ป.ป.ช.กับการประเมินคุณธรรม - ความโปร่งใสภาคธุรกิจเอกชน
"...การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาคธุรกิจเอกชน นับเป็นมาตรการป้องกันการทุจริตเชิงรุกในการป้องกันและลดโอกาสความเสี่ยงมิให้หน่วยงานภาคธุรกิจเอกชน เข้าไปมีส่วนร่วมในวงจรของการทุจริต โดยเครื่องมือตรวจสอบระดับภูมิคุ้มกันการทุจริตขององค์กร (VPAC) มีจุดเน้นเกี่ยวกับการดำเนินการตามหลักคุณธรรม (Integrity) จริยธรรม (Ethics) และการปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง (Law & Order)..."
การนำเสนอข้อมูลอย่างต่อเนื่องของสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เกี่ยวกับผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ซึ่งดำเนินการโดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้รับความสนใจจากสาธารณชนอย่างมาก (อ่านประกอบ : ไขคำตอบ! การประเมินคุณธรรม-ความโปร่งใสหน่วยงานภาครัฐทำกันอย่างไร)
หลายคนยังไม่ทราบนอกจากการประเมินหน่วยงานภาครัฐแล้วว่า สำนักงาน ป.ป.ช. ยังมีโครงการพัฒนามาตรวัดคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาคธุรกิจเอกชนด้วย ทั้งนี้ สำนักประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส สำนักงาน ป.ป.ช. ดำเนินโครงการพัฒนามาตรวัดคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาคธุรกิจเอกชนมาตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 อันเป็นผลจากการศึกษาทบทวนกรอบการประเมินจากต่างประเทศและในประเทศ
เป็นการศึกษาวิเคราะห์ความเชื่อมโยงระหว่างหลักธรรมาภิบาลในการบริหารองค์กรกับการส่งเสริมคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาคธุรกิจเอกชน โดยเฉพาะหน่วยงานภาคธุรกิจเอกชนที่เป็นคู่ค้า คู่สัญญา หรือได้รับสัมปทานจากหน่วยงานภาครัฐในโครงการขนาดใหญ่ / มีมูลค่าสูง / มีจำนวนสัญญามากฉบับ
การศึกษาและพัฒนาเครื่องมือดังกล่าวได้ร่วมกับบริษัท ทริส คอร์ปอเรชั่น จำกัด จนได้มาตรวัด “เครื่องมือตรวจสอบระดับภูมิคุ้มกันการทุจริตขององค์กร” (Verified Private Company for Anti-Corruption: VPAC) และได้ทดลองนำร่องการประเมินตามโครงการส่งเสริมมาตรฐานคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาคธุรกิจเอกชน ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 เพื่อศึกษาประสิทธิภาพและความเหมาะสมของมาตรวัด ขอบเขตของหน่วยของการวิเคราะห์ที่เหมาะสมจากข้อสังเกตและข้อเสนอแนะในเชิงลึกจากหน่วยงานภาคธุรกิจเอกชนที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง เพื่อนำมาพัฒนามาตรวัดการประเมิน ให้สามารถที่จะวัดระดับคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของแต่ละหน่วยงานภาคธุรกิจเอกชน ก่อนที่จะได้มีการขยายผลเพื่อนำไปสู่การส่งเสริมการดำเนินงานอย่างมีคุณธรรมและความโปร่งใสในภาคธุรกิจเอกชนได้อย่างเป็นรูปธรรม
การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาคธุรกิจเอกชน นับเป็นมาตรการป้องกันการทุจริตเชิงรุกในการป้องกันและลดโอกาสความเสี่ยงมิให้หน่วยงานภาคธุรกิจเอกชน เข้าไปมีส่วนร่วมในวงจรของการทุจริต โดยเครื่องมือตรวจสอบระดับภูมิคุ้มกันการทุจริตขององค์กร (VPAC) มีจุดเน้นเกี่ยวกับการดำเนินการตามหลักคุณธรรม (Integrity) จริยธรรม (Ethics) และการปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง (Law & Order)
มาตรวัดนี้ประกอบด้วยเครื่องมือหลัก จำนวน 2 ประเภท ได้แก่ VPAC Credit และ VPAC Trust ดังนี้
1. VPAC Credit (แบบวัดความเข้มแข็ง) ซึ่งมีสัดส่วนของคะแนน คือ ร้อยละ 70 ของคะแนนทั้งหมด 100 คะแนน โดยประกอบด้วยเครื่องมือจำนวน 3 เครื่องมือ ได้แก่
1.1 VPAC Credit – Governance (แบบวัดความเข้มแข็งของการกำกับดูแลกิจการเพื่อต่อต้านการทุจริต)
1.2VPAC Credit - Internal (แบบวัดความเข้มแข็งของการดำเนินการเพื่อต่อต้านการทุจริต)
1.3 VPAC Credit - Disclosure (แบบวัดความเปิดเผยโปร่งใสเพื่อต่อต้านการทุจริต)
2. VPAC Trust (แบบวัดระดับความเชื่อมั่นในคุณธรรมและความโปร่งใสของบริษัท) ประเมินโดยการวัดความน่าเชื่อถือจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก เช่น ลูกค้า คู่ค้า และผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ซึ่งมีสัดส่วนของคะแนน ร้อยละ 30 ของคะแนนทั้งหมด 100 คะแนน
ทั้งนี้ ตัวชี้วัดของเครื่องมือตรวจสอบระดับภูมิคุ้มกันการทุจริตขององค์กร (VPAC) ประกอบด้วย 4 ตัวชี้วัด โดยแต่ละตัวชี้วัดมีประเด็นย่อย รวม 19 ประเด็น ดังนี้
(1) ค่านิยมและหลักธรรมขององค์กร (Organizational Values of Integrity)
- ค่านิยมหลัก (Core values)
- นโยบายด้านคุณธรรมองค์กร (Integrity Policy)
- จริยธรรมทางธุรกิจ (Code of Conduct)
- การปฏิบัติตัวเป็นแบบอย่างของผู้บริหาร (Role Model)
(2) การดำเนินธุรกิจและระบบการทำงาน (Business Practices & Operating System)
- ระบบบริหารความเสี่ยงในการยักยอก (Bribery-Fraud Risk Management)
- แนวทางการตรวจสอบสถานะผู้ที่เกี่ยวข้อง (Supply Chain Due Diligence)
- การส่งเสริมกิจกรรมต่อต้านการทุจริต (Encourage anti-corruption Activity)
- นโยบายในการจ่ายเงินบริษัทเพื่อได้รับการอำนวยความสะดวก (Gift/Sponsorship/ Donation Policy)
- ระเบียบควบคุมการเกิดการทุจริต (Committee & Personnel Control)
(3) การปฏิบัติตามกฎและการตรวจสอบ (Compliance & Audit)
- ระบบควบคุมภายใน (Internal Control System)
- ระบบการกำกับดูแล (Compliance)
- ระบบและกลไกการตรวจสอบ (Auditing System)
- การบังคับใช้ระเบียบต่อบริษัทลูก (Internal Control & Compliance Dissemination)
(4) การสื่อสารและการรวมกลุ่ม (Communication & Coalition)
- การสื่อสารภายในองค์กร (Internal Communication)
- แนวปฏิบัติในการเปิดเผยข้อมูล (Disclosure Procedure)
- การเปิดเผยข้อมูลคู่ค้าต่อภาครัฐ (Government Contractor)
- ช่องทางการแจ้งเบาะแสการทุจริต (Reporting Channel)
- การเข้าร่วมกลุ่มเพื่อต่อต้านการทุจริต (Coalition & Contribution)
- การปฏิบัติตามมาตรฐานการป้องกันและต่อต้านการทุจริต (Standard)
ในการดำเนินการตามโครงการดังกล่าว ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เป็นต้นไป สำนักงาน ป.ป.ช. มีแผนดำเนินการที่จะขยายผล การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาคธุรกิจเอกชนให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่เป็นหน่วยงานภาคธุรกิจเอกชนให้กว้างขวางและครอบคลุมทุกประเภทของธุรกิจ และจะมีการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อรองรับการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาคธุรกิจเอกชนด้วย เพื่อเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญในการผลักดันและส่งเสริมมาตรฐานคุณธรรมและความโปร่งใสของหน่วยงานภาคธุรกิจเอกชน ซึ่งถือเป็นมาตรการป้องกันการทุจริตเชิงรุกได้เป็นอย่างดี ในการป้องกันและลดโอกาสความเสี่ยงมิให้หน่วยงานภาคธุรกิจเอกชนเข้าร่วมในกระบวนการทุจริตต่างๆ ได้อีกทางหนึ่ง