2 ทศวรรษ ป.ป.ช.! 'วัชรพล' โชว์วิสัยทัศน์สู่เบญจเพส ขีดเส้น 2 ปี สางคดีเก่า1.4 หมื่นเรื่อง
“...วิสัยทัศน์ข้างหน้าของ ป.ป.ช. มองได้เป็น 2 ช่วง คือ หลังจากนี้ต่อไปเป็นเวลา 2 ปี ป.ป.ช. จะดำเนินการสะสางเรื่องเก่าที่ค้างไว้ให้หมด โดยพยายามทำให้ดีที่สุดเท่าที่พยานหลักฐานมี อีกทั้ง ดำรงความเป็นธรรมให้มากที่สุด เพื่อมุ่งมั่นไปทำเรื่องใหม่ ซึ่งขณะนี้ มีเรื่องที่รับเข้ามาหลังประกาศใช้กฎหมายใหม่ประมาณ 800 เรื่องแล้ว ต่อมาคือ อีก 3 ปี ถัดจากช่วง 2 ปีดังกล่าว ป.ป.ช. จะเป็นองค์กรที่กระฉับกระเฉง เข้มแข็งมีประสิทธิภาพ ทำการเชิงรุกในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการบังคับใช้กฎหมาย การตรวจสอบทรัพย์สิน กลไกการป้องปราม และการปลูกฝังค่านิยมที่จะไม่ยอม ไม่ทน ไม่เฉย สร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต เพื่อพิสูจน์วิสัยทัศน์ประเทศไทย ที่ว่า ประเทศไทยใสสะอาด ไทยทั้งชาติต้านทุจริต...”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2562 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวแสดงวิสัยทัศน์ในหัวข้อ “2 ทศวรรษ สำนักงาน ป.ป.ช. สู่อนาคต” เนื่องในโอกาสวันสถาปนาสำนักงาน ป.ป.ช. ครบรอบ 20 ปี กิจกรรมภายใต้แนวคิด “2 ทศวรรษ ป.ป.ช. ก้าวสู่องค์กรดิจิทัล”
"รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ได้กำหนดเงื่อนไขการทำงานเกี่ยวกับปัญหาการทุจริตเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก แทบจะเปลี่ยนแปลงบริบทการทำงาน ทำให้ ป.ป.ช. ต้องเปลี่ยนโครงสร้าง และมีการกำหนดระยะเวลาในการทำงาน จากเดิมที่ไม่มีกากำหนดระยะเวลาในการไต่สวนหรือการดำเนินคดีของเจ้าพนักงาน ป.ป.ช. โดยปัจจุบัน ป.ป.ช. ต้องทำให้เสร็จสิ้นภายใน 2 ปี และขยายเวลาได้ไม่เกิน 1 ปี รวมเป็น 3 ปี
ระยะเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมา การทำงานของ ป.ป.ช. ส่วนใหญ่เป็นการทำงานในเชิงรับ เรื่องกล่าวหาที่เข้าสู่ ป.ป.ช. มีปริมาณมากกว่าเรื่องที่สามารถทำได้เสร็จ ในปี 2558 เรื่องทำเสร็จมีจำนวน 1,619 เรื่อง ปี 2559 เพิ่มเป็น 2,411 เรื่อง ปี 2560 เป็น 3,549 เรื่อง และปี 2561 เป็น 3,752 เรื่อง โดยปี 2562 นี้ ป.ป.ช. ทำทั้งหมด 4,804 เรื่อง อย่างไรก็ตามนัยที่มากขึ้น ยังมีปัญหาอยู่บ้าง
เรื่องที่ค้างมีอีก 14,532 เรื่อง แบ่งเป็น แสวงหาข้อเท็จจริงตรวจสอบ 11,507 เรื่อง เรื่องไต่สวนข้อเท็จจริง 3,025 เรื่อง โดยประมาณ 2,200 เรื่อง เป็นเรื่องที่ ป.ป.ช. รับเรื่องไต่สวนไว้ก่อนวันที่ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มีผลบังคับใช้ ในวันที่ 22 ก.ค. 2561 ซึ่ง 2,200 เรื่องดังกล่าว กฎหมายกำหนดเงื่อนไขว่า ป.ป.ช. จะต้องทำให้เสร็จภายในระยะเวลา 3 ปี
หมายความว่าวันที่ 21-22 ก.ค. 2564 ป.ป.ช. จะต้องไต่สวนเรื่องเหล่านี้ให้เสร็จ ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 800 เรื่อง เป็นเรื่องที่ ป.ป.ช. เพิ่งรับเข้ามา และพยายามเร่งรัดการทำงานดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหลายเรื่องดำเนินการใกล้เสร็จแล้ว
โดยได้ทำการสำรวจทุกมิติ รู้ความคืบหน้า ได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ พร้อมก้าวไปสู่ในยุคต่อไป ยุคดิจิทัล พร้อมจะประกาศให้ได้ว่าความคืบหน้าเป็นอย่างไร
ในกฎหมายใหม่ (พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561) เรื่องที่เกี่ยวกับการกล่าวหาว่ากระทำการทุจริต ให้ ป.ป.ช. เป็นผู้รับเรื่องกล่าวหาทุกเรื่อง และให้ตรวจรับคำกล่าวหา หากเป็นเรื่องเล็กน้อย ความเสียหายเล็กน้อย ป.ป.ช. ไม่ต้องทำเอง ส่งให้หน่วยงานอื่น
ป.ป.ช. พยายามจะวิเคราะห์ว่า ในปี 2562 สถานการณ์ทุจริตในประเทศไทยเป็นอย่างไร โดยจากฐานการวิเคราะห์ดังกล่าว ป.ป.ช. จะสามารถนำไปวางแผนในเรื่องของการป้องกัน การบังคับใช้กฎหมาย และวางแผนการทำงานภายใต้ทรัพยากรที่จำกัดให้มีประสิทธิภาพที่สุดได้
อย่างไรก็ตาม 4-5 ปีที่ผ่านมา ป.ป.ช. มีปัญหามากมาย ทั้งการปรับโครงสร้าง ย้ายตำแหน่ง กระทั่งกรรมการ ป.ป.ช. ถูกหยุดปฏิบัติหน้าที่เป็นเวลา 1 ปี เป็นที่มาของการสะสมเรื่องที่ค้างอยู่พอสมควร ปัจจุบันมีเรื่องไต่สวนที่ต้องทำให้เสร็จภายในระยะเวลาประมาณ 1 ปี 10 เดือน
วิสัยทัศน์ข้างหน้าของ ป.ป.ช. มองได้เป็น 2 ช่วง คือ หลังจากนี้ต่อไปเป็นเวลา 2 ปี ป.ป.ช. จะดำเนินการสะสางเรื่องเก่าที่ค้างไว้ให้หมด โดยพยายามทำให้ดีที่สุดเท่าที่พยานหลักฐานมี อีกทั้ง ดำรงความเป็นธรรมให้มากที่สุด เพื่อมุ่งมั่นไปทำเรื่องใหม่ ซึ่งขณะนี้ มีเรื่องที่รับเข้ามาหลังประกาศใช้กฎหมายใหม่ประมาณ 800 เรื่องแล้ว
ต่อมาคือ อีก 3 ปี ถัดจากช่วง 2 ปีดังกล่าว ป.ป.ช. จะเป็นองค์กรที่กระฉับกระเฉง เข้มแข็งมีประสิทธิภาพ ทำการเชิงรุกในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการบังคับใช้กฎหมาย การตรวจสอบทรัพย์สิน กลไกการป้องปราม และการปลูกฝังค่านิยมที่จะไม่ยอม ไม่ทน ไม่เฉย สร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต เพื่อพิสูจน์วิสัยทัศน์ประเทศไทย ที่ว่า ประเทศไทยใสสะอาด ไทยทั้งชาติต้านทุจริต
เรื่องสำคัญต่อมาคือเรื่องเกี่ยวกับบัญชีทรัพย์สิน เป็นครั้งแรกที่ ป.ป.ช. กำหนดกรอบระยะเวลาในการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินด้วย จากเดิมที่ไม่มีการกำหนด ป.ป.ช. จะใช้การตรวจสอบทรัพย์สินเป็นเครื่องมือสำคัญในการป้องปราม
นอกจากนี้แล้ว ยังมี มาตรา 130 ที่กล่าวว่า เจ้าพนักงาน เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ไม่ได้ยื่นบัญชีทรัพย์สินกับ ป.ป.ช. ให้ยื่นกับผู้บังคับบัญชา ให้ประกาศเป็นพระราชกฤษฎีกา กฎหมายดังกล่าวนี้ หมายถึงการยื่นบัญชีของคนประมาณกว่า 2 ล้านคน ซึ่งเป็นข้าราชการ ขณะนี้ กำลังเสนอรัฐบาลพิจารณาว่า ข้าราชการกลุ่มไหนจะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน ซึ่ง ป.ป.ช. มองว่าเจ้าหน้าที่กลุ่มไหนที่มีความเสี่ยงต่อการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ เช่น ตำรวจ สรรพากร ศุลการกร สรรพสามิต เหล่านี้เป็นกลุ่มแรกที่อาจจะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินทุกคน
แต่ทั้งนี้ ต้องเร่งทำระบบดิจิทัลให้เสร็จ เพื่อให้ยื่นบัญชีทางดิจิทัลผ่านไปยังผู้บังคับบัญชาและส่งต่อมาให้ ป.ป.ช.
ฉะนั้น โลกของ ป.ป.ช. จะก้าวเข้าไปสู่ระบบดิจิทัล แม้กระทั่งการรับเรื่องกล่าวหาทั่วประเทศ ป.ป.ช. พยายามจะทำบันทึกข้อตกลงร่วมมือ (MOU) กับหน่วยงานอื่น เช่น ป.ป.ท. หรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่จะต้องส่งข้อมูลให้ ป.ป.ช. เพื่อการทำงานที่รวดเร็วยิ่งขึ้น
ปัจจุบัน ป.ป.ช. มีรัฐธรรมนูญ มาตรา 63 มีกฎหมายใหม่ ป.ป.ช. มาตรา 33 ที่ดึงภาคประชาชน ภาคประชาสังคมเข้ามาร่วมกับ ป.ป.ช. เพื่อดึงพลังของประชาชนเข้ามาช่วยขับเคลื่อน และมีกองทุนที่จะไปสนับสนุนโครงการต่าง ๆ อีกทั้ง มีหลักสูตรต่อต้านการทุจริตศึกษา ซึ่งร่วมกับ สพฐ. (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน) ที่ต้องการสร้างพื้นฐานความคิดให้แยกแยะเรื่องผลประโยชน์ส่วนตนและผลประโยชน์ส่วนรวม และยังพยายามสนับสนุนรัฐบาลให้ออก พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันของผลประโยชน์
อนาคตช่วงต่อไป ป.ป.ช. จะมุ่งเน้นไปที่งานป้องกัน จะต้องประสานกับภาครัฐอีก 20 กระทรวง องค์กรท้องถิ่นต่าง ๆ ในการที่จะดำเนินการขับเคลื่อนงานป้องกัน ให้มีคุณภาพแท้จริง
ผมมั่นใจว่า อีก 5 ปีข้างหน้า ในวันที่ ป.ป.ช. เบญจเพส อายุครบ 25 ปี จะมีแต่เรื่องดีงาม แต่เราต้องช่วยกัน"
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/