ คือ อุดมคติของความเป็นครูบาอาจารย์ และ ต้นแบบแห่งความเป็นผู้นำ สิ่งเหล่านี้ย่อมจะไม่สูญหายไปแน่นอน และตำนานที่กล่าวในตอนต้นว่า “ปิดเล่ม” ไปแล้วนั้น ย่อมพลิกออกมาอ่านได้ใหม่เสมอ นำเอามาเป็นบทเรียนได้ เสมอ
บราเดอร์อเล็กซานเดอร์ ! ท่านจะอยู่ในความทรงจำ จะสถิตย์ในหัวใจของพวกเราไปตลอดกาล !
ศ (พิเศษ) ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์
ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสภา และ อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านการเมือง
ที่มา : เอนก เหล่าธรรมทัศน์ Anek Laothamatas
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก https://swis.acl.ac.th