‘สมบัติ อุทัยสาง’รอด! ศาลฎีกาฯยกคำร้องคดีรวยผิดปกติ-ป.ป.ช.สอบหลังพ้นเก้าอี้เกิน 2 ปี
‘สมบัติ อุทัยสาง’ อดีต รมต.ยุค ‘บรรหาร-ทักษิณ’ กับพวกรวม 4 รายรอด! ศาลฎีกาฯยกคำร้องคดีรวยผิดปกติ 108.5 ล้าน เหตุ ป.ป.ช. ไต่สวนหลังพ้นตำแหน่ง ปธ.บอร์ด ขสมก.-ปธ.บอร์ดองค์การโทรศัพท์ฯ เกิน 2 ปี ตามกฎหมาย
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2562 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อ่านคำพิพากษาคดีที่อัยการสูงสุด (อสส.) เป็นผู้ร้อง นายสมบัติ อุทัยสาง อดีต รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม สมัียนายบรรหาร ศิลปอาชา รมช.มหาดไทยสมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร นางสุจิวรรณ อุทัยสาง กับพวกรวม 4 ราย เป็นผู้คัดค้าน คดีร่ำรวยผิดปกติ 108,574,356.23 บาท
ศาลวินิจฉัยในสาระสำคัญว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2542 โดยมาตรา 75 ของพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดว่า กรณีที่จะมีการกล่าวหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดร่ำรวยผิดปกตินั้น จะต้องมีการกล่าวหาต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เสียก่อน และการกล่าวหาดังกล่าวจะต้องกระทำในขณะที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่กินสองปีเท่านั้น
คดีนี้ทรัพย์สินที่เป็นมูลเหตุของการร่ำรวยผิดปกติคือเงินฝากธนาคารอาคารสงเคราะห์ สาขาคอนแวนต์ 3 บัญชี และเงินฝากธนาคารอาคารสงเคราะห์ สาขาพุทธมณฑล 6 บัญชี มีการนำฝากระหว่างวันที่ 12 มีนาคม 2540 ถึงวันที่ 18 ตุลาคม 2543 อันเป็นช่วงระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาเข้ารับตำแหน่งประธานกรรมการบริหารองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ และเข้ารับตำแหน่งประธานกรรมการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย แต่ระหว่างนั้นไม่ปรากฎว่ามีบุคคลใดกล่าวหาผู้ถูกกล่าวหาต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าผู้ถูกกล่าวหาร่ำรวยผิดปกติ จนกระทั่งผู้ถูกกล่าวหาพ้นจากตำแหน่งประธานกรรมการบริหารองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพหรือตำแหน่งประธานกรรมการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยไปเกินสองปีตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 75 แล้ว เช่นนี้ย่อมมีผลทำให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจที่จะรับพิจารณากรณีผู้ถูกกล่าวหาร่ำรวยผิดปกติเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหารองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพและตำแหน่งประธานกรรมการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยได้อีกต่อไป
แม้ต่อมาจะได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 พ.ศ. 2550 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 (ฉบับที่ 2) ผศ. 2555 แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 66 และมาตรา95 แต่ก็ไม่มีบทบัญญัติใดให้นำมาตรา 66 และมาตรา 75 ที่แก้ไขใหม่มาใช้บังคับแก่คดีที่ล่วงพันกำหนดเวลาที่คณะกรรมการ ป.ป.ช จะรับพิจารณาไต่สวนไปแล้วได้ จึงไม่ทำให้อำนาจการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่สิ้นสุดลงไปแล้วกลับมีอำนาจขึ้นอีก ประกอบกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในวันที่ 4 มกราคม 2552แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ถูกล่าวหาเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่ากรกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารร่ำรวยผิดปกติก็เป็นกรณีที่จะต้องบังคับแก่ทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหาที่ได้มาเมื่อครั้งตำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร คดีร่ำรวยผิดปกติตามที่ระบุไว้ในคำสั่งดังกล่าวเท่านั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจที่จะออกคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรมการไต่สวนโดยอ้างอิงตำแหน่งทั้งสองนี้เพื่อเป็นเหตุทำให้เกิดอำนาจไต่สวนย้อนหลังไปถึงทรัพย์สินที่ได้มาเมื่อล่วงพันกำหนดเวลาไต่สวนแล้วได้
ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้สั่งให้เงินฝากดังกล่าวเป็นของแผ่นดินได้ พิพากษายกคำร้อง
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/