ไบโอไทย จี้รัฐประกาศให้ชัด เลือกทางไหนจัดการสารเคมีที่ถูกแบน
ไบโอไทย จี้รัฐประกาศให้ชัด เลือกทางไหนจัดการสารเคมีที่ถูกแบน หลังกรมวิชาการเกษตร ระบุ มีสต๊อกค้างกว่า 3.8 หมื่นตัน
หลังจากคณะกรรมการวัตถุอันตราย ได้มีมติเมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2562 ให้ยกเลิกการใช้วัตถุอันตรายจำนวน 3 ชนิด คือ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส โดยมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ธ.ค. 2562 ห้ามผลิต นำเข้า ส่งออก ขาย และครอบครอง
ต่อเมื่อวันที่ 18 พ.ย.ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งกรมวิชาการเกษตร ให้ผู้ที่ มีวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ไว้ในครอบครองต้องแจ้ง และส่งมอบให้เจ้าหน้าที่ ภายใน 15 วัน
ขณะที่ประเด็นการใช้งบประมาณทำลายสารเคมีทั้ง 3 ชนิด กรมวิชาการเกษตร ระบุว่า ตัวเลข ณ วันที่ 12 พ.ย. 2562 มีจำนวนสารเคมีคงเหลือประมาณ 38,855 ตัน และที่ผ่านประสบการณ์จากการทำลายวัตถุอันตรายที่นำเข้ามาโดยผิดกฎหมาย ในปี 2561 ก็ได้ว่าจ้างให้บริษัทอัคคีปราการ เผาทำลายวัตถุอันตรายในราคา 1 แสนบาท/ตัน (อ่านประกอบ:แพร่คำสั่งกรมวิชาการเกษตร มี 3 สารเคมีกำจัดวัชพืชในครอบครอง ต้องส่งมอบภายในสิ้นปี)
ล่าสุด มูลนิธิชีววิถี หรือไบโอไทย ให้ข้อมูลถึง การจัดการสารเคมีที่ถูกแบนในแต่ละประเทศ จะมีวิธีการจัดการแตกต่างกันไป ส่วนใหญ่จะใช้วิธีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดการใช้เอาไว้อย่างชัดเจน มีระยะเวลาประมาณ 1-2 ปี บางประเทศบริษัทเอกชนต้องเป็นผู้รับซื้อผลิตภัณฑ์คืนและส่งกลับคืนต้นทาง ตัวอย่างเช่น กรณีรัฐบาลเคนยาแบนคาร์โบฟูราน บริษัทเอฟเอ็มซีต้องรับซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจากเกษตรกรและร้านค้าย่อย
ในกรณีประเทศไทยมีข้อเสนอของหลายฝ่ายให้บริษัทผู้นำเข้าและจำหน่ายรวบรวมผลิตภัณฑ์โดยอาจส่งกลับต้นทางหรือส่งออกไปยังประเทศที่สาม มีข้อเสนอจากบางฝ่ายให้ผ่อนผันแก่เอกชนจำหน่ายแก่เกษตรกร หรือให้เกษตรกรที่ครอบครองอยู่ใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวที่เหลือจากสต็อคจนกว่าจะหมด
และมีการเสนอข้อมูล ในกรณีที่ต้องให้เอกชนหรือรัฐเป็นผู้รับผิดชอบทำลาย ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายพอสมควร ส่วนทางเลือกไหนที่เหมาะสมกับประเทศไทย ภาครัฐก็ควรประกาศอย่างชัดเจนให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องเขารู้ว่าต้องทำอะไรบ้างในระหว่างนี้
แม้ปัจจุบันกรมวิชาการเกษตรยังไม่ได้มีการเสนอรายชื่อบริษัทใดที่จะกำจัดสารเคมีทั้ง 3 ชนิดก็ตาม สำนักข่าวอิศรา (https://www.isranews.org/) ตรวจสอบพบว่า สำหรับบริษัท อัคคีปราการ จำกัด (มหาชน) ที่กรมวิชาการเกษตรเคยว่าจ้างให้เผาทำลายวัตถุอันตรายมาก่อนนั้น พบว่า เป็นผู้ประกอบการเกี่ยวกับศูนย์บริหารจัดการวัสดุเหลือใช้อุตสาหกรรม โดยการกำจัดด้วยวิธีเผาท่าลายที่ถูกต้อง และปลอดภัยต่อสิ่งเเวดล้อม มี่เทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยมีนายอุทัย จันทิมา เป็นประธานกรรมการ และนายวันชัย เหลืองวิริยะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ โดยบริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ตั้งอยู่ใน นิคมอุตสาหกรรมบางปู ตำบลบางปูใหม่ อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ
ขณะที่เมื่อย้อนตรวจสอบฐานข้อมูลการการจัดจ้างซื้อจัดจ้างย้อนหลัง พบ 11 สัญญา ที่หลายหน่วยงานรัฐ เคยว่าจ้างบริษัท อัคคีปราการฯ ขนส่งบำบัด กำจัดน้ำเสีย กำจัดของเสีย รวมวงเงินกว่า 23 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดดังนี้
1.ปี 2555 สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้จ้างบริษัทอัคคีปราการ (มหาชน) ทำงานดำเนินการบำบัด/กำจัดสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุทีไม่ใช้แล้วเกิดจากการลักลอบทิ้งอันเนื่องมาจากเหตุอุทกภัย โดยวิธีเผาในเตาเผาสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วเป็นอันตราย ใช้งบประมาณ 950,000 บาท
2.ปี 2556 โรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง ได้จ้างบริษัท อัคคีปราการ จำกัด (มหาชน) จ้างขนย้ายและทำลายซากบรรจุภัณฑ์ เคมีเกษตร และวัตถุมีพิษใช้งบประมาณ 2.9 ล้านบาท
3.ปี 2557 องค์การเภสัชกรรม ได้จ้างบริษัท อัคคีปราการ จำกัด (มหาชน) ขนส่งบำบัดและกำจัดน้ำเสียจากรง.รังสิต ใช้งบประมาณ1.6 ล้านบาท
4.ปี 2558 การท่าเรือแห่งประเทศไทย ได้จ้างบริษัท อัคคีปราการ จำกัด (มหาชน) เหมาจำกัดขยะของเสียอันตรายและสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วภายในเขตท่าเรือแหลมฉบัง ใช้งบประมาณ 1.1 ล้านบาท
5.ปี 2558 องค์การเภสัชกรรม ได้จ้างบริษัท อัคคีปราการ จำกัด (มหาชน) ขนส่ง บำบัด กำจัดของเสีย ใช้งบประมาณ 1.4 ล้านบาท
6.ปี 2560 สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ได้จ้างบริษัท อัคคีปราการ จำกัด (มหาชน) เหมาเก็บขยะสารเคมีอันตรายภายในสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ใช้งบประมาณ 1.5 ล้านบาท
7.ปี 2560 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ได้จ้าง บริษัท อัคคีปราการ จำกัด (มหาชน) เคลื่อนที่ย้ายและเผาทำลายสารเคมี เมทิลีนคลอไรด์ กรมไฮโดรคลอริก และโซเดียมคาร์บอเนต ใช้งบประมาณ 1.6 ล้านบาท
8.ปี 2560 บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้จ้างบริษัท อัคคีปราการ จำกัด (มหาชน) ขนส่งและกำจัดกากของเสียจาก bullettank PTT ใช้งบประมาณ 10 ล้านบาท
9.ปี 2560 สำนักสิ่งแวดล้อม ได้จ้าง บริษัท อัคคีปราการ จำกัด (มหาชน) เหมาเอกชน กำจัดขยะมูลฝอยอันตรายระยะที่ 2 ใช้งบประมาณ 7,000 บาท
10.ปี 2560 สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ได้จ้างบริษัท อัคคีปราการ จำกัด เหมาเก็บขยะสารเคมีอันตรายในสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ใช้งบประมาณ 1.5 ล้านบาท
11.ปี 2561 กรมส่งเสริมการเกษตร ได้จ้างบริษัท อัคคีปราการ จำกัด กำจัดภาชนะบรรจุสารเคมี โครงการป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าว (หนอนตัวดำ) ด้วยวิธีผสมผสานแบบคลอบคลุมพื้นที่ โดยการมีส่วนร่วมแบบยั่งยืน ใช้งบประมาณ 1 ล้านบาท
นอกจาก บริษัทอัคคีปราการฯ แล้ว ปี 2561 กรมวิชาการเกษตร ยังได้มีว่าจ้าง บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) กำจัดวัตถุอันตรายที่ทะเบียนหมดอายุและของกลางในคดีถึงที่สุดแล้ว วงเงิน 5 ล้านบาท
สำหรับบมจ.เบตเตอร์ เวิลด์ กรีนฯ เป็นบริษัทผู้ให้บริการด้านการจัดการกากอุตสาหกรรมอย่างครบวงจร ทั้งที่มีอันตรายและไม่มีอัตราย และด้านการนำกลับมาใช้ประโยชน์ด้านพลังงานทดเเทน มีนายสุวฒน์ เหลืองวิริยะ เป็นประธานบริษัท เเละเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ มีศูนย์บริหารและจัดการกากอุตสาหกรรม ตั้งอยู่อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ซึ่งที่ผ่านมาหลายหน่วยงานของรัฐได้ทำสัญญาว่าจ้าง กำจัด ขนย้ายซากเศษวัสดุที่เหลือจากการผลิต กำจัดวัตถุอันตราย กำจัดสารเคมีเสื่อมสภาพ และขยะมูลฝอย เช่น โรงงานยาสูบ กรมวิชาการเกษตร บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) กรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/