'รศ.จิราพร' ยื่นลาออกพ้นกก.วัตถุอันตรายแล้ว-โฆษก สธ.ประณาม"อัปยศประเทศไทย"
'รศ.จิราพร' ยื่นหนังสือลาออก พ้นตำเเหน่ง คกก.วัตถุอันตราย สัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิ หลังที่ประชุมฯ มีมติยืดเเบนสารเคมี-จำกัดใช้ 'ไกลโฟเซต' มีผล 28 พ.ย. ปลัดสธ.ย้ำชัด กระทบสุขภาพประชาชน ยันหนุนมติเดิม 22 ตุลาฯ 62
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า วันที่ 28 พ.ย. 2562 รศ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการวัตถุอันตราย ได้ยื่นหนังสือขอลาออกจากตำเเหน่ง ภายหลังคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติให้ออกประกาศกำหนดวัตถุอันตราย พาราควอต และคลอร์ไพริฟอสเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 โดยให้กำหนดระยะเวลาใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2563 จากเดิม 1 ธ.ค. 2562 ส่วนวัตถุอันตรายไกลโฟเซต ให้ใช้มาตรการจำกัดการใช้ตามมติคณะวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2561
(อ่านประกอบ:มติเอกฉันท์ 24 เสียง ยืดแบน “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส” จำกัดการใช้ “ไกลโฟเซต”)
โดยหนังสือขอลาออก ระบุว่า ดิฉันได้พิจารณาเเล้วเห็นว่า กลไกคณะกรรมการวัตถุอันตรายอันเป็นกลไกที่สำคัญเชิงนโยบายในการตัดสินใจควบคุมวัตถุอันตรายเพื่อความปลอดภัยของประชาชนเเละสังคม เเต่จากการพิจารณาในเรื่องวัตถุอันตรายทางการเกษตรที่ผ่านมา กลไกดังกล่าวไม่สามารถทำให้เกิดการตัดสินใจเชิงนโยบายที่ดีได้
ในการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2562 ดิฉันขอยืนยันให้มีการยกเลิกการใช้พาราควอต คลอร์ไพริฟอส เเละไกลโฟเซต ซึ่งเป็นจุดยืนของดิฉันมาโดยตลอด เเละหวังว่าคณะกรรมการวัตถุอันตรายยืนยันตามมติการประชุมวันที่ 22 ต.ค. เพื่อการคุ้มครองสุขภาพของเกษตรกรเเละผู้บริโภคด้วย
ดิฉันจึงขอลาออกจากการเป็นกรรมการนับตั้งเเต่วันที่ 28 พ.ย. 2562
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ รศ.จิราพร โพสต์เฟซบุ๊ก ประกาศลาออกจากคณะกรรมการวัตถุอันตราย และขอแย้งการแถลงข่าวของประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย
1.ขอแย้งว่าไม่ได้มีการลงมติอย่างชัดเจน ว่าผู้ใดเห็นด้วยหรือไม่ในแต่ละประเด็น แต่เป็นภาวะจำยอมในการรับมติ จึงไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็น มติเอกฉันท์ เพราะหากพิจารณาในการอภิปรายจะพบว่า ดิฉันยืนยันชัดเจนมาโดยตลอดในการแบนสารทั้งสาม และยืนยันให้คงมติวันที่ 22 ตุลาคม
2.ขอแย้งการแถลงข่าวที่ว่า ไกลโฟเซตไม่เป็นอันตราย เพราะกรรมการรวมทั้งดิฉันได้อภิปรายถึงผลเสียต่อสุขภาพและไม่สามารถจะจัดการความเสี่ยงต่อผู้บริโภค จนพบปนเปื้อนทั้งในสิ่งแวดล้อม ผัก ผลไม้ และน้ำนมแม่
ทั้งนี้ ช่วงเช้าวันเดียวกัน นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา พร้อมด้วย นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรรมการวัตถุอันตราย 2 คนในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์กรณีการแบน 3 สาร ที่ห้องประชุมชั้น 1 อาคาร 1 ตึก อย.
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กรรมการวัตถุอันตราย ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันมติเดิม เพราะเรื่องสุขภาพประชาชนสำคัญกว่า สารเคมีทางการเกษตร มีพิษแบบเฉียบพลัน เช่นการฆ่าตัวตาย กับการสัมผัส รวมถึงการตกค้างในพืชผัก ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตรวจพบ แม้แต่การตกค้างในดิน และน้ำ พบผู้ป่วยมากขึ้น ในอนาคตจะส่งผลต่อสุขภาพประชาชน มะเร็งพบมากขึ้น โรคสมองเสื่อม และส่งต่อจากมารดาสู่ทารกได้
"ไม่ว่าจะมีสารทดแทนหรือไม่ หากกระทบสุขภาพประชาชน กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลักที่ต้องหาข้อมูล ให้ประชาชนมีความปลอดภัยที่สุด ส่งเสริมสุขภาพ ป้องกัน เพื่อไม่ให้เกิดโรค ดังนั้นจุดยืนเราไม่เคยเปลี่ยนแปลง"
ขณะที่เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวถึงการลงมติว่า ในส่วนคณะกรรมการไม่มีการลงมติ หรือยกมือลงมติแต่อย่างใด
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ตัวแทนจากกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 ที่รับรองมติที่ประชุมให้แบนสารเคมี 3 ชนิด ส่วนการประชุมเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน ไม่มีการให้ยกมือ หรือลงมติรายบุคคลให้ยกเลิกมติเดิม ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขยืนยันในมติเดิม
ส่วนความเห็นกรณีที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย มติเอกฉันท์ 24 เสียง ยืดเวลา 6 เดือน แบน “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส” จำกัดการใช้ “ไกลโฟเซต” นั้น
นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า “อัปยศประเทศไทย กลับมติเดิมได้ ” ขอถามทุกๆท่านว่า ถ้ามีผัก 2 กอง กองที่หนึ่งมีสารเคมี อีกกองไม่มีสารเคมี (เกษตรอินทรีย์) จัดมาให้คณะกรรมการทุกท่านเลือกทาน ท่านเลือกทานกองใด ถ้าคิดไม่ได้ ตอบไม่ถูก แนะนำไปทานกองที่ 3 คือ ทานหญ้าแทนข้าว (คำพูดที่ตัวผมเองพูดใน คกก.ผู้ตรวจการแผ่นดิน ในนามกระทรวงสาธารณสุข)
"ผมขอชื่นชมการประกาศลาออกของ ศ.ดร.ภญ. จิราพร ลิ้มปานานนท์ นายกสภาเภสัชกรรมและเป็นกรรมการวัตถุอันตรายประกาศลาออกจากคณะกรรมการ และยืนยันว่าคำแถลงของกรรมการวัตถุอันตรายไม่ถูกต้องด้วยประการต่างๆ"
ส่วนนายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ในเมื่อไม่สามารถพึ่งรัฐ เรื่องอาหารปลอดภัย สิ่งที่ต้องช่วยกันคือใช้อำนาจผู้บริโภคโดยหน้าที่ของเรา
1) เดินหน้าช่วยกันให้ความรู้ผู้บริโภคด้วยกัน ผู้ขายติดฉลากหรือป้ายมาจากแปลงเคมีหรือไม่
2) ช่วยกันเดินหน้าสร้างตลาดเกษตรอินทรีย์
3) พัฒนา ชุดตรวจ ขณะนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สสส. และ 9 มหาวิทยาลัย และ ศ.ดร. พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล กำลังประเมิน ชุดตรวจ 10 ชุด จากกลุ่มต่างๆ ในการตรวจ พาราควอต ไกลโฟเซต และกลุ่มฆ่าแมลง (ซึ่งรวมคลอไพริฟอส) ได้แก่ ออแกโนคลอรีน ออแกโนฟอสเฟต คาบาร์เมต และไพรีทรอยภายในปลายมกราคม จะได้ชุดตรวจน้ำ ที่สะดวก ถูก รวดเร็ว และในมีนาคม จะได้ชุดตรวจในพืช ผัก ผลไม้
นายแพทย์ธีระวัฒน์ กล่าวอีกว่า ไม่นานนัก เราจะสร้างเกราะป้องกันภัยให้ตนเองและครอบครัวได้ เหล่านี้ ยังหมายความถึงทุกเรื่องในประเทศไทย ถ้าเราไม่ร่วมกัน ช่วยกัน หวังพึ่ง ลมๆ แล้งๆ เราเองและลูกหลาน คงจะประสบเคราะห์กรรมไปมากขึ้นกว่านี้ อีกเป็น สิบเป็นร้อยเท่า
"กรรมการวัตถุอันตราย และกรมวิชาการเกษตร รวมกระทั่งถึงกระทรวงอุตสากรรม และอื่นๆที่เกี่ยวข้องพยายามที่จะยัดเยียดสารเคมีพิษเหล่านี้ให้คงอยู่ในประเทศไทย โดยที่ไม่เคยคำนึงถึงอันตรายที่เกิดขึ้นแก่ชีวิตและสุขภาพโดยที่กระทรวงสาธารณสุขได้ชี้แจงตัวเลข ผู้ป่วยที่เสียชีวิตทั้งเฉียบพลันและที่เกี่ยวเนื่องกับการได้รับสารเคมีเหล่านี้ต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรเองหรือเป็นประชาชนที่อยู่ในพื้นที่"
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ:'อนุทิน' ชี้มติยืดเเบนสารเคมี ไม่เป็นเอกฉันท์ กก.สัดส่วน สธ.ยันให้ยกเลิก
รับไม่ได้มติคกก.วัตถุอันตราย “ชาดา” ลั่นคืนกรมวิชาการเกษตร ให้รมว.ดูแล