เบื้องลึก! คดีสินบน20ล.กรมเจ้าท่าฯ สั่งย้ายอดีตผอ.นครศรีฯ เข้ากรุช่วยราชการแล้ว
"...ในช่วงปี 2558 ที่เกิดเหตุ อยู่ในช่วงการบริหารงานของ นาวาโท สาธิต ชินวรณ์ อดีตผอ.สนง.เจ้าท่าภูมิภาคนครศรีธรรมราช ซึ่งปัจจุบันย้ายไปเป็นผอ.สนง.เจ้าท่าภูมิภาคตรัง ส่วนผู้ที่รับทราบเรื่องอีกคนก็คือ นายปิยะวัฒน์ ทองขาว เจ้าพนักงานตรวจท่าปฏิบัติการ ซึ่งปัจจุบันก็ย้ายไปอยู่ที่สนง.เจ้าท่าภูมิภาคภูเก็ต แต่เท่าที่ทราบในส่วนของ นาวาโท สาธิต ปัจจุบันทางกรมฯ ได้สั่งย้ายให้เข้าไปช่วยราชการที่ส่วนกลางชั่วคราวแล้ว..."
"...ในช่วงเดือน ก.พ. ปี 2558 เจ้าหน้าที่ของบริษัท MHPS (บริษัทมิตซูบิชิ ฮิตาชิ พาวเวอร์ ซิสเต็มส์ จำกัด) ที่รับผิดชอบด้านการขนส่งชิ้นส่วนได้รับข้อความว่าเมื่อผู้รับเหมารายย่อยของบริษัทซึ่งทำหน้าที่ขนส่งชิ้นส่วนที่จำเป็นในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าทางเรือ จะขนย้ายชิ้นส่วนขึ้นบนท่าเทียบเรือชั่วคราวใกล้กับไซต์งานก่อสร้างโรงไฟฟ้า ประชาชนในพื้นที่ รวมไปถึงเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งคาดว่าน่าจะมาจาก กรมเจ้าท่า จ.นครศรีธรรมราช ได้ปิดท่าเรือชั่วคราว เพื่อไม่ให้ขนย้ายวัตถุดิบ โดยเรียกร้องเงินเป็นจำนวน 20 ล้านบาท เพื่อแลกกับการเปิดท่าเรือ
การที่ท่าเรือถูกปิดนั้นเป็นความผิดพลาดที่ทางผู้ให้บริการขนส่งไม่ได้คาดคิดมาก่อนว่าจะเกิดขึ้น ดังนั้น ความจำเป็นอย่างเร่งด่วนก็คือการเปิดท่าเทียบเรือให้ใช้การได้ตามปกติ เพราะถ้าหากการปิดท่าเทียบเรือยังดำเนินต่อไป ก็จะส่งผลทำให้การขนส่งชิ้นส่วนมีความล่าช้า และจะส่งผลทำให้การก่อสร้างโรงไฟฟ้าล่าช้าตามไปด้วย ซึ่งกรณีนี้จะทำให้บริษัท MHPS ต้องเสียค่าใช้จ่ายอีกจำนวนมาก เพราะฉะนั้นเพื่อหลีกเรื่องไม่ให้บริษัทต้องพบเจอกับสถานการณ์เลวร้ายดังกล่าว เจ้าหน้าที่ของบริษัท MHPS จึงได้มอบเงินจำนวน 20 ล้านบาทให้กับผู้รับเหมารายย่อยเพื่อนำเงินไปจ่ายตามคำเรียกร้องของผู้ที่ปิดท่าเรือ สถานการณ์จึงถูกคลี่คลายด้วยดี
แต่อย่างไรก็ตาม บริษัท MHPS ไม่สามารถจะยืนยันข้อมูลได้ว่าผู้รับเหมารายย่อยได้นำเงินไปมอบให้กับเจ้าหน้าพนักงานรัฐของไทยหรือไม่..."
คือ ข้อเท็จจริงล่าสุดที่ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบในคำแถลงการณ์ของ บริษัทมิตซูบิชิ ฮิตาชิ พาวเวอร์ ซิสเต็มส์ จำกัด ผ่านทางเว็บไซต์ ณ เมืองโยโกฮาม่า ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2561 เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงและแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์กรณีการจ่ายเงินสินบนจำนวน 20 ล้านบาท ให้กับเจ้าหน้าที่ทางการของประเทศไทย เกี่ยวกับงานโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าโรงไฟฟ้าขนอม หน่วยที่ 4 และนำมาเปิดเผยให้สาธารณชนได้รับทราบโดยทั่วกัน
ทั้งนี้ เพื่อตรวจสอบยืนยันข้อเท็จจริงเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2561 ที่ผ่านมา สำนักข่าวอิศรา ได้ติดต่อไปยัง สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขานครศรีธรรมราช เพื่อขอสัมภาษณ์ นาวาโท รัชตะ ผกาฟุ้ง ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าฯ
เบื้องต้น นาวาโท รัชตะ ระบุว่า ไม่รู้ข้อมูลอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้มากนัก เนื่องจากเพิ่งเข้ามารับตำแหน่งนี้
"ข้อมูลเท่าที่ผมรู้ก็คือ ขณะนี้ทางกรมเจ้าท่าได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้แล้ว โดยมีเลขานุการกรมฯ เป็นประธาน และได้มีการแจ้งประสานงานขอเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการปล่อยคิวเรือไปแล้ว ซึ่งทางเราก็จัดส่งข้อมูลไปแล้ว"
นาวาโท รัชตะ ยังยืนยันด้วยว่า ในช่วงปี 2558 ที่เกิดเหตุ อยู่ในช่วงการบริหารงานของ นาวาโท สาธิต ชินวรณ์ อดีตผอ.สนง.เจ้าท่าภูมิภาคนครศรีธรรมราช ซึ่งปัจจุบันย้ายไปเป็นผอ.สนง.เจ้าท่าภูมิภาคตรัง ส่วนผู้ที่รับทราบเรื่องอีกคนก็คือ นายปิยะวัฒน์ ทองขาว เจ้าพนักงานตรวจท่าปฏิบัติการ ซึ่งปัจจุบันก็ย้ายไปอยู่ที่สนง.เจ้าท่าภูมิภาคภูเก็ต แต่เท่าที่ทราบในส่วนของ นาวาโท สาธิต ปัจจุบันทางกรมฯ ได้สั่งย้ายให้เข้าไปช่วยราชการที่ส่วนกลางชั่วคราวแล้ว
เมื่อถามว่า ในคำแถลงการณ์ของ บริษัท MHPS ที่เผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ในประเทศญี่ปุ่น ระบุว่า เงิน 20 ล้านบาท เป็นการแจกให้เพื่อแลกกับการเปิดท่าเรือให้สามารถขนส่งสินค้าเพื่อนำมาใช้ในงานก่อสร้างได้ นาวาโท รัชตะ ตอบว่า "เท่าที่ผมรู้ ในช่วงเวลาที่เกิดขึ้น มีชาวบ้านมาชุมนุมประท้วงปิดท่าเรือไม่ให้มีการขนส่งสินค้าได้ ส่วนใครจะเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้บางนั้นผมไม่ทราบ ส่วนอำนาจหน้าที่ของสำนักงานเจ้าท่าฯ มีเพียงแค่การดูแลการขนส่งสินค้าให้ถูกต้องตามระเบียบเท่านั้น"
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ได้ติดต่อไปยัง นาวาโท สาธิต ชินวรณ์ อดีตผอ.สนง.เจ้าท่าภูมิภาคนครศรีธรรมราช เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงเพิ่มเติม แต่นาวาโท สาธิต ปฏิเสธที่จะให้ข้อมูล โดยระบุว่า เรื่องนี้อยู่ในขั้นตอนการสอบสวนของ ป.ป.ช. และทางกรมเจ้าท่าไปแล้ว คงไม่สามารถให้ข้อมูลอะไรได้ แต่ยืนยันว่า สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคนครศรีธรรมราช ในช่วงนั้น ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามระเบียบราชการทุกประการ
เมื่อถามว่า ป.ป.ช. ได้เชิญตัวไปสอบปากคำแล้วหรือใช่หรือไม่ นาวาโท สาธิต ตอบว่า "ผมไปให้การกับป.ป.ช.แล้ว ป.ป.ช. เรียกผู้เกี่ยวข้องทุกคนไปสอบปากคำแล้ว"
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ได้ติดต่อไปยัง นายปิยะวัฒน์ ทองขาว อดีตเจ้าพนักงานตรวจท่าปฏิบัติการสนง.เจ้าท่าภูมิภาคนครศรีธรรมราช ที่ปัจจุบันย้ายไป สนง.เจ้าท่าภูมิภาคภูเก็ต เพื่อให้ชี้แจงข้อเท็จจริงเช่นกัน
โดยนายปิยะวัฒน์ กล่าวว่า ในช่วงที่เกิดปัญหาเรื่องนี้ ตนปฏิบัติหน้าที่อยู่ในสำนักงาน ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์อะไรด้วย และทาง ป.ป.ช. ก็ไม่ได้เชิญตนไปสอบปากคำแต่อย่างใด
"เท่าที่ผมทราบ ในช่วงเกิดเหตุ มีบริษัทขนส่งทางเรือที่รับจ้างจาก บ.MHPS มาติดต่อที่สำนักงานฯ เพื่อแจ้งปัญหาอยู่ 1-2 ครั้ง จากนั้น ก็ไม่ได้มาติดต่ออะไรอีก และก็จำชื่อไม่ได้ด้วยว่าเป็นบริษัทอะไร รู้แค่ว่าเป็นบริษัทจากศรีราชาเท่านั้น"
ทั้งหมด คือ ความคืบหน้าล่าสุด ที่สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบ ต่อกรณีการจ่ายเงินสินบน 20 ล้าน ของบริษัท MHPS ที่กำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลจากป.ป.ช. และกรมเจ้าท่าอยู่ในขณะนี้
ส่วนบริษัทขนส่งทางเรือที่รับจ้างจาก บ.MHPS จะเป็น ผู้รับเหมารายย่อย ที่ในคำแถลงการณ์ของ บริษัท MHPS ระบุว่า เจ้าหน้าที่ของบริษัท MHPS ได้มอบเงินจำนวน 20 ล้านบาท ให้กับผู้รับเหมารายย่อยเพื่อนำเงินไปจ่ายตามคำเรียกร้องของผู้ที่ปิดท่าเรือหรือไม่ ยังไม่มีใครสามารถยืนยันได้ในขณะนี้
อ่านประกอบ :
เอ็กซ์คลูซีฟ: เปิดประกาศ บ.ญี่ปุ่น แจงเหตุจ่ายสินบน20ล.แลกเปิดท่าเรือ-พนง.โชว์สปิริตคืนเงินด.
ป.ป.ช.สอบสินบน บ.ญี่ปุ่น20 ล. คืบหน้า80% เผยจนท.พื้นที่เอี่ยว 4-5 ราย-มีกรมศุลฯด้วย
ผู้บริหารฯ ยังไม่ชี้แจงอะไร! เปิดตัวบ.MHPS ก่อนบริษัทแม่ญี่ปุ่น ถูกสอบจ่ายสินบนจนท.ไทย20ล.
เช็คโพรไฟล์ธุรกิจ MHPS ก่อนบ.แม่ญี่ปุ่น ถูกสอบปมจ่ายสินบนจนท.ไทย20ล.
กัลฟ์ฯ แจ้งตลท.ยันโครงการโรงไฟฟ้าทั้งหมดไม่เกี่ยวข้องกรณี MHPS จ่ายสินบนจนท.ไทย
ชัดแล้ว! สินบน20ล.บ.ญี่ปุ่น โยงงานขนส่งโรงไฟฟ้าขนอม-ป.ป.ช.ตั้งอนุฯ ลุยสอบสนง.เจ้าท่านครศรีฯ
ทำความรู้จัก'การต่อรองการรับสารภาพ'จุดเริ่มต้นคดีบ.ญี่ปุ่นจ่ายสินบน 20ล.-เหตุเกิดที่ขนอม