ปัญหาของส้วม : สุขอนามัยบนความไม่เท่าเทียม
"...การที่คนนับร้อยล้านคนทั่วโลกยังไม่สามารถเข้าถึงส้วม แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของการดำรงชีวิตของมนุษย์ซึ่งน่าจะหมายรวมถึงความไม่เท่าเทียมต่อมาตรฐานความเป็นมนุษย์ด้วยเช่นกัน ส้วมจึงมิได้หมายถึงสถานที่สำหรับขับถ่ายแต่เพียงอย่างเดียว แต่ส้วมคือ ห้องแห่งความปลอดภัย เป็นสถานที่ที่ให้โอกาสแก่ทุกคนได้ใช้ประโยชน์และยกระดับความเป็นมนุษย์ของทุกคนบนโลก..."
ดร.มาร์ช ฟอง ยู กำลังใช้ค้อนทุบทำลายโถส้วมหน้าศาลากลางรัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อปี 1969
วันที่ 19 พ.ย. ของทุกปีถือเป็น วันส้วมโลก (World Toilet Day) ตามประกาศขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมเพื่อตอบสนองต่อ เป้าหมาย การพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก ข้อ 6 (Sustainable Development Goal 6 : SDG 6) ว่าด้วย การทำให้โลกนี้มีน้ำใช้และมีการบริหารจัดการน้ำและสุขาภิบาลที่ยั่งยืนสำหรับทุกคนภายในปี 2030 ซึ่งรวมถึงเป้าหมายที่จะให้ประชากรโลกมีส้วมที่ปลอดภัยและไม่มีใครต้องขับถ่ายกลางแจ้งอีกต่อไป
แนวคิดหลักของกิจกรรมวันส้วมโลกของปี 2019 ได้แก่ “จะไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง" (Leaving no one behind) อันเป็นแนวคิดที่สอดคล้องกับความพยามขององค์กรต่างๆเพื่อช่วยให้ทุกคนสามารถเข้าถึงสุขอนามัยที่ดีอย่างทั่วถึง
ปัจจุบันโลกมีประชากรราว 7,600 ล้านคน แต่พบข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อว่ามีคนกว่า 4,200 ล้านคนหรือราว 60 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลกใช้ชีวิตประจำวันที่ขาดการจัดการด้านสุขอนามัยที่ดีและพบว่าประชากรโลกเกือบ 700 ล้านคน ต้องขับถ่ายกันกลางแจ้ง เช่น ในทุ่งนา ข้างถนน และตามพุ่มไม้
การที่คนนับร้อยล้านคนทั่วโลกยังไม่สามารถเข้าถึงส้วม แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของการดำรงชีวิตของมนุษย์ซึ่งน่าจะหมายรวมถึงความไม่เท่าเทียมต่อมาตรฐานความเป็นมนุษย์ด้วยเช่นกัน ส้วมจึงมิได้หมายถึงสถานที่สำหรับขับถ่ายแต่เพียงอย่างเดียว แต่ส้วมคือ ห้องแห่งความปลอดภัย เป็นสถานที่ที่ให้โอกาสแก่ทุกคนได้ใช้ประโยชน์และยกระดับความเป็นมนุษย์ของทุกคนบนโลก
ดังนั้นปัญหาเรื่องส้วมของมนุษย์จึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลย เพราะประเทศใดก็ตามที่ปล่อยให้ประชาชนขาดการเข้าถึงส้วมที่สะอาดหรือยังมีผู้คนต้องขับถ่ายกัน ข้างถนน ในพุ่มไม้ หรือกลางทุ่งนา จึงสะท้อนถึงสภาวะสุขอนามัยและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชนในประเทศนั้นๆ รวมทั้งอาจนำไปสู่ความไม่ปลอดภัยต่างๆทั้งจากสัตว์และมนุษย์เอง ดังเช่นเหตุการณ์เศร้าสลดที่เด็กหญิงสองคนถูกตีถึงตายในประเทศอินเดียเพราะการขับถ่ายกลางแจ้งเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
ประเทศไทยเป็นหนึ่งในหลายประเทศที่ถือว่าประชาชนมีสุขอนามัยที่ดีรวมทั้งการเข้าถึงส้วมของผู้คนถือว่าจัดอยู่ในขั้นดีเมื่อเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆหรือแม้แต่ประเทศที่พัฒนาแล้วก็ตาม หลายประเทศก็ยังสู้ประเทศไทยไม่ได้ในเรื่องการเข้าถึงส้วม เพราะคนไทยรู้จักการใช้ส้วม ที่เป็นกิจจะลักษณะมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยและได้พัฒนาต่อมาในทุกยุคทุกสมัยโดยเฉพาะเมื่อวัฒนธรรมการใช้ส้วมของตะวันตกเริ่มเข้ามาในเมืองไทยรูปแบบของส้วมจึงปรับเปลี่ยนไป รวมทั้งได้มีการเริ่มจัดสร้างส้วมสาธารณะขึ้นตั้งแต่รัชสมัยรัชการที่ 5 และออกพระราชกำหนดสุขาภิบาลกรุงเทพ ร.ศ. 116 มีผลบังคับให้คนไทยต้องขับถ่ายในส้วมและมีการออกกฎหมายอื่นเพิ่มเติมในภายหลัง อีกทั้งยังมีแผนแม่บทพัฒนาส้วมสาธารณะไทยระยะต่างๆเพื่อยกระดับการใช้ส้วมของคนไทยให้ได้มาตรฐานไม่ส่งผลกระทบต่ออาการทางร่างกายที่อาจเกิดขึ้นตามมาจากการใช้ส้วมที่ไม่ถูกสุขลักษณะอีกด้วย
การที่เมืองไทยไม่ขาดส้วมและผู้คนสามารถเข้าถึงส้วมได้อย่างไม่ยากเย็นไม่ว่าจะอยู่แห่งหนใดก็ตาม จึงน่าจะพูดได้ว่าคนไทยเข้าใจถึงความสำคัญของระบบสุขอนามัยและเข้าใจในความทุกข์ของคนที่ต้องการใช้ส้วมเป็นอย่างดี นอกจากนี้การมีพื้นฐานด้านสุขอนามัยที่ดีของคนไทย ซึ่งนอกจากความเอาใจใส่ต่อกิจการสาธารณสุขของรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยแล้ว การได้รับความช่วยเหลือ ทางการแพทย์และสาธารณสุขจาก มูลนิธิ ร็อกกี้เฟลเลอร์ ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลเอกชนของสหรัฐอเมริกาที่มีการส่งเสริมให้มีการจัดสร้างส้วมในจังหวัดต่างๆและประดิษฐ์คิดค้นส้วมรูปแบบต่างๆที่เหมาะสมกับท้องถิ่นของบ้านเราในช่วงปี พ.ศ.2460 - พ.ศ. 2471 จึงเป็นส่วนหนึ่งของการวางรากฐานสำคัญสำหรับประเทศไทยต่อสุขอนามัยของประชาชนอย่างทั่วถึงและเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนไทยมีสุขอนามัยเรื่องส้วมที่ถือว่าอยู่ในระดับดีทัดเทียมนานาชาติ
การมีบทบาทในการเป็นเจ้าภาพจัดงานแสดงนิทรรศการส้วมโลกของประเทศไทยเมื่อปี 2549 รวมทั้งกิจกรรมการประกวดส้วมที่กระทำกันมาอย่างต่อเนื่องในโอกาสต่างๆ น่าจะเป็นแรงเสริมสำคัญอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้คนไทยเห็นความสำคัญของส้วมและตื่นตัวต่อการอำนวยความสะดวกแก่ผู้คนให้สามารถเข้าถึงส้วมได้อย่างไม่ยากลำบากและมีความเท่าเทียมกัน นับตั้งแต่ส้วมของสถานที่ราชการ โรงแรม สถานีรถไฟ ปั๊มน้ำมัน สถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหาร ตลาดนัด วัด โรงเรียนหรือแม้แต่การชุมนุมของกลุ่มต่างๆ มีการจัด สุขาเคลื่อนที่ หญิง-ชาย ให้ใช้กันได้อย่างสะดวก ห้างสรรพสินค้าบางแห่งถึงกับลงทุนใช้โถส้วมอัตโนมัติแบบมีทั้ง น้ำเย็น-น้ำอุ่น ที่ใช้กันมากตามโรงแรมในญี่ปุ่นมาติดตั้งเพื่อบริการลูกค้าทั่วไปในห้างและดูแลเรื่องความสะอาดอย่างดีเยี่ยมซึ่งนับว่าเป็นการให้ความสำคัญกับส้วมสำหรับผู้ใช้บริการทั่วไปซึ่งหาได้ไม่ง่ายนักในประเทศอื่น
ปัญหาเรื่องการเข้าถึงส้วมมิใช่เกิดขึ้นเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาหลายต่อหลายประเทศเท่านั้น แม้แต่ประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งถือว่าเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วและเป็นประเทศแนวหน้าอันดับหนึ่งของโลกก็ยังมีปัญหาพื้นฐานเกี่ยวกับสุขอนามัยเรื่องส้วมที่คนจำนวนหนึ่งเข้าไม่ถึง และกลายเป็นเรื่องความไม่เท่าเทียมที่มีการต่อสู้กันมาอย่างยาวนานตั้งแต่ในอดีตเมื่อกว่า 50 ปีที่ผ่านมาและยังเป็นปัญหาคาราคาซังมาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้
เมื่อปี 1969 ดร. มาร์ช ฟอง ยู (March Fong Eu ) อดีตเลขานุการรัฐแคลิฟอร์เนีย เป็นผู้นำขบวนสตรีจากสมัชชาสตรีแห่งแคลิฟอร์เนีย ออกมาประท้วงเรื่องความไม่เท่าเทียมของการใช้ส้วมสาธารณะซึ่งปฏิบัติต่อผู้หญิงด้วยความไม่เท่าเทียมเนื่องจากมีการเก็บเงินสำหรับการใช้ห้องส้วมของผู้หญิง แต่กลับไม่เก็บเงินสำหรับการใช้โถปัสสาวะของผู้ชาย ในวันนั้น ดร.ยู ได้โชว์พลังโดยการใช้ค้อนทุบทำลายโถส้วมที่หน้าศาลากลางรัฐแคลิฟอร์เนีย เมืองซานคราเมนโต้ จนแตกกระจาย ท่ามกลางกองเชียร์สุภาพสตรีที่แน่นขนัด
มิใช่แค่กลุ่ม สมัชชาสตรีแห่งแคลิฟอร์เนีย เท่านั้นที่ออกมาเรียกร้องให้ยุติการเก็บเงินการใช้ส้วมสาธารณะ ยังมีคนกลุ่มอื่นๆ เช่น กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า คณะกรรมการเพื่อการยกเลิกการจ่ายเงินสำหรับการใช้ส้วมในอเมริกา (CEPTIA : the Committee to End Pay Toilets in America) ก็มีส่วนร่วมในการผลักดัน เพื่อให้ยกเลิกการเก็บเงินสำหรับการใช้ส้วมด้วยเช่นกัน
แม้ว่าการเรียกร้องให้มีการยกเลิกการเก็บเงินเพื่อการใช้ส้วมสาธารณะจะได้รับความสำเร็จในหลายต่อหลายรัฐ แต่ชัยชนะของผู้เรียกร้องกลับกลายเป็นชัยชนะบนความพ่ายแพ้ เพราะวิสัยทัศน์ ส้วมสาธารณะฟรีสำหรับทุกคน ของกลุ่มผู้ประท้วง ไม่เคยประสบความสำเร็จ เนื่องจากเมืองต่างๆปฏิเสธที่จะสร้างส้วมสาธารณะฟรี แถมยังปล่อยให้ส้วมสาธารณะที่มีอยู่เดิมอยู่ในสภาพที่ทรุดโทรมขาดการบำรุงรักษา ทำให้คนจำนวนมากในสหรัฐอเมริกาซึ่งมีทั้ง สตรีมีครรภ์ คนขับแท็กซี่และคนไร้บ้านยังไม่สามารถเข้าถึงส้วมได้อย่างทั่วถึง มาจนถึงทุกวันนี้และเป็นปัญหาน่าอับอายที่คนอเมริกันมักหยิบยกมากล่าวถึงเสมอเมื่อถึงวันส้วมโลก
จากการสำรวจของผู้แทนจากกลุ่ม ผู้ริเริ่มเพื่อส้วมสาธารณะในดาวน์ทาว วอชิงตัน ดีซี ( Downtown Washington D.C. Public Restroom Initiative) ที่ได้สำรวจ ร้านอาหารและร้านกาแฟจำนวน 85 แห่งใน วอชิงตัน ดีซี สหรัฐอเมริกา ในช่วง 3 เดือน ระหว่างปี 2014 และ 2015 ผู้สำรวจได้ถามคำถามแก่เจ้าของร้านอาหารและร้านกาแฟเพียงคำถามเดียวว่า “ คุณจะให้เราใช้ส้วมของร้านได้หรือไม่? ” ผลปรากฏว่าร้านส่วนใหญ่ไม่ยินยอมที่จะให้ผู้สำรวจใช้ส้วมในร้านของตัวเอง โดยพบว่ามีร้านเพียง 43 เปอร์เซ็นต์ หรือราว 36 ร้าน เท่านั้นที่ยอมให้ผู้สำรวจใช้ส้วมได้ ผลสำรวจในเรื่องเดียวกัน ด้วยคำถามเดียวกันในปี 2016 พบว่าร้านเดิมที่เคยปฏิเสธ ยอมให้ผู้สำรวจใช้ส้วมได้ 28 ร้าน และ ในปี 2017 ตัวเลขลดลงเหลือ 11 ร้าน
ผลสำรวจดังกล่าวน่าจะสะท้อนถึงระดับความเห็นอกเห็นใจต่อความทุกข์ของผู้ต้องการใช้ส้วมของคนอเมริกันที่ดูเหมือนว่าจะแตกต่างจากเมืองไทยอยู่ค่อนข้างมาก เพราะในบ้านเราเมื่อใครก็ตามเอ่ยปากถามถึงห้องสุขา คำตอบที่ได้รับมักจะทำให้ผู้ถามคลายทุกข์ไปได้ในทันที
ความมีน้ำใจของคนไทยต่อคนที่กำลังมีความทุกข์เมื่อต้องการใช้ส้วมนับเป็นคุณสมบัติที่หาได้ยากในประเทศอื่น ประเทศไทยจึงถือเป็นหนึ่งในประเทศไม่กี่แห่งในโลกที่มีจุดเด่นในเรื่องส้วมที่อาจพูดได้เต็มปากว่าส้วมคือของดีที่ประเทศไทยสามารถจะอวดชาวโลกได้อย่างไม่อายใคร
อ้างอิง
3. http://www.un.org/en/events/toiletday/assets/pdf/WTD2018_fact_sheet_EN.pdf