‘แอนิเมชั่น’ ไม่ใช่คำตอบการหลีกเลี่ยงปัญหาจริยธรรม
"...แม้การใช้ animation มาช่วยสื่อสารเพื่อหลีกเลี่ยงการนำเสนอภาพจริงอันหมิ่นเหม่ต่อกฎหมายหรืออ่อนไหวต่อจริยธรรมวิชาชีพ แต่ animation ก็ไม่ใช่สูตรสำเร็จเพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว แท้จริงแล้วก็คือเจตนาของผู้สร้างกราฟิก ผู้นำเสนอ (ผู้ประกาศหรือผู้ดำเนินรายการ) และบรรณาธิการ (หรือหัวหน้าข่าว) ว่าต้องการจะสื่อสารอย่างไร อันสะท้อนไปถึงวิสัยทัศน์ของผู้บริหารสื่อนั้น ๆ ด้วย..."
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : เมื่อวันที่ 29 พ.ย.2562 นายบรรยงค์ สุวรรณผ่อง กรรมการควบคุมจรรยาบรรณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, กรรมการจริยธรรมวิชาชีพ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ได้โพสต์ข้อความในเฟซบู๊กส่วนตัว Banyong Suwanpong เรื่อง ‘แอนิเมชั่น’ ไม่ใช่คำตอบการหลีกเลี่ยงปัญหาจริยธรรม
.....................
กรณีลูกชายวัย 20 ปี ฆ่าหั่นศพมารดาวัย 42 ปี แช่ไว้ในตู้เย็น เมื่อเพื่อนของมารดาแวะมาถามหามารดาที่บ้าน หลังพูดจากันได้ไม่นาน ก็ยิงศรีษะตนเองบาดเจ็บสาหัส แล้วไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาล เหตุเกิดในบ้านพัก ย่านซอยท่าข้าม แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ เมื่อ 24 พฤศจิกายน 2562 อันเป็นข่าวสะเทือนใจแก่บุคคลทั่วไป ทั้งกรณี ‘มาตุฆาต’ และวิธีการอำพรางศพ
สื่อมวลชนโดยส่วนใหญ่หลีกเลี่ยงการรายงานข่าวและภาพที่อุจาดหวาดเสียว แต่ก็มีบางสื่อที่ไม่เพียงใช้โอกาสความรุนแรงและผิดปกติของข่าวรายงานขั้นตอนการทำลายศพอย่างละเอียด ยังใช้แบบจำลองภาพเคลื่อนไหว (animation) มาช่วยในการสื่อสาร แสดงภาพศพที่ถูกหั่นศรีษะ ลำตัว แขน และขา เป็นชิ้น ๆ โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ช่องหนึ่ง ยังใช้เสียงประกอบเพื่อสื่อความหมายความรุนแรงในการใช้บังตอ (มีดสับกระดูก) ฟันแขนขาให้ขาดออกจากกัน
ผู้ประกาศสื่อโทรทัศน์ช่องเดียวกันยังอธิบายตามแอนิเมชั่นด้วยน้ำเสียงที่เป็นลักษณะเฉพาะตัวเพิ่มความหวาดเสียว อันไม่ใช่บุคลิกของการรายงานข่าวโดยปกติ
นักวิชาการนิเทศศาสตร์ตั้งคำถามการรายงานข่าวนี้ว่า จำเป็นต้องทราบรายละเอียดทั้งภาพ ทั้งเสียง ทั้งการบรรยายรายละเอียดเหล่านี้ไหม ทราบแล้วใครได้อะไร “เสนอภาพช่องแข็งที่เปิดออกมา มีกับข้าวและเบลอของบางชิ้นที่เป็นรูปร่างเหมือนแขน อธิบายว่าลูกเอาอวัยวะแม่แช่ไว้ เดาไม่ยากว่าส่วนไหน..ภาพไม่เท่าไร แต่คำบรรยายอธิบายวิธีฆ่าละเอียด ฆ่าด้วยอะไร ฆ่าที่ไหน มีดอีโต้กับฆ้อนเอามาใช้ชำแหละยังไง แถมสรุปว่า นี่ไงทำแบบนี้นะ สามารถฆ่าคนได้" พร้อมกับให้ข้อคิดว่า การนำเสนอที่เจาะลึกกว่า แปลกกว่า โหดกว่า สยองกว่า เพื่อให้ชนะสงครามการแย่งชิงผู้ชมแล้ว สื่อควรฉุกคิดว่าการแข่งขันกันในลู่ทางแบบนี้จะพาสังคมไปสู่จุดใด พาให้ผู้ชมเป็นคนอย่างไร และ “คุณต้องการแบบนั้นจริง ๆ หรือ” (สาวิตรี คทวณิช คณะภาษาและการสื่อสาร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์)
“..ข่าวนี้ไร้รสนิยมในการนำเสนอ ไม่มีจริยธรรม ขาดความรับผิดชอบต่อคนดูต่อคนในข่าว อย่าบอกว่าใช้ภาพจำลองเหตุการณ์ เพราะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องจำลองเหตุการณ์เพื่อเล่าให้มันสะใจคนเล่า ภาพผนวกกับเนื้อหา น้ำเสียง การบรรยายของผู้ประกาศ มันดูต้องการความสะใจมากไปไหม สังคมได้อะไรจากการนำเสนอข่าวแบบนี้ ได้ต้นแบบไปเลียนแบบได้ทุกกระบวนการ ได้ความเคยชินว่าความรุนแรงเกิดได้ ดูได้ ไม่ต้องรู้สึกไม่ดี เพราะยังนำเสนอกันได้ขนาดนี้ อย่าอ้างว่ากำลังทำหน้าที่บอกความจริงข้อมูลกับสังคม เพราะมันเกินขอบเขตจริยธรรม เคยคิดถึงผลการนำเสนอแบบนี้บ้างไหม” (ผศ. ดร. สกุลศรี ศรีสารคาม หัวหน้าสาขาวารสารศาสตร์คอนเวอร์เจ้นท์ คณะนิเทศศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์)
แม้การใช้ animation มาช่วยสื่อสารเพื่อหลีกเลี่ยงการนำเสนอภาพจริงอันหมิ่นเหม่ต่อกฎหมายหรืออ่อนไหวต่อจริยธรรมวิชาชีพ แต่ animation ก็ไม่ใช่สูตรสำเร็จเพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว แท้จริงแล้วก็คือเจตนาของผู้สร้างกราฟิก ผู้นำเสนอ (ผู้ประกาศหรือผู้ดำเนินรายการ) และบรรณาธิการ (หรือหัวหน้าข่าว) ว่าต้องการจะสื่อสารอย่างไร อันสะท้อนไปถึงวิสัยทัศน์ของผู้บริหารสื่อนั้น ๆ ด้วย
เรื่องที่ท้าทายสื่อมืออาชีพก็คือความอยู่รอดที่ควบคู่กันไปกับความรับผิดชอบต่อสังคม
เพื่อนร่วมวิชาชีพโปรดพิจารณา
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
(ภาพ: screenshot จากข่าวอมรินทร์ทีวี)