จาก ผอ.ป.ป.ช. สู่เจ้าของร้านขายเย็นตาโฟ จ.สุพรรณฯ “ผมยึดคำสอน ขาดทุนคือกำไร”
“...ผมยึดหลักคำสอนของในหลวงรัชกาลที่ 9 ขาดทุนคือกำไร เอากำไรน้อย ของสด รสชาติดี กล้ารับประกัน แม้เราจะเหนื่อยเพิ่มขึ้น มีค่าใช้จ่ายและได้กำไรน้อยนิด แต่เราน่าจะได้มากในตอนท้าย ถามว่าทำไมไม่ขายชามละ 40-50 บาท แต่ผมเริ่มต้นที่ 35 บาททั้งที่ใช้วัตถุดิบอย่างดี สูงสุด 80 บาทเป็นจิ้มลวก ก็เพราะเอากำไรน้อย...”
30 ก.ย.2562 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีเจ้าหน้าที่เกษียณอายุราชการ 23 คน หนึ่งในนั้นคือ นายสนธนา รักษาวงศ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานป.ป.ช. ประจำจังหวัดชัยนาท
ชีวิตหลังเกษียณของเขา ต่างจากเพื่อนร่วมองค์กรแม้กระทั่ง ข้าราชการอื่นๆตรง เขาเจียดเงินบำเหน็จบำนาญก้อนหนึ่ง เปิดร้านขาย ‘เย็นตาโฟ’ ไซซ์กะทัดรัด ชื่อ ‘ร้านน่ำชัย’ ตั้งอยู่เลขที่ 10 ถนนนางพิม ตรงข้ามศาลตายาย ใกล้หอคอยบรรหาร-แจ่มใส ต.ท่าพี่เลี้ยง อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี เพิ่งเปิดรับบริการเมื่อวันที่ 8 พ.ย.2562 ที่ผ่านมา
‘สนธยา’ ศิษย์เก่า ร.ร.อำนวยศิลป์ จบด้านบริหารและศึกษาต่อคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นลูกหม้อ ป.ป.ช. รับราชการครั้งแรกปี 2526 เป็นหัวหน้าคณะไต่สวนชำนาญการพิเศษ สำนักไต่สวนทุจริตภาครัฐ ,ผู้อำนวยการ สำนักงาน ป.ป.ช.จังหวัดอุทัยธานี กระทั่งย้ายมาประจำที่ จ.ชัยนาท
“ตอนเป็น ผอ. ป.ป.ช. ชัยนาท ผมไปกินเย็นตาโฟร้านหนึ่งชื่อร้านป้าแตน มันอร่อยมาก ก็เลยเป็นขาประจำจนรู้จักกับเจ้าของ ถามเขาว่าทำไมไม่เปิดแฟรนไชส์” เจ้าตัวเกริ่น เมื่อประมาณ 15.00 น. วันเสาร์ที่ 23 พ.ย.2562
“หลังจากผมเกษียณ เจ้าของร้านที่ จ.ชัยนาท โทรศัพท์มาหาบอกว่าจะเอาไหม ผมเห็นว่าไม่ต้องปรุงเอง เพียงแค่เอาสูตรสำเร็จจากเขา ไม่ยุ่งยาก เลยตัดสินใจลงทุนเปิดร้านร่วมกับน้องชาย โดยขอซื้อสูตรจากเขาในราคามิตรภาพ”
ที่ตั้งร้านแห่งนี้ก็ขอเช่าจากเพื่อนนิติศาสตร์ในราคาเดือนละ 4,000 บาท จ้างลูกจ้าง 4 คน
เจ้าตัวเล่าต่อ
“ผมทำงานจนถึงวันสุดท้ายในการรับราชการ ได้เตรียมแผนการรองรับหลังเกษียณอายุราชการไว้ก่อนแล้ว ไม่ใช่ขายเย็นตาโฟ ผมตอนนี้มีธุรกิจโบรกเกอร์ 2 แห่ง รายได้พอดำรงชีพ การเปิดร้านขายเย็นตาโฟ เป็นกิจการแห่งที่ 3 เงินที่นำมาลงทุนก็แบ่งเอาจากเงินบำเหน็จบำนาญซึ่งไม่มากมาย เลือกเปิดที่นี่เพราะน้องชายทำธุรกิจส่วนตัว 3 จังหวัด มีจ.สุพรรณฯด้วย ลงล็อกพอดี”
ถามว่าได้คุยปรึกษาทางครอบครัวก่อนไหม?
“ผมไม่บอกเมียและลูก ตัดสินในตามลำพัง ไม่อยากให้เขาเครียดว่าจะไปไหวไหม ไปได้หรือเปล่า จนกระทั่งร้านเปิดจึงส่งไลน์ไปบอกลูกสาว ลูกก็บอกเยี่ยม” เจ้าตัวเล่าด้วยหน้าเปื้อนรอยยิ้ม
ถามว่าต่อว่า ข้าราชการอื่นหลังเกษียณฯ มักจะพักผ่อนหรือเดินทางท่องเที่ยว ทำไมแหกกฎข้อนี้
เขาตอบว่า อยากทำอะไรในสิ่งที่อยากทำ แล้วอีกอย่างเป็นคนแข็งแรง ไม่มีโรคภัย ไม่เคยเจ็บป่วย "เชื่อไหมหลายปีมานี้ผมไม่เคยกินยาสักเม็ด"
ด้วยบุคลิกเงียบๆ ไม่ชอบแสดงตัว ดังนั้นแทบไม่มีใครรู้ว่าเขาเคยเป็นผู้บริหารสำนักงาน ป.ป.ช.จังหวัด เวลาซื้อของในตลาด คนจะเรียก ‘เฮีย’
ผมถามเขาว่า มีคนรู้หรือเปล่าว่า ร้านนี้เจ้าของร้าน เป็นอดีตผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. เขาตอบ “ไม่น่าจะมีใครรู้นะ” และ รุกถามอีกว่า คนในสำนักงาน ป.ป.ช.รู้หรือไม่ เขากล่าวย้ำ “ไม่มีใครรู้”
“ผมไม่อยากให้ใครมากิน มาอุดหนุนเพราะเคยทำงาน ป.ป.ช. แต่อยากให้มากินเพราะรู้จักหรือได้ยินว่าร้านนี้รสชาติดี”
พูดไปพลางก็คุยไปว่ารสชาติเย็นตาโฟของเขาไม่แพ้เจ้าใดใน จ.สุพรรรณฯ โดยเฉพาะน้ำจิ้มซีฟู้ด เจ้าตัวแนะนำและเคลมว่าลูกค้ามาชิมแล้วชมว่าอร่อยที่สุดใน จ.สุพรรณบุรี
ถามต่อว่า ความแตกต่างระหว่างการรับราชการกับการทำธุรกิจ ?
เขาตอบ: การค้าขายไม่เหมือนกับการรับราชการ เพราะการรับราชการไม่มีขาดทุน มีเงินเดือนทุกเดือน แต่การทำธุรกิจมันมีความเสี่ยง มีโอกาสขาดทุน เพราะฉะนั้น มันต้องเตรียมความพร้อม
“ผมยึดหลักคำสอนของในหลวงรัชกาลที่ 9 ขาดทุนคือกำไร เอากำไรน้อย ของสด รสชาติดี กล้ารับประกัน แม้เราจะเหนื่อยเพิ่มขึ้น มีค่าใช้จ่ายและได้กำไรน้อยนิด แต่เราน่าจะได้มากในตอนท้าย ถามว่าทำไมไม่ขายชามละ 40-50 บาท แต่ผมเริ่มต้นที่ 35 บาททั้งที่ใช้วัตถุดิบอย่างดี สูงสุด 80 บาทเป็นจิ้มลวก ก็เพราะเอากำไรน้อย”
เขาบอกต่อ “ผมยึดหลักว่า ถ้ารสชาติดี วัตถุดิบสด สะอาด มีคุณภาพ ปริมาณจับต้องได้ ลูกค้ามากินก็เอาไปบอกต่อแล้วก็จะชักชวนกันมาเป็นครอบครัว ผมว่าแค่นี้ก็อยู่ได้ ”
อย่างที่เกริ่นไว้ตอนต้น เป็นผู้อำนวยการ ป.ป.ช.จังหวัดอุทัยธานี ประมาณ 2-3 ปี พอปี 2557 ย้ายมาอยู่ จ.ชัยนาท ถามเขาว่าทำไมอยู่ จ.อุทัยธานี ไม่นานนัก
บอกเขาให้เล่าเท่าที่บอกได้ ถ้าลึกกว่านั้นให้ซักถามหลังไมค์
“ผมขัดขวางการประมูลรับเหมาหลายโครงการ ผมเคยบอกในที่ประชุมบนศาลากลางว่า ใครผิดผมจัดการ ตรงไปตรงมา จนรู้ตัวถูกตามประกบ วันหนึ่งลูกน้องยืมรถผมไปใช้ พอจะบิดกุญแจสตาร์ทเครื่อง นึกขึ้นได้ว่าเป็นรถของผม ก็รีบเอากุญแจมาคืนให้ผม เพราะกลัวจะโดนผิดตัว ตอนนั้นบรรยากาศมันอึมครึมทั้งจังหวัด ครอบครัวเกรงว่าจะเป็นอันตราย ลูกสาวก็กลัวว่าพ่อจะไม่ปลอดภัย แต่เราใจดีสู้เสือ”
ลุกจาก จ.อุทัยธานีมาชัยนาท ตรวจสอบหลายเรื่องหลายโครงการ บางเรื่องนักการเมืองใหญ่ในจังหวัด เป็นผู้บริหาร เจ้าตัวบอกว่า "ถ้าใครผ่าน จ.อุทัยธานีได้ ไปอยู่ที่ไหนก็ได้"
ในฐานะ ผอ.ป.ป.ช.จังหวัดรุ่นบุกเบิก ฝากอะไรกับคนในองค์กร? คำถามทิ้งท้าย
ต้องคิดว่าทุกวันนี้เรามีกินมีใช้ ดำรงชีพอยู่ได้ก็เพราะองค์กร เกิดจากการทำงานหนักของคนรุ่นก่อนที่สร้างไว้ จนประชาชนเชื่อถือศรัทธา ให้การยอมรับ เราอยู่ได้ก็เพราะซื่อสัตย์สุจริต คนรุ่นต่อมาต้องทำด้วยความซื่อสัตย์ รักศักดิ์ศรี ไม่เห็นแก่เงิน หากวันนี้เราทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์ วันข้างหน้าคนจะเห็นในสิ่งที่เราทำ
ขณะสนทนา มีลูกค้าเข้ามาเป็นระยะ
ร้านเย็นตาโฟของ ‘สนธยา’ เปิดให้บริการตั้งแต่ 10.00 น.-20.00 น. ไม่เว้นวันหยุด