ออกแบบตามแนวคิด ‘ยศพล บุญสม’ ตอบโจทย์เมืองปลอดภัย ไร้จุดเสี่ยง
“หลายคนคิดว่า กทม.เป็นเมืองน่าท่องเที่ยว น่าอยู่ แต่ลองดูข้อมูลจะพบว่าจุดเสี่ยงเยอะมาก เพราะเป็นเรื่องของสังคมเมืองที่เราไม่มีความสัมพันธ์ในสังคม ดังนั้น เราต้องเปลี่ยนทัศนคติว่า เราอยากอยู่ในเมืองที่ไปอยู่ที่ไหนก็ได้ เรามีเสรีที่จะไปชื่นชมเมือง เดินซื้อของ พบปะเพื่อนฝูง เราต้องกำจัดจุดเสี่ยงออกไป และสร้างโอกาสที่เชื่อว่า ถ้ามองเห็นเป้าหมายตรงกัน มีความรู้ ต้องทำให้เกิดขึ้นโดยเร็ว โดยไม่ต้องรอเหมือนที่ผ่านมา”
611 จุดเสี่ยง ในกทม.และปริมณฑล คือ ตัวเลขที่มีผู้แจ้งผ่าน Chat bot ในแอพพลิเคชั่นไลน์ @traffyfondue ในระยะเวลา 2 เดือน จากเป้าหมาย 500 จุดเสี่ยง โดยกิจกรรมนี้จัดอยู่ในโครงการ “ปักหมุดจุดเผือก” ซึ่งเป็นความร่วมมือของเครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิงและภาคี เพื่อหวังสร้างให้เมืองต่าง ๆ กลายเป็นพื้นที่ปลอดภัย
(อ่านประกอบ:เปิด 611 จุดกทม. เสี่ยงถูกคุกคามทางเพศ- มธ. รังสิต ตื่นตัวแจ้งมากสุด 288 หมุด)
ยศพล บุญสม ผู้อำนวยการและผู้ก่อตั้ง Shma Company Limited พูดคุยถึงทิศทางการออกแบบเมืองให้มีความปลอดภัยว่า เบื้องต้นจะต้องมีการสำรวจพื้นที่ เพื่อตรวจสอบก่อนว่า มีความเสี่ยงในเรื่องความไม่ปลอดภัยมากน้อยเพียงใด และบริเวณใดบ้าง เพื่อให้โครงการฯ เข้าไปตรวจสอบจุดแก้ไข ไม่ว่าจะเป็น ไม่มีแสงสว่างเพียงพอ พื้นที่โดยรอบไม่มีทางเข้า-ออก มากนัก มีกิจกรรมในมุมอับ พื้นที่รกร้าง หรือมีกิจกรรมไม่พึงประสงค์ในพื้นที่ ทำให้ผู้ที่มีความสนใจอยากจะเข้าไปออกกำลังกาย ไม่ว่าเด็กหรือผู้สูงอายุไม่กล้าเข้าไป
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา มีการพัฒนาพื้นที่ให้มีความปลอดภัยมากขึ้นแล้ว เช่น ลานกีฬาพัฒน์ 2 ตั้งอยู่ใต้ทางด่วนแยกอุรุพงษ์ กทม. ซึ่งนอกจากพื้นที่ดังกล่าว ขณะนี้กำลังดูความเป็นไปได้ว่าจะมีพื้นที่ใดควรได้รับการพัฒนาบ้าง อย่างทางเดินริมคลอง ทางเดินริมทางรถไฟ หรือทางเท้าบางจุด เป็นต้น
“พื้นที่เหล่านี้หากเชื่อมต่อกันได้ ลองนึกสภาพปัจจุบันมีลานกีฬาใต้ทางด่วน หากเชื่อมต่อกันเป็นวงกลมใช้เป็นทางเดิน และพื้นที่สาธารณะได้ น่าจะสร้างโอกาส ในการเปลี่ยนหน้าบ้านเป็นหลังบ้าน เปลี่ยนพื้นที่รกร้างให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะ ในการให้ทุกคนใช้ในชีวิตประจำวัน”
ผู้ก่อตั้ง Shma ยังมองว่า นอกจากพื้นที่รกร้างใต้ทางด่วนแล้ว ยังมี “สะพานเขียว” ซึ่งเชื่อมต่อระหว่างสวนลุมพินีไปยังสวนเบญจกิติ เราพบว่ามีศักยภาพสูง หากสามารถนำข้อมูลตรงนี้มาพัฒนาร่วมกับชุมชน โดยมีกทม.เป็นเจ้าภาพ สามารถช่วยพัฒนาเมืองในระยะเวลาอันสั้นได้
“ใช้งบประมาณปรับปรุงไม่มาก เพราะพื้นที่เสี่ยงหรือโครงสร้างมีอยู่แล้ว เพียงแค่ทำอย่างไรจะเพิ่มแสงสว่างและกิจกรรมเข้าไปได้”
ยศพล แสดงความเห็นด้วยว่า มีบ่อยครั้งภาครัฐมักเน้นการเพิ่มแสงสว่างและติดตั้งกล้องวงจรปิด โดยไม่ได้คิดถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนว่า หากมีกิจกรรมหรือการมีส่วนร่วมจะช่วยสร้างโอกาสมากกว่านั้น แต่ต้องทำอย่างเข้าใจและมีส่วนร่วมกับชุมชน
“รัฐไม่จำเป็นต้องลงทุนเพียงผู้เดียว แต่เชื่อว่ามีเอกชนโดยรอบพื้นที่เสี่ยงอยากลงทุน เพราะได้ประโยชน์ร่วมกันของสังคมและเอกชน ทำให้เกิดการฟื้นฟูเมืองด้วยกัน”
สำหรับการแก้ไขปัญหาจริง ๆ แล้วนั้น อยากให้มองเป็นมาตรการเชิงรุก เพราะที่ผ่านมาเหมือนเป็นมาตรการเชิงรับ ต้องรอให้เกิดความเสี่ยง แล้วจึงโทรแจ้งตำรวจหรือกทม. ซึ่งเราไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะมาแก้ไข แต่การปรับปรุงพื้นที่จะเริ่มทำให้เห็นว่า ทุกคนตื่นตัว สามารถทำให้เข้าถึงข้อมูลนี้ มีระยะเวลาในการติดตาม รัฐจะทำอย่างไร เมื่อไหร่ และทำอย่างไรให้การแก้ไขจุดเสี่ยงไม่ได้ทำเพียงการติดตั้งกล้องวงจรปิด แต่ต้องให้ชุมชนมีส่วนร่วมในเรื่องกิจกรรมและแก้ไขเรื่องเชิงสังคมเศรษฐกิจชุมชน ส่งเสริมรายได้ กำจัดพฤติกรรมไม่เหมาะสมด้วย
จึงต้องมีมาตรการเชิงสังคมควบคู่กับมาตรการเชิงกายภาพ ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นว่า ลงทุน 100 ล้านบาท หรือ 1,000 ล้านบาท แต่แก้ไขไม่ได้ เพราะทำมาตรการเชิงกายภาพ โดยไม่ตอบโจทย์กับสังคม และประชาชนไม่รู้สึกว่าเป็นเจ้าของพื้นที่นั้น
ท้ายที่สุด เขายังฝากว่า “หลายคนคิดว่า กทม.เป็นเมืองน่าท่องเที่ยว น่าอยู่ แต่ลองดูข้อมูลจะพบว่าจุดเสี่ยงเยอะมาก เพราะเป็นเรื่องของสังคมเมืองที่เราไม่มีความสัมพันธ์ในสังคม ดังนั้น เราต้องเปลี่ยนทัศนคติว่า เราอยากอยู่ในเมืองที่ไปอยู่ที่ไหนก็ได้ เรามีเสรีที่จะไปชื่นชมเมือง เดินซื้อของ พบปะเพื่อนฝูง เราต้องกำจัดจุดเสี่ยงออกไป และสร้างโอกาสที่เชื่อว่า ถ้ามองเห็นเป้าหมายตรงกัน มีความรู้ ต้องทำให้เกิดขึ้นโดยเร็ว โดยไม่ต้องรอเหมือนที่ผ่านมา”
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ:ชวนปักหมุด #ทีมเผือก ลดเสี่ยง หลังหญิงไทย 86% เคยถูกคุกคามทางเพศบนถนน
เรียนลัดวิธีปักหมุดจุดเสี่ยงผ่านเเอพพลิเคชั่นไลน์ @traffyfondue