จากญี่ปุ่น-ไทย! ย้อนข้อมูล'อิศรา' แกะรอยคดีสินบน 20 ล.ก่อน ป.ป.ช.ฟัน จนท.รัฐ-'บิ๊ก'ซิโนฯ
"...ประเด็นที่ต้องติดตามดูกันต่อไป ก็คือ การดำเนินงานในส่วนของกรมเจ้าท่า เพราะก่อนหน้านี้ นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมเจ้าท่า เคยให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศราว่า ได้มีคำสั่งการย้าย นาวาโท สาธิต ชินวรณ์ อดีต ผอ.สนง.เจ้าท่าภูมิภาคนครศรีธรรมราช มาช่วยราชการที่กรมเจ้าท่าส่วนกลางแล้วตามที่ปรากฏเป็นข่าว และมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นแล้ว..."
"คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิด เจ้าหน้าที่ของรัฐ 4 ราย ได้แก่ นาวาโท สาธิต ชินวรณ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผอ.สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขานครศรีธรรมราช นายคณิน เมืองด้วง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกเทศมนตรีตำบลท้องเนียน อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช นายอภิชาติ สวัสดิรัตน์ ผู้ใหญ่บ้าน ม.8 ต.ท้องเนียน และ พ.ต.ท.สันติพงษ์ พันธ์สวัสดิ์ สารวัตรสถานีตำรวจน้ำ 4 กองกำกับการ 6 กองบังคับการตำรวจน้ำ มีความผิดฐานเรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด และฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 157 ประกอบมาตรา 86
รวมถึงเอกชนผู้สนับสนุน ได้แก่ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และผู้บริหารระดับสูงในบริษัท ซิโน-ไทยฯ ได้แก่ นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการบริษัท ซิโน-ไทยฯ และนายราเกส กาเลีย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการส่วนงานปฏิบัติการ บริษัท ซิโน-ไทยฯ มีความผิดฐานเรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด ฐานสนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 157 ประกอบมาตรา 86"
คือ บทสรุปคดีไต่สวนกรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐ และเอกชนร่วมกันเรียกรับเงินสินบนจำนวน 20 ล้านบาท จากบริษัท มิตซูบิชิ ฮิตาชิ พาวเวอร์ ซิสเต็มส์ จำกัด หรือ MHPS เพื่อแลกกับการอนุญาตให้ใช้ท่าเทียบเรือชั่วคราวบริเวณโรงไฟฟ้าขนอม จ.นครศรีธรรมราช เพื่อลำเลียงขนถ่ายชิ้นส่วนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าโดยมิชอบ ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่แถลงข่าวเป็นทางการเมื่อวันที่ 13 พ.ย.2562 ที่ผ่านมา (อ่านประกอบ : ป.ป.ช.ฟัน ผอ.เจ้าท่านครศรีฯ-2 ‘บิ๊ก’ ซิโน-ไทยฯ คดีจ่ายสินบน 20 ล.โรงไฟฟ้าขนอม)
หากสาธารณชนยังจำกันได้ คดีกรณีเคยปรากฎเป็นข่าวโดงดังในประเทศไทยช่วงเดือน ก.ค.2561 ที่ผ่านมา เมื่อสำนักข่าวหลายแห่งของประเทศญี่ปุ่น รายงานข่าวตรงกันว่า สำนักงานสืบสวนพิเศษของอัยการกรุงโตเกียวกำลังสืบสวนบริษัทมิตซูบิชิ ฮิตาชิ พาวเวอร์ ซิสเต็มส์ หรือ MHPS ในข้อหาละเมิดกฎหมายป้องกันการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม โดยทางบริษัทได้จ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่ทางการของประเทศไทย เกี่ยวกับงานโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนในประเทศไทย โดยมีรายงานข่าวว่า เจ้าหน้าที่ของบริษัทมิตซูบิชิ ฮิตาชิ พาวเวอร์ ซิสเต็มส์ ได้ให้สินบนกับเจ้าหน้าที่ทางการของไทย ผ่านนายหน้ารายหนึ่ง เป็นมูลค่ากว่า 60 ล้านเยน หรือราว 20 ล้านบาท ซึ่งการสืบสวนภายในของบริษัทมิตซูบิชิ ฮิตาชิ พาวเวอร์ ซิสเทมส์ ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ของบริษัทประพฤติผิดจริง และได้ให้ข้อมูลกับพนักงานสืบสวน แต่ได้ปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลกับสื่อมวลชน
ขณะที่สำนักข่าวอิศรา ได้ติดตามตรวจสอบขยายผลข้อเท็จจริงในเรื่องนี้เช่นกัน โดยตรวจสอบข้อมูลการทำธุรกิจของบริษัท มิตซูบิชิ ฮิตาชิ พาวเวอร์ ซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด ในประเทศไทยช่วงที่ผ่านมา ก่อนที่บริษัทมิตซูบิชิ ฮิตาชิ พาวเวอร์ ซิสเต็มส์ ในญี่ปุ่น จะถูกสอบสวนเรื่องการจ่ายเงินสินบนดังกล่าวพบข้อมูลว่า เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.2559 นายคัทซึยะ นากามูระ ตัวแทนจาก บริษัท มิตซูบิชิ ฮิตาชิ พาวเวอร์ ซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ปรากฎชื่อ ไปร่วมงานพิธีเปิดการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์โรงไฟฟ้าขนอม หน่วยที่ 4 จังหวัดนครศรีธรรมราช ของ บริษัท ผลิตไฟฟ้าจำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป โดย บริษัท มิตซูบิชิ ฮิตาชิ พาวเวอร์ ซิสเต็มส์ ถูกระบุว่าเป็น 1 ในผู้รับเหมางานก่อสร้างในส่วนผู้ผลิตอุปกรณ์หลัก ต่างๆ เช่น เครื่องกำเนิดไฟฟ้า ส่วนผู้รับเหมาอีก 2 ราย คือ Mitsubishi Corporation(MC)ซึ่งมีหน้าที่ดูแลรวบรวมและสรุปการดำเนินการของ กลุ่มผู้รับเหมา บริษัท มิตซูบิชิ ฮิตาชิ พาวเวอร์ ซิสเต็มส์ และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์คอนสตรักชั่น จำกัด (มหาชน) (STECON) ดูแลงาน โครงสร้างต่างๆ
ต่อมา สำนักข่าวอิศรา ได้ติดต่อไปยังสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขานครศรีธรรมราช ซึ่งดูแลรับผิดชอบพื้นที่ที่ตั้งโครงการโรงไฟฟ้าขนอม หน่วยที่ 4 เพื่อสอบถามข้อมูลปัญหาเรื่องการรับสินบนของเจ้าหน้าที่ เนื่องจากได้รับแจ้งข้อมูลจากแหล่งข่าวในแวดวงพลังงานว่า กรณีดังกล่าวน่าจะเป็นการติดสินบนให้กับเจ้าหน้าที่สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขานครศรีธรรมราช เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนเครื่องจักรขึ้นท่าเรือที่จะนำไปใช้ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนอม เพราะบริษัท มิตซูบิชิ ฮิตาชิ พาวเวอร์ ซิสเต็มส์ฯ มีส่วนรับผิดชอบในการผลิตอุปกรณ์หลักต่างๆ เช่น เครื่องกำเนิดไฟฟ้า ซึ่งต้องมีการขนส่งอุปกรณ์เข้ามาใช้ในการดำเนินงานโครงการนี้
เบื้องต้น เจ้าหน้าที่สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขานครศรีธรรมราชรายหนึ่ง ให้ข้อมูลสำนักข่าวอิศรา ว่า เกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้น เมื่อหลายเดือนที่ผ่านมา มีเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. เข้ามาตรวจสอบเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องไปแล้ว แต่ไม่ทราบรายละเอียดอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้มากนัก เพราะเป็นเรื่องระดับฝ่ายบริหาร
"ปัจจุบันสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขานครศรีธรรมราช ได้มีการเปลี่ยนแปลงตัวผู้บริหารใหม่แล้ว และผู้บริหารคนใหม่ ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับเรื่องนี้ด้วย จึงไม่สามารถให้ข้อมูลอะไรได้มากนัก"
ด้าน นาวาโท สาธิต ชินวรณ์ อดีตผอ.สนง.เจ้าท่าภูมิภาคนครศรีธรรมราช (หนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาคดีนี้) ปัจจุบันย้ายไปเป็นผอ.สนง.เจ้าท่าภูมิภาคตรัง ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราสั้นๆ ว่า "เรื่องนี้อยู่ในขั้นตอนการสอบสวนของป.ป.ช.แล้ว ผมคงไม่สามารถพูดอะไรได้มาก เป็นเรื่องธุรกิจที่มันค่อนข้างซับซ้อน และผมก็ไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวอะไรด้วย"
ขณะที่สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อมูลจากแหล่งข่าว ป.ป.ช. ในช่วงเวลานั้น ว่า เกี่ยวกับคดีสินบน 20 ล้านบาทบริษัทญี่ปุ่นดังกล่าว อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักการต่างประเทศ ของ ป.ป.ช. ที่ได้รับการประสานงานให้ตรวจสอบเรื่องนี้โดยตรง และที่ผ่านมาได้มีการตั้งคณะอนุไต่สวนขึ้นมาสอบสวนเรื่องนี้เป็นทางการหลายเดือนแล้ว
ก่อนที่สำนักข่าวอิศรา จะสืบค้นฐานข้อมูลในต่างประเทศ พบข้อมูลสำคัญว่า เมื่อวันที่ 20 ก.ค.2561 ที่ผ่านมา บริษัทมิตซูบิชิ ฮิตาชิ พาวเวอร์ ซิสเต็มส์ จำกัด หรือ MHPS ได้ออกประกาศข่าวการดำเนินการภายในองค์กร ณ เมืองโยโกฮาม่า ประเทศญี่ปุ่น เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงและแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
"สืบเนื่องจากกรณีที่มีการรายงานข่าวตามหน้าสื่อมวลชน ถึงข้อกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ของบริษัทซึ่งอยู่ในเครือบริษัท Mitsubishi Hitachi Power Systems, Ltd. (MHPS) มีส่วนพัวพันกับคดีสินบนจำนวน 20 ล้านบาท ในวันนี้ MHPS ได้รับแจ้งข้อมูลว่าอดีตพนักงานระดับบริหาร ได้แก่ อดีตรองประธานบริษัทฝ่ายบริหาร หัวหน้าศูนย์วิศวกรรมของบริษัท และรองประธานบริษัทระดับอาวุโส ผู้จัดการทั่วไปในแผนกจัดซื้อจัดจ้างและแผนกจัดหาทรัพยากร และอดีตผู้จัดการทั่วไปของแผนกโลจิสติกส์ ทั้งหมดถูกดำเนินคดีเนื่องจากต้องสงสัยว่าจะมีพฤติกรรมที่ละเมิดกฎหมายป้องกันการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม(Unfair Competition Prevention Act) สืบเนื่องจากการเสนอเงินสินบนให้กับเจ้าพนักงานของรัฐ ในต่างประเทศ
ทางบริษัท MHPS ขอนำเรียนว่าที่ผ่านมาบริษัทได้ดำเนินกิจการตามกฎหมายและระเบียบ ข้อห้ามต่างๆอย่างเคร่งครัด ดังนั้นทางบริษัทจึงรู้สึกเสียใจและต้องขออภัยอย่างสุดซึ้งต่อลูกค้าและผู้ถือหุ้นของบริษัท ต่อเหตุการณ์นี้ มา ณ ที่นี้ด้วย
บริษัท MHPS ได้ตระหนักถึงความร้ายแรงของข้อกล่าวหานี้ และจะดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อสร้างความมั่นใจว่า หลังจากนี้พนักงานและเจ้าหน้าที่ของบริษัท MHPS จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือมีพฤติกรรมการทำผิดกฎหมายเช่นนี้อีก เพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นและมั่นใจในบริษัท MHPS ให้กลับมาโดยเร็ว
1.ข้อเท็จจริงโดยรวมเกี่ยวกับคดีนี้
ข้อกล่าวหาดังกล่าวนั้นเกี่ยวข้องกับโครงการการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนของบริษัท MHPS ในพื้นที่ อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช โดยช่วงเดือน ก.พ.ปี 2558 เจ้าหน้าที่ของบริษัท MHPS ที่รับผิดชอบด้านการขนส่งชิ้นส่วนได้รับข้อความว่าเมื่อผู้รับเหมารายย่อยของบริษัทซึ่งทำหน้าที่ขนส่งชิ้นส่วนที่จำเป็นในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าทางเรือ จะขนย้ายชิ้นส่วนขึ้นบนท่าเทียบเรือชั่วคราวใกล้กับไซต์งานก่อสร้างโรงไฟฟ้า ประชาชนในพื้นที่ รวมไปถึงเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งคาดว่าน่าจะมาจาก กรมเจ้าท่า จ.นครศรีธรรมราช ได้ปิดท่าเรือชั่วคราว เพื่อไม่ให้ขนย้ายวัตถุดิบ โดยเรียกร้องเงินเป็นจำนวน 20 ล้านบาท เพื่อแลกกับการเปิดท่าเรือ
การที่ท่าเรือถูกปิดนั้นเป็นความผิดพลาดที่ทางผู้ให้บริการขนส่งไม่ได้คาดคิดมาก่อนว่าจะเกิดขึ้น ดังนั้น ความจำเป็นอย่างเร่งด่วนก็คือการเปิดท่าเทียบเรือให้ใช้การได้ตามปกติ เพราะถ้าหากการปิดท่าเทียบเรือยังดำเนินต่อไป ก็จะส่งผลทำให้การขนส่งชิ้นส่วนมีความล่าช้า และจะส่งผลทำให้การก่อสร้างโรงไฟฟ้าล่าช้าตามไปด้วย ซึ่งกรณีนี้จะทำให้บริษัท MHPS ต้องเสียค่าใช้จ่ายอีกจำนวนมาก เพราะฉะนั้นเพื่อหลีกเรื่องไม่ให้บริษัทต้องพบเจอกับสถานการณ์เลวร้ายดังกล่าว เจ้าหน้าที่ของบริษัท MHPS จึงได้มอบเงินจำนวน 20 ล้านบาทให้กับผู้รับเหมารายย่อยเพื่อนำเงินไปจ่ายตามคำเรียกร้องของผู้ที่ปิดท่าเรือ สถานการณ์จึงถูกคลี่คลายด้วยดี
แต่อย่างไรก็ตาม บริษัท MHPS ไม่สามารถจะยืนยันข้อมูลได้ว่าผู้รับเหมารายย่อยได้นำเงินไปมอบให้กับเจ้าหน้าพนักงานรัฐของไทยหรือไม่
สำหรับที่ไปที่มาของเงินจำนวน 20 ล้านบาทนั้นมาจากเงินที่ทางเจ้าหน้าที่สังกัดบริษัทในเครือ MHPS ในช่วงเวลาดังกล่าว ได้ตระเตรียมเอาไว้เพื่อจะว่าจ้างผู้รับเหมาในระดับท้องถิ่นให้ทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งให้ ซึ่งงานที่ว่านั้นไม่มีอยู่จริง
2.ท่าทีของบริษัท MHPS หลังจากรับรู้ว่ามีความไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้น
ในช่วงเดือน มี.ค. 2558 บริษัท MHPS ตระหนักว่าอาจจะมีการจ่ายเงินด้วยกระบวนการทางการเงินซึ่งไม่ถูกต้องให้กับเจ้าหน้าที่ทางการไทย ภายหลังจากที่มีบุคลากรในบริษัทออกมาเปิดโปงเรื่องนี้ ซึ่งหลังจากกรณีดังกล่าวบริษัทไม่ได้นิ่งนอนใจแต่อย่างใด แต่ได้ดำเนินการสอบสวนเป็นการภายในโดยทันที และในเดือนเดียวกันนั้นเองบริษัทก็ได้ว่าจ้างสำนักกฎหมายให้ดำเนินการสอบสวนเพื่อจะให้ได้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องมากขึ้น โดยมีการสัมภาษณ์เก็บข้อมูลจากผู้ที่เกี่ยวข้องรวมไปถึงการรวบรวมหลักฐานต่างๆ โดยสำนักกฎหมายซึ่งบริษัทได้จ้างมา
ท้ายที่สุด เนื่องจากมีแนวโน้มว่ากรณีนี้อาจจะมีการละเมิดกฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้องเกิดขึ้น ในเดือน มิ.ย.ปี 2558 ทางบริษัทจึงได้นำเรื่องรายงานไปยังสำนักงานอัยการประจำเขตกรุงโตเกียว
3.การใช้ระบบข้อตกลงฟ้องร้อง
ในปี 2558 ในช่วงเวลาที่บริษัทได้รายงานเรื่องนี้ให้กับสำนักอัยการ ในช่วงเวลานั้น ยังไม่มีการบังคับใช้ระบบข้อตกลงฟ้องร้องเกิดขึ้น ในช่วงเวลา 3 ปีหลังจากนั้น บริษัท MHPS จึงได้ให้ความร่วมมือกับสำนักงานอัยการฯอย่างเต็มที่เพื่อดำเนินการสืบสวนคดี และสำนักอัยการฯก็รับรู้ความร่วมมือในด้านคดีของบริษัทเป็นอย่างดี ดังนั้นในเดือน มิ.ย. 2561 จึงมีการตกลงว่าจะใช้ระบบข้อตกลงฟ้องในคดีนี้
แต่อย่างไรก็ตาม บริษัท MHPS เข้าใจดีว่าแม้ว่าจะใช้ระบบข้อตกลงฟ้องหรือไม่ก็ตาม ข้อหาที่ถูกฟ้องต่อพนักงานระดับบริหารของบริษัท MHPS ก็ยังคงไม่เปลียนแปลงไป แต่ทั้งนี้บริษัท MPHS เชื่อว่าการให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่กับสำนักงานอัยการฯภายใต้ระบบข้อตกลงฟ้อง เพื่อเปิดเผยข้อเท็จจริงของคดีนี้นั้นเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลและควรกระทำ เพื่อจะรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นและสร้างความเชื่อมั่นว่าพนักงานของบริษัทซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับคดีนี้จะได้รับการคุ้มครอง
4.การออกมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกรณีแบบนี้ขึ้นมาอีก
บริษัท MPHS ได้รวบรวมผลการสอบสวนภายในซึ่งได้ดำเนินการจนได้ผลการสอบสวนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อจะหาแนวทางการป้องกันเหตุการณ์ในลักษณะคล้ายกันซึ่งอาจจะเกิดได้ในอนาคต ซึ่งหลังจากนี้เจ้าหน้าที่บริษัทจะต้องปฏิบัติตามมาตรการ ข้อบังคับของบริษัทอย่างเคร่งครัด และบริษัทจะต้องเสริมสร้างกลไกการตรวจสอบภายในให้มีความเข้มแข็งมากกว่าเดิม
โดยมาตรการของบริษัทเพื่อที่จะป้องกันไม่ให้เกิดกรณีการเข้าไปพัวพันกับคดีสินบนจะมีดังต่อไปนี้
การสร้างกลไกเพื่อรายงานถึงสิ่งที่เกิดขึ้นภายในบริษัท โดยใช้วิธีที่หลากหลาย รวมไปถึงการใช้ช่องทางออนไลน์ และการติดตั้งโทรศัพท์ไม่เสียเงินภายในองค์กรของ MHPS เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของบริษัทได้รายงานถึงสิ่งที่ต้องการได้อย่างทันท่วงที
การสร้างกลไกการตรวจสอบอย่างเป็นระบบและระเบียบด้วยความละเอียด และความรอบคอบ ทั้งก่อนหน้าและหลังจากที่บริษัทได้รับคำสั่งให้ดำเนินการก่อสร้างต่างๆ
การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบตรวจสอบทางบัญชีของบริษัทโดยมุ่งเน้นไปที่การใช้จ่ายซึ่งกระทำจากบุคคลากรของบริษัทซึ่งทำหน้าที่ในไซต์งานที่ต่างประเทศ
การเสริมสร้าง พัฒนาทักษะให้กับบุคลากรระดับบริหารเพื่อสร้างหลักประกันว่าเหตุการณ์เช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นอีกโดยจะมีการว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกบริษัทซึ่งมีควาเชี่ยวชาญในการป้องกันการให้สินบนมาฝึกอบรมให้กับบุคคลากรของบริษัทด้วย
5.การดำเนินการทางวินัยกับบุคลากรในบริษัท
เมื่อเดือน ก.พ.ปี 2559 ได้มีการดำเนินการทางวินัยกับบุคลากรของบริษัทซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับกระบวนการจ่ายเงินโดยมิชอบไปแล้ว นอกจากนี้ผู้ที่ทำหน้าที่ทั้งในระดับผู้จัดการ ระดับประธาน และระดับพนักงานผู้รับผิดชอบตรวจสอบด้านฝ่ายขายและปฏิบัติการณ์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในเดือน ก.พ. 2558 ยังได้แสดงความรับผิดชอบ โดยทั้งหมดได้ติดสินใจคืนเงินเดือน ค่าตอบแทนที่ได้รับจากบริษัทเป็นจำนวนดังต่อไปนี้
1.ระดับประธานบริษัท จะคืนเงินเดือนที่ได้รับจำนวน 30 เปอร์เซ็นต์เป็นระยะเวลา 3 เดือน
2.ระดับผู้บริหารอาวุโสซึ่งทำหน้าที่เป็นรองประธานบริษัทรับผิดชอบในด้านฝ่ายขาย จะคืนเงินเดือนเป็นจำนวน 20 เปอร์เซ็นต์ เป็นระยะเวลา 3 เดือน
3.ระดับผู้ดูแลด้านธุรกิจและวางแผนเชิงกลยุทธ์ จะคืนเงินเดือนให้จำนวน 20 เปอร์เซ็นต์เป็นระยะเวลา 3 เดือน
4.ระดับผู้จัดการอาวุโสซึ่งดูแลในแผนกการจัดการและบริหาร จะคืนเงินเดือนให้จำนวน 10 เปอร์เซ็นต์เป็นระยะเวลา 3 เดือน" (อ่านประกอบ :เอ็กซ์คลูซีฟ: เปิดประกาศ บ.ญี่ปุ่น แจงเหตุจ่ายสินบน20ล.แลกเปิดท่าเรือ-พนง.โชว์สปิริตคืนเงินด.)
ผลจากการสืบค้นพบข้อมูลดังกล่าวในญี่ปุ่น ทำให้ช่วยยืนยันข้อเท็จจริงพฤติการณ์การกระทำความผิดของผู้เกี่ยวข้องในคดีนี้ได้ชัดเจนมากขึ้น และยังเห็นบทสรุปคดีนี้ในส่วนของบริษัทยักษ์ใหญ่ประเทศญี่ปุ่นว่ามีกระบวนการจัดการเจ้าหน้าที่พนักงานบริษัทที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการทุจริตอย่างไร
ส่วนข้อมูลในประเทศไทย ณ วันนี้ มีความชัดเจนแล้วว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิด เจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมถึงเอกชนผู้สนับสนุน เป็นทางการไปแล้วเช่นนั้น
อย่างไรก็ดี การชี้มูลความผิดของ ป.ป.ช. ยังไม่ถือเป็นจุดสิ้นสุดของคดีนี้ เพราะผู้ถูกกล่าวหาทุกราย ยังมีโอกาสต่อสู้คดีในชั้นศาลเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเองได้ตามขั้นตอนทางกฎหมาย
แต่ประเด็นที่ต้องติดตามดูกันต่อไป ก็คือ การดำเนินงานในส่วนของกรมเจ้าท่า เพราะก่อนหน้านี้ นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมเจ้าท่า เคยให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศราว่า ได้มีคำสั่งการย้าย นาววาโท สาธิต ชินวรณ์ อดีต ผอ.สนง.เจ้าท่าภูมิภาคนครศรีธรรมราช มาช่วยราชการที่กรมเจ้าท่าส่วนกลางแล้วตามที่ปรากฏเป็นข่าว และมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นแล้ว
พร้อมยืนยันว่า เรื่องนี้ กรมเจ้าท่าดำเนินการสอบสวนมาระยะหนึ่งแล้ว ถ้าพบว่ามีการกระทำผิดอย่างไร ก็จะมีการลงโทษไปก่อน เมื่อผลของ ป.ป.ช. ออกมาถ้าชี้ว่ามีความผิดก็จะดำเนินการลงโทษเพิ่มเติมตามมติของ ป.ป.ช. ส่วนเรื่องรายละเอียดต้องรอผลการสอบสวนอีกครั้ง
ณ วันนี้ ผลการสอบสวนของ ป.ป.ช.ออกมาแล้ว ท่าทีของกรมเจ้าท่าเป็นอย่างไร คงต้องรอติดตามดูกันต่อไปอย่างใกล้ชิด
อ่านประกอบ :
มีความผิดลงโทษก่อนป.ป.ช.ได้! อธิบดีเจ้าท่า ยันสอบสินบน20ล.ไม่นาน-ย้ายอดีตผอ.นครศรีฯจริง
ป.ป.ช.แจ้งข้อหาตัวแทน บ.ลูก MHPS ไทย สนับสนุนปมจ่ายสินบนสร้างโรงไฟฟ้า 20 ล.
เบื้องลึก! คดีสินบน20ล.กรมเจ้าท่าฯ สั่งย้ายอดีตผอ.นครศรีฯ เข้ากรุช่วยราชการแล้ว
ป.ป.ช.สอบสินบน บ.ญี่ปุ่น20 ล. คืบหน้า80% เผยจนท.พื้นที่เอี่ยว 4-5 ราย-มีกรมศุลฯด้วย
เอ็กซ์คลูซีฟ: เปิดประกาศ บ.ญี่ปุ่น แจงเหตุจ่ายสินบน20ล.แลกเปิดท่าเรือ-พนง.โชว์สปิริตคืนเงินด.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/