เปิด 611 จุดกทม. เสี่ยงถูกคุกคามทางเพศ- มธ. รังสิต ตื่นตัวแจ้งมากสุด 288 หมุด
เครือข่ายเมืองปลอดภัยฯ เปิดข้อมูล 611 จุดเสี่ยง ‘คุกคามทางเพศ’ พื้นที่ กทม.-ปริมณฑล พบ มธ. รังสิต ตื่นตัวเเจ้งมากที่สุด 288 หมุด ประสาน ตร. -หน่วยงานรัฐ แก้ไขปัญหา
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่าวันที่ 16 พ.ย. 2562 เครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง จัดแถลงข่าวเปิดข้อมูล 611 จุดเสี่ยงต่อการคุกคามทางเพศในพื้นที่กรุงเทพฯ พร้อมเปิดตัวแนวร่วมภาคีเครือข่ายจากหน่วยงานภาครัฐและเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะนำข้อมูลไปแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากโครงการ “ปักหมุดจุดเผือก” ณ ลาน M ศูนย์การค้าเดอะ มาร์เก็ต แบงคอก
โดยโครงการฯ เริ่มเก็บข้อมูลมาเป็นระยะเวลา 2 เดือน ผลปรากฎว่า มีประชาชนร่วมกันปักหมุดผ่านโปรแกรม Chat bot ในแอพพลิเคชั่นไลน์ (อ่านประกอบ:เรียนลัดวิธีปักหมุดจุดเสี่ยงผ่านเเอพพลิเคชั่นไลน์ @traffyfondue) ทั้งสิ้น 611 จุด จากเป้าหมาย 500 จุด มีดังต่อไปนี้
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต 288 หมุด, ลุมพินี สะพานเขียว ซอยร่วมฤดี ซอยโปโล 114 หมุด โดยเป็นการปักหมุดในพื้นที่บริเวณ ชุมชนสะพานเขียว ถนนวิทยุ ซอยร่วมฤดีซอยโปโล, ราชเทวี-พญาไท ถนนเพชรบุรี 75 หมุด โดยเป็นการปักหมุดในพื้นที่บริเวณเพชรบุรีซอย 5 เพชรบุรีซอย 7, บางขุนเทียน 33 หมุด โดยเป็นการปักหมุดในพื้นที่บริเวณ ชุมชนเคหะ ธนบุรี 3 บริเวณพระราม 2 ซอย 60 และสถานีรถไฟรางสะแก
มักกะสัน 32 หมุด เป็นการปักหมุดในพื้นที่บริเวณ ถนนนิคมมักกะสัน, บางซื่อ 25 หมุด เป็นการปักหมุดในพื้นที่บริเวณทางรถไฟประชาชื่น , สะพานควาย 10 หมุด โดยเป็นการปักหมุดในพื้นที่บริเวณ ซอยพหลโยธิน ซอยอินทามระ 45, ดินแดง-อนุสาวรีย์ 4 หมุด เป็นการปักหมุดในพื้นที่บริเวณถนนราชวิถี
จรัญสนิทวงศ์ 11 หมุด เป็นการปักหมุดในพื้นที่บริเวณ ซอยจรัญสนิทวงศ์ 34 และซอยจรัญสนิทวงศ์ 1,ประชานิเวศน์-ประชาอุทิศ 6 หมุด เป็นการปักหมุดในพื้นที่ซอยประชานิเวศน์ 3 ซอยรามคำแหง 21, ลาดกระบัง 5 หมุด เป็นการปักหมุดในพื้นที่ สถานีรถไฟพระจอมเกล้า, บางกรวย 4 หมุด เป็นการปักหมุดในพื้นที่ คลองบางกอกน้อย, และรัชดาภิเษก 4 หมุด ซึ่งเป็นการปักหมุดในพื้นที่รัชดาซอย 4
สำหรับลักษณะพื้นที่มีผู้ปักหมุดจุดเสี่ยงต่อการคุกคามทางเพศมากที่สุด คือ ทางเดินและซอย ร้อยละ 39, รองลงมา สะพาน ร้อยละ 16 , ริมถนน ร้อยละ 15, ใต้ตึก ร้อยละ 13, อาคารร้าง ร้อยละ 7, ทางเดินริมคลอง ร้อยละ 7, สะพานลอย ร้อยละ 3, สวนสาธารณะ ร้อยละ 1 และทางจักรยาน ร้อยละ 1 และ 7 อันดับจุดเสี่ยงต่อการคุกคามทางเพศมากที่สุด 1. จุดที่ขาดการบำรุงรักษา ร้อยละ 23, ไฟสว่างไม่เพียงพอ ร้อยละ 23, จุดอับสายตา ร้อยละ 15 , ทางเปลี่ยว ร้อยละ 14, ทางแคบทางตัน ร้อยละ 13, ไม่มีป้ายบอกทาง ร้อยละ 9, ไกลจากป้ายรถเมล์ วิน สถานี ร้อยละ 3
ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท เครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง กล่าวว่า โครงการปักหมุดจุดเผือกจัดตั้งเพื่อสร้างความตระหนักให้แก่สังคมว่าการคุกคามทางเพศในพื้นที่สาธารณะเป็นปัญหาสำคัญ เราจึงชวนประชาชนเข้ามาร่วมกันส่งข้อมูลจุดเสี่ยงผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากประชาชนและหน่วยงานต่าง ๆ จำนวนมาก แม้ขณะนี้มีการแจ้งเข้ามา 611 หมุดแล้ว แต่โครงการยังคงเปิดรับข้อมูลต่อไป
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ได้รับการแจ้งเตือนปักหมุดมากที่สุด ซึ่งไม่ได้หมายความว่า มีความเสี่ยงมากที่สุด แต่เป็นพื้นที่มีความตื่นตัว โดยเฉพาะในกลุ่มนักศึกษา จากคณะสาธารณสุขศาสตร์ และกลุ่มธรรมศาสตร์ โซเซียล เชนจ์ เมกเกอร์ ช่วยกันระดมนักศึกษาสำรวจจุดเสี่ยง โดยมหาวิทยาลัยรับข้อมูลนำไปปรับปรุงพื้นที่ในส่วนกายภาพและสร้างความตระหนักกับนักศึกษาต่อไป
ผู้แทนเครือข่ายเมืองปลอดภัยฯ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เครือข่ายยังร่วมนำร่องพัฒนารณรงค์ที่ “สะพานเขียว” เขตปทุมวัน ภายใต้การดูแลของ สน.ลุมพินี ซึ่งเป็นสะพานทางเดินและทางจักรยานเชื่อมระหว่างสวนลุมพินีและสวนเบญจกิติ มาร่วมกันปักหมุดด้วย
โดยพื้นที่มีผู้รายงานเข้ามา จะเป็นทางเดิน สะพาน ซอยต่าง ๆ แต่จุดเสี่ยงอันดับแรกเป็นทางที่ไม่ได้รับการดูแล ทำให้ผู้สัญจรผ่านไปมารู้สึกไม่ปลอดภัย มีการติดตั้งแสงสว่างไม่เพียงพอ ลับสายตา มีจุดอับ เป็นต้น
ส่วนความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ นั้น ดร.วราภรณ์ ระบุมีความคาดหวังหน่วยงานดูแลในพื้นที่เฉพาะ และสถานีตำรวจนครบาล ซึ่งรับปากจะรับข้อมูลจากพื้นที่เสี่ยงและเพิ่มความถี่ในการตรวจตราพื้นที่รับแจ้งว่าเป็นจุดเสี่ยง อีกทั้งยังร่วมมือกับตำรวจบ้านในชุมชนต่าง ๆ เพราะมองว่า ความเสี่ยงในการถูกคุกคามทางเพศนั้นจะรอหน่วยงานภาครัฐอย่างเดียวไม่เพียงพอ จำเป็นต้องให้คนในชุมชนของพื้นที่นั้นเข้ามาดูแลด้วย
“เราจะนำข้อมูลทั้งหมดกลับมาประมวลอีกครั้งหนึ่ง เพื่อดูว่าจะทำอะไรต่อได้ในก้าวต่อไป ประการหนึ่งที่ให้ความสำคัญ คือ การทำงานร่วมกับชุมชน โดยชุมชนใดมีจุดเริ่มต้น มีผู้ตระหนัก มีส่วนร่วม จะลองเข้าไปคุยว่าจะทำอะไรที่เสริมความสามารถของชุมชนในการดูแลพื้นที่ได้มากขึ้น” ผู้แทนเครือข่ายเมืองปลอดภัยฯ กล่าว
ด้านพ.ต.อ.กัมพล รัตนประทีป ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลลุมพินี เปิดเผยถึงจุดเริ่มต้นในการร่วมโครงการฯ ว่าครั้งแรกที่ได้รับการประสานงานเข้ามา มีการนำเสนอแนวคิดในการทำเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง โดยรับทราบข้อมูลว่า ปัจจุบันมีผู้หญิงร้อยละ 86 เคยถูกคุกคามทางเพศไม่มากก็น้อย ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าตกใจมาก และเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่เคยทราบข้อมูลเหล่านี้เลย แต่เราจะทราบข้อมูลต่อเมื่อมีการนำเสนอข่าว มีผู้แจ้ง จึงจะมีฐานข้อมูลนำไปวางแผนป้องกันอาชญากรรม ดังนั้น ข้อมูลที่เครือข่ายฯ พบนั้น ภาษาตำรวจเรียกว่า “ข้อมูลรั่ว” หมายถึง ไม่ทราบเลย ทำให้ขาดการป้องกัน ส่งผลให้การคุกคามทางเพศจึงยังมีอยู่
“ผมไม่ลังเลในการเข้ามามีส่วนร่วม แต่อยากให้เข้าใจแนวคิดว่า ตำรวจไม่ได้เป็นฮีโร่ของสังคม แต่ประชาชนต่างหากที่เปรียบเสมือนตำรวจในการช่วยกันระมัดระวังป้องกันภัยด้วยตัวเอง ดังนั้น เมื่อปักหมุดเข้ามาแล้ว เฉพาะพื้นที่ สน.ลุมพินี พบจุดที่มีความเสี่ยงเกิดขึ้นมากถึง 114 จุด ดังนั้น ต่อจากนี้จะนำข้อมูลมาสกัดหาวิธีการป้องกัน แต่อยากเน้นย้ำว่า การป้องกันเหตุ ต้องเริ่มจากประชาชน ตำรวจ เจ้าของพื้นที่ ภาคีเครือข่าย ปรับสภาพแวดล้อม และนำเทคโนโลยีมาใช้ ตามลำดับ” ผู้กำกับการ สน.ลุมพินี กล่าว
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ:ชวนปักหมุด #ทีมเผือก ลดเสี่ยง หลังหญิงไทย 86% เคยถูกคุกคามทางเพศบนถนน