‘ส้นสูง’ เปลี่ยนชีวิต LGBTQ สู่การทำงานเพื่อสังคม
‘ส้นสูง’ คือสัญญะ ‘เท่าเทียม’ ทางเพศ สัมผัสตัวตน 3 ผู้เข้าประกวด มิสเตอร์เกย์ฯ 2020 แทนตัวเองว่า ทีมเอนเตอร์เทน พาความมั่นใจโชว์บนเวที ผ่านแคมเปญเพื่อสังคม สร้างการยอมรับ
จัดขึ้นเป็นปีที่ 4 แล้ว สำหรับการประกวดมิสเตอร์เกย์เวิลด์ไทยแลนด์ 2020 ภายใต้ลิขสิทธิ์ของบางกอกเรนโบว์ เวทีที่มิได้ค้นหาผู้มาดำรงตำแหน่ง เพียงยึดรูปหน้าหน้าตาเป็นสำคัญ หากแต่เป็นการเฟ้นหาผู้เข้ามาทำหน้าที่ในฐานะเอ็นจีโอ เพื่อเป็นกระบอกเสียงขับเคลื่อนทุกเรื่องราวของ LGBTQ (Lesbian, Gay, Bisexual, Transgender, Queer ) โดยไม่มีสิ่งใดตอบแทน นอกจากความภาคภูมิใจในการทำหน้าที่อันทรงเกียรตินี้
โดยในปีนี้มีผู้เข้าประกวดผ่านเข้ารอบสุดท้าย 30 ชีวิต ทุกคนล้วนมีความโดดเด่นแตกต่างกัน หากเปรียบเป็นดอกไม้คงเป็นสามสิบสายพันธุ์ที่งดงามรอขึ้นแจกันให้อวดโฉม
ความโดดเด่นหนึ่งที่สัมผัสได้ คือ ‘ส้นสูง’ ปลายแหลมสีฉูดฉาด จริตพราวบ่งบอกถึงความมั่นใจ ในทุกการย่างกรายของร่างอันสะโอดสะอง ระหง ของ 3 ผู้เข้าประกวด พวกเธอเรียกแทนตนเองว่า “ทีมเอ็นเทอร์เทน” คอยสร้างสีสันความน่ารักในกองฯ
(ลูกหิน) วิรภัทร เปรมบุรี MGT 16
(แซมมี่) อคิน จินา MGT 22
(ปังปอนด์) ปวเรศน์ สุขไพบูลย์ MGT28
ทั้ง 3 คน มีความสนิทสนมกันมาก พวกเธอบอกเล่าว่า อาจเป็นเพราะมีเคมีตรงกัน อีกประการหนึ่ง คือ เคยร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับการขับเคลื่อนรณรงค์ LGBTQ มาแล้วก่อนหน้านี้
แน่นอนว่า การเข้ามาสมัครในเวทีการประกวดมิสเตอร์เกย์ฯ จึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่ทุกวินาทีหมายถึงความตั้งใจที่สื่อผ่านมาจากแววตาที่มุ่งมั่นและชัดเจนในตัวตน
คนใส่ส้นสูง อาจไม่ใช่เกย์สาว
ลูกหิน วิรภัทร เข้ามาออดิชั่นวันแรกในลุคโดดเด่น ส้นสูงสีชมพูแปร๋น ทำให้อดที่จะละสายตาไปจากเขาไม่ได้ เครื่องสำอางที่ฉาบลงบนใบหน้า พาให้เปล่งนวลประกาย
เขาเป็นพนักงานโรงแรมแห่งหนึ่งมาร่วม 3 ปีแล้ว ได้รับแรงบันดาลใจในการประกวดจาก ‘เจษฎา ปลอดแก้ว’ รองชนะเลิศอันดับ 1 มิสเตอร์เกย์ฯ 2019
“เราอยู่หลังเวทีในการประกวดปีที่ผ่านมา พี่เจษ (เจษฎา) ชวนให้มาช่วยดูแลเรื่องการแต่งกาย จนกลายเป็นแรงบันดาลใจในวันนี้ แล้วเมื่อมีโอกาส จึงลองมาดู”
ลูกหิน ยังบอกว่า ส้นสูงที่เขาใส่มาในวันนั้นและทุก ๆ วันที่ต้องเข้ากองฯ เป็นเสมือนเครื่องหมายสื่อแทนความเป็นผู้หญิง แต่เมื่อวันหนึ่งต้องอยู่ในตัวผู้ชาย นั่นก็หมายถึง ความเป็นเพศชายและเพศหญิงมีอยู่ในคนเดียวกัน ดังความหลากหลายทางเพศในปัจจุบันนี้
...คนใส่ส้นสูง อาจไม่ใช่เกย์สาว แต่เป็นไลฟ์สไตล์...
“ส้นสูงที่เราใส่นั้น เป็นตัวเราจริง ๆ ทำให้รู้สึกว่า จากที่เคยเป็นค่อนไปทางกะเทย แต่วันนี้กลับชอบลุคบอย ๆ ที่สามารถใส่ส้นสูงได้” เขากล่าว และว่า อย่างการแต่งเป็นแดร็กควีน (คนที่กายเป็นชาย แต่สามารถแต่งเป็นผู้หญิงได้อย่างสวยงาม) สมัยนี้เริ่มเป็นที่รู้จักมาก เพราะฉะนั้นการใส่ส้นสูงลุคบอย ๆ น่าจะเป็นเรื่องปกติของสังคมไทยได้แล้ว
เมื่อถามถึงแคมเปญ ลูกหินทำในเรื่องเกี่ยวกับการสร้างยอมรับและให้โอกาสแห่งความเท่าเทียมในองค์กร ส่วนหนึ่งยอมรับว่า ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเจษฎาเช่นกัน เพราะทำงานในสายโรงแรมเหมือนกัน แต่ครั้งนี้เขาจะนำไปต่อยอดได้ในอนาคต
“โชคดีที่ทำงานอยู่ในองค์กรเปิดกว้างและยอมรับให้โอกาส LGBTQ มากกว่าที่ผ่านมา จึงอยากจะส่งต่อความโชคดีครั้งนี้ออกไป และหวังว่าองค์กรอื่น ๆ สามารถทำได้ ในการให้ LGBT มีตัวตน และได้ใช้โอกาสและความสามารถของตนเองมากขึ้น เติบโตได้เท่าเทียมกับเพศชายและหญิง”
แคมเปญนี้ยังเป็นเสมือนการนำตัวอย่างการดำเนินชีวิตของ LGBTQ ประสบความสำเร็จ มาเป็นแรงผลักดันทำให้ผู้อื่นมีความกล้า แต่ยังไม่มีโอกาสหรือถูกกดทับอยู่ ใช้พลังที่มีอยู่ในตัวตนขับออกมาต่อสู้เพื่อดำรงอยู่ในสายงานที่รักได้
ทั้งนี้ หากกล่าวถึงความเท่าเทียมในการทำงานแล้ว ลูกหินตั้งคำถามว่า ความเท่าเทียมมีอยู่ในสังคมจริงหรือ? คำตอบคือไม่จริง เราจะเห็นว่า แม้แต่สังคมชายและหญิงยังไม่มีความเท่าเทียมอย่างสมบูรณ์ ไม่ต้องคิดถึง LGBTQ แต่อย่าเพิ่งหมดหวัง เราจะใช้โอกาสนี้เป็นกระบอกเสียงเล็ก ๆ ให้เกิดการขับเคลื่อนต่อไป
ผู้พิการ LGBTQ #ชายขอบของความแปลกแยก?
แซมมี่ อคิน หนุ่มใต้ จ.สุราษฎร์ธานี มาเข้าประกวดด้วยความมุ่งมั่น เพื่อหวังจะสื่อให้สังคมทราบว่า ในโลกใบนี้ยังมีผู้พิการที่เป็น LGBTQ
เขาบอกว่า ผู้พิการในประเทศไทยไม่ค่อยถูกพูดถึงในเวทีความหลากหลายทางเพศ ฉะนั้นจึงคิดจะทำอย่างไรให้เรื่องดังกล่าวถูกหยิบยกขึ้นมาได้ และสามารถนำไปสู่การต่อยอดช่วยเหลือสังคมได้จริง เวทีมิสเตอร์เกย์ฯ จึงตอบโจทย์ความต้องการนี้
“ผมศึกษาข้อมูลมาระยะหนึ่ง พบว่า ผู้พิการทางสายตาบางคนชอบผู้หญิงด้วยกัน หรือผู้พิการทางหูเป็นเกย์และสาวประเภทสอง” แซมมี่ ระบุ และเล่าต่อว่า น้องกลุ่มนี้ไม่มีกำลังใจในการดำรงชีวิต เพราะพวกเขารู้สึกแปลกแยก
ลองคิดดูสิ! คนเรามีอวัยวะครบ 32 ส่วน ยังต้องออกมาต่อสู้เรียกร้องสิทธิต่าง ๆ ยิ่งเป็นผู้พิการที่เป็น LGBTQ ยิ่งได้รับความลำบาก และแทบจะต้องออกมาต่อสู้มากกว่าคนปกติถึงสองเท่า
I CAN DO IT จึงเกิดขึ้นมาเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้พิการ LGBTQ ให้ ‘กล้า’ ที่จะออกมาแสดงความรู้ความสามารถให้สังคมรับรู้ว่า “ต่อให้ฉันเป็นผู้พิการ ฉันก็มีความสามารถ”
โดยในช่วงแรกของแคมเปญนั้น จะเป็นการวางแผนให้ผู้พิการกลุ่มนี้แสดงความสามารถออกมาให้ได้ หลังจากนั้นค่อยสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องสิทธิความหลากหลายทางเพศ
“ผู้พิการอย่างคนหูหนวก ถ้าคนปกติ คลอดออกมา จะรับรู้ สื่อสาร กับคนเราได้ แต่คนหูหนวก จะช้ากว่าคนปกติอย่างน้อย 1 ปี เหมือนเราเรียน ป. 2 แต่เขายังเรียนป. 1”
อย่างไรก็ตาม ยืนยันพวกเขามีพรสวรรค์หลากหลายอย่างการแสดงต่าง ๆ เช่น การร่ายรำ การร้องเพลง ซึ่งสามารถทำได้และกลายเป็นจุดหนึ่งที่ดึงศักยภาพเขา เพื่อให้รู้สึกว่า สังคมยังตอบรับและทำให้มีตัวตนในสังคม
ผลงานของ เมย์ พรรษา ตั้งใจวาดให้แซมมี่
น้องในโครงการ I Can Do It ฉันสามารถทำได้
แซมมี่ยังเชื่อว่า หากอนาคตมีผู้พิการ LGBTQ ออกมาแสดงตัวตนมากขึ้น จะกลายเป็นกำลังหลักในการต่อสู้เรียกร้องสิทธิต่อไป นำไปสู่ความรู้ความเข้าใจเรื่องสุขภาพ การป้องกันตนเอง หรือการใช้ชีวิตคู่
“ต้องทำให้พวกเขาหลุดพ้นจากความเคว้งคว้าง ถูกทิ้งเหมือนคนชายขอบ #ชายขอบของความแปลกแยก คล้ายโรฮิงญา ทำให้เขากล้าที่จะลุกขึ้นมา”
แซมมี่ ยังไปเรียนภาษามือ เพื่อนำมาสื่อสารกับผู้พิการ LGBTQ นับเป็นความมานะพยายาม เขาบอกว่า เมื่อมาสื่อสารก็พบว่า คนกลุ่มนี้เคยมีความรู้สึกเหมือนไม่มีตัวตนในสังคม แต่เมื่อได้คุยกันไปเรื่อย ๆ แล้ว ‘กำลังใจ’ ได้เกิดขึ้นตามมา
มีผู้พิการ LGBTQ คนหนึ่ง พูดผ่านภาษามือกับแซมมี่ว่า “หนูรู้สึกมีกำลังใจมากขึ้น ถ้าเป็นทหาร หนูคิดว่าเป็นกำลังเสริมตลอด แต่พอพี่เข้ามาช่วยเหลือ หนูกลายเป็นกำลังหลักให้ทุกคนเลย”
นี่คือความภาคภูมิใจของ LGBTQ ที่ชื่อ แซมมี่ ที่มีรองเท้า ‘ส้นสูง’ สีดำขลับใส่เดินเฉิดฉายประจำตัว
อ้วนแล้วไง...ใครแคร์ สร้างความมั่นให้ LGBTQ พลัสไซส์
10 ปีของสายงานข่าวการตลาดของ ปังปอนด์ ปวเรศน์ เรียกได้ว่า แทบจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ LGBTQ เลย แต่เพราะเขามีความสนใจส่วนตัวเป็นพิเศษ ทำให้พาตนเองเข้าไปเป็นจิตอาสาทำงานกับองค์กรภาคประชาสังคมต่าง ๆ
“...แม้จะไม่ได้คลุกคลีกับปัญหา LGBTQ แต่ชอบหาเวลาว่างไปอบรมนอกเวลางาน โดยรู้จักสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทยมาก่อน ต่อมาได้เป็นจิตอาสาจัดพื้นที่รณรงค์ แจกถุงยางอนามัย จนกระทั่งมีโอกาสอบรมเรื่อง HIV”
นั่นคือสิ่งที่เขาทำมา จนกระทั่งผ่านเข้ารอบ 30 คน ในการประกวดมิสเตอร์เกย์ฯ ปังปอนด์บอกว่า เขารู้ตัวไม่หล่อ อ้วน และออกสาว แต่ที่กล้าเข้ามา เพราะเวทีนี้เปิดโอกาสให้ LGBTQ ที่มีความหลากหลายในบุคลิกภาพเข้าประกวด แน่นอน ทำใจมาบ้างแล้วว่าต้องถูกสังคมเหยียด แต่ไม่สนใจ
ด้วยคิดว่า หากเราสมัครแล้วสามารถผ่านเข้ารอบ 30 คนได้ ถือว่าเป็นเรื่องดีเยี่ยมแล้ว ส่วนกระแสด้านลบต่าง ๆ ต้องยอมรับ
ปังปอนด์ ใช้โอกาสนี้ในการนำเรื่องรูปลักษณ์ของบุคคล อ้วน ผอม ดำ ขาว มาเป็นแคมเปญขับเคลื่อนสังคม LGBTQ ชื่อว่า อ้วนแล้วไง...ใครแคร์
“ตอนคิดชื่อเรื่องแคมเปญ...เครียดมาก จนกระทั่งเปลี่ยนแคมเปญกระทันหัน ตอนแรกจะทำเรื่อง LGBTQ ในสามจังหวัดชายแดนใต้ จนได้รับคำปรึกษาจากหลายคนว่า ค่อนข้างเป็นเรื่องละเอียดอ่อน จึงเปลี่ยนมาเป็น อ้วนแล้วไง...ใครแคร์ ตอบโจทย์เราในฐานะเป็นภาพลักษณ์ทีมเอ็นเทอร์เทน”
โดยแคมเปญจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ LGBTQ ที่มีความสาว มาประกวดในอนาคต ไม่ต้องหล่อ ไม่ต้องมีกล้าม แม้จะอ้วน ก็มาประกวดได้
“ลูกหิน ปังปอนด์ และแซมมี่ ต้องสร้างคาแรกเตอร์ตนเอง เราไม่แมน ไม่หล่อ ไม่มีกล้าม จึงต้องนำเรื่องนี้มาเป็นจุดเด่นในการแสดงศักยภาพให้กับกรรมการและทุกคนได้เห็นบนเวที”
อ้วนแล้วไง...ใครแคร์ หมุดหมายสำคัญจึงต้องการเสริมสร้างกำลังใจให้แก่ LGBTQ ที่เป็นคนอ้วน หรือปรารถนาจะลดความอ้วน หรือให้มีความภาคภูมิใจในรูปร่างของตนเอง และพร้อมจะดำรงชีวิตได้ในสังคมอย่างมีความสุข โดยการสัมภาษณ์ LGBTQ อ้วนที่มีชื่อเสียงมาลงในแฟนเพจเฟซบุ๊ก
ปังปอนด์ยังสะท้อนภาพลักษณ์ LGBTQ ในประเทศไทยด้วยว่า กำลังเริ่มเสริมสร้างความสามัคคีเกิดขึ้น เมื่อก่อนแบ่งแยกเป็นก๊วน ๆ แต่คราวนี้การผลักดันนโยบายและกฎหมายสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับของ LGBTQ โดยรวม ได้รับการขับเคลื่อนร่วมกัน ดังนั้นทุกกลุ่มที่เคยต่างคนต่างทำ เริ่มมาระดมความคิดหาแนวทางร่วมกันให้เกิดประโยชน์กับกลุ่มเรามากที่สุด
ส่วนหลายคนสงสัยว่า กลางวันเป็นผู้สื่อข่าวในลุคบอย กลางคืนแปลงกายเป็นแดร็กควีนนั้น เขาบอกว่า ใช้ช่วงเวลาเลิกงานเพียง 1 ชั่วโมงในการแปลงร่าง ใส่ ‘ส้นสูง’ เพื่อขับเคลื่อนสังคมในอีกบทบาทหนึ่ง โดยไม่แทรกแซงเบียดบังงานประจำ
วันที่ 24 พ.ย. 2562 การประกวดมิสเตอร์เกย์ฯ จะจัดขึ้นรอบ Final ณ โรงละคร แมมโบ้ พระราม 3 ลูกหิน แซมมี่ และปังปอนด์ คาดหวังว่า คนใดคนหนึ่งจะทะลุเข้ารอบ 10 คนสุดท้าย เป็นตัวแทน LGBTQ ที่มีความสาว แต่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังแห่งจิตอาสา
ส้นสูงของพวกเขาจะพาไปสู่ฝั่งฝันหรือไม่ ร่วมให้กำลังใจ เวลา 18.00 น. เป็นต้นไป ผ่านแฟนเพจ Mr.GayWorldThailand2020 .
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/