เสนอข่าวเพื่อป้องปรามทุจริต! ฉบับเต็มคำพิพากษาอุทธรณ์ยกฟ้อง‘อิศรา’ไม่หมิ่น‘ธนกร นันที’
“…ข่าวที่เกี่ยวกับการทุจริตในโครงการของหน่วยงานของรัฐซึ่งนักการเมืองมีส่วนเกี่ยวข้องย่อมเป็นที่สนใจของประชาชน การที่สำนักข่าวอิศราลงข่าวโดยใช้ข้อความทำนองว่า บริษัทนายหน้าที่ได้รับผลประโยชน์จากโครงการมีความเชื่อมโยงกับนักการเมืองไทยก็เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้อ่าน และแสดงให้เห็นว่าการเสนอข่าวดังกล่าวของสำนักข่าวอิศราเป็นการเสนอข่าวในเชิงลึกเน้นการเปิดเผยข้อมูลข้อเท็จจริงที่มีผลในด้านการตรวจสอบ ป้องกัน และปราบปรามการทุจริตรวมถึงการใช้อำนาจรัฐโดยมิชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง…”
“ข่าวที่เกี่ยวกับการทุจริตในโครงการของหน่วยงานของรัฐซึ่งนักการเมืองมีส่วนเกี่ยวข้องย่อมเป็นที่สนใจของประชาชน การที่สำนักข่าวอิศราลงข่าวโดยใช้ข้อความทำนองว่า บริษัทนายหน้าที่ได้รับผลประโยชน์จากโครงการมีความเชื่อมโยงกับนักการเมืองไทยก็เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้อ่าน และแสดงให้เห็นว่าการเสนอข่าวดังกล่าวของสำนักข่าวอิศราเป็นการเสนอข่าวในเชิงลึกเน้นการเปิดเผยข้อมูลข้อเท็จจริงที่มีผลในด้านการตรวจสอบ ป้องกัน และปราบปรามการทุจริตรวมถึงการใช้อำนาจรัฐโดยมิชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งหากการเสนอข่าวอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงที่ได้จากแหล่งข่าวที่มีคุณภาพและปฏิบัติตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชนก็จะเป็นที่น่าเชื่อถือและมีชื่อเสียงแพร่หลายเป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมทั้งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทยด้วย”
คือใจความสำคัญของศาลอุทธรณ์ที่พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ยกฟ้องคดีที่นายธนกร นันที อดีต ส.ส.พรรคไทยรักไทย อดีตเลขานุการ รมว.ยุติธรรม (นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ) สมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร (2) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องมูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย เป็นจำเลยที่ 1 และนายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย เป็นจำเลยที่ 2 ในคดีหมิ่นประมาท กรณีสำนักข่าวอิศรา นำเสนอข่าวโครงการปลูกปาล์มน้ำมันที่ประเทศอินโดนีเซียของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (อ่านประกอบ : เสนอข่าวเชิงลึกเน้นข้อเท็จจริง! ศาลอุทธรณ์ ยืนยกฟ้อง อิศรา ไม่หมิ่นฯ อดีตเลขาฯ 'สุวัจน์')
เพื่อให้สาธารณชนเข้าใจถึงที่มาที่ไปของกระบวนการทำข่าวชิ้นนี้มากขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำคำพิพากษาฉบับเต็มของศาลอุทธรณ์มาเผยแพร่ ดังนี้
ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า ในปี 2550 บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ มีโครงการปลูกปาล์มน้ำมันที่ประเทศอินโดนีเซีย โดยบริษัท พีทีที กรีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (PTTGE) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ต่อมาโครงการดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ว่าจ้างบริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ จำกัด ประเมินกระบวนการลงทุน และการขายทรัพย์สินของบริษัท PTTGE และมีหนังสือให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบโครงการปลูกปาล์มน้ำมันที่ประเทศอินโดนีเซีย โดยกล่าวหาว่า กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท PTTGE ดำเนินโครงการจัดหาที่ดินเพื่อปลูกปาล์มและผลิตน้ำมันปาล์มในประเทศอินโดนีเซียโดยมิชอบ ทำให้บริษัท PTTGE และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้รับความเสียหาย
คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้กรรมการ ป.ป.ช. ทั้งคณะเป็นองค์คณะในการไต่สวนข้อเท็จจริงเรื่องการทุจริตในโครงการดังกล่าวเมื่อระหว่างวันที่ 11 ส.ค.-16 ส.ค. 2560 โดยสำนักข่าวอิศราได้เผยแพร่ข่าวสารเรื่องการจัดซื้อที่ดินเพื่อปลูกปาล์มน้ำมันที่ประเทศอินโดนีเซียของบริษัท PTTGE และการจ่ายเงินค่านายหน้าผ่านเว็บไซต์อิศรารวม 9 ครั้ง
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ในประการแรกว่า การเผยแพร่ข้อความในเว็บไซต์เป็นการใส่ความโจทก์อันเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามฟ้องหรือไม่
เห็นว่า ในกรณีการลงข่าวเรื่องใดเรื่องหนึ่งเผยแพร่ต่อเนื่องกันหลายครั้งหลายตอน การที่จะวินิจฉัยว่าข้อความในข่าวเป็นการใส่ความหมิ่นประมาทบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือไม่ จะต้องพิจารณาข้อความในข่าวเรื่องนั้นทุกบททุกตอนประกอบกันว่ามุ่งประสงค์ให้วิญญูชนผู้ได้รับทราบข่าวนั้นอย่างต่อเนื่องสามารถเข้าใจได้ว่า บุคคลซึ่งมีความประพฤติหรือพฤติกรรมเสื่อมเสียอันเป็นที่ดูหมิ่นหรือเกลียดชังของประชาชนทั่วไปตามที่ระบุในข่าวนั้นคือผู้ใด
สำหรับการรายงานข่าวของสำนักข่าวอิศราที่เป็นมูลเหตุคดีนี้ เริ่มจากการเกริ่นนำว่า สำนักข่าวอิศราตรวจสอบพบว่า ตามรายงานผู้สอบบัญชีของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ปรากฏปัญหาหลายประการของโครงการปลูกปาล์มน้ำมันที่ประเทศอินโดนีเซีย และในกระบวนการซื้อที่ดิน บริษัท PTTGE ได้ทำสัญญาจ่ายค่านายหน้าจำนวนมากกว่า 35% ให้แก่บริษัทนายหน้าที่ลงนามในสัญญา โดยบุคคลสัญชาติไทย ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับบริษัทบางแห่งที่จดทะเบียนในประเทศไทย
วันต่อ ๆ มา ก็ได้รายงานข่าวต่อเนื่อง โดยลงข่าวว่า บริษัทนายหน้าที่ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้จดทะเบียนในประเทศโดมินิกัน และปรากฏชื่อบุคคลสัญชาติไทยรายหนึ่งเป็นผู้มีอำนาจลงนาม โดยบุคคลสัญชาติไทยรายนี้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจในบริษัทบางแห่งที่จดทะเบียนในประเทศไทยด้วย ซึ่งบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศไทยนี้มีบุคคลที่อาจเชื่อมโยงกับนักการเมืองไทยรายหนึ่งด้วย
หนึ่งในบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศไทย ปรากฏชื่อของเครือญาติอดีตนักการเมืองไทยรายหนึ่งเป็นกรรมการในบริษัทนี้ สำหรับนักการเมืองไทยรายนี้เคยมีตำแหน่งเป็นถึงเลขานุการอดีตรัฐมนตรีสำคัญหลายสมัย และอดีตหัวหน้าพรรคชื่อดัง
กับพาดหัวข้อข่าวว่า “เผยโฉม 2 บุคคลสัญชาติไทย ผู้มีอำนาจลงนาม “KSL” บ.นายหน้าปมซื้อที่ดินปลูกปาล์มอินโดฯ ได้ค่าบริการ 34 ล.เหรียญสหรัฐฯ โยง 2 บริษัทไทย-เครือญาตินักการเมืองดังนั่ง กก.” โดยระบุในเนื้อหาข่าวว่า ปรากฎชื่อของนายธกฤษณ์ พระหมเดชะ และนายวัชรินทร์ สุทธิประภา เป็นบุคคลสัญชาติไทยที่มีอำนาจลงนาKSL ในสัญญาค่าบริการนายหน้าและค่าบริการให้คำปรึกษา บุคคลทั้งสองเป็นกรรมการบริษัท ปาล์ม บิซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด และบริษัท ปาล์มบิซ แพลนเทชั่น จำกัด ซึ่งบริษัทดังกล่าวปรากฏชื่อของเครือญาติอดีตนักการเมืองรายหนึ่งเข้าไปเกี่ยวข้อง
ต่อมาพาดหัวข่าวว่า “เปิดตัว 2 บ.ไทย “ธกฤษณ์-วัชรินทร์” นั่ง กก. หลังชื่อโผล่มีอำนาจลงนาม บ.นายหน้า ปมซื้อที่ดินปลูกปาล์มอินโดฯ พบ “ธนกร นันที” อดีต ผอ.พรรคชาติพัฒนา-เลขาฯ “สุวัจน์ ลิปตพัลลภ” ช่วง รบ.ทักษิณ 2 นั่ง กก. ด้วย” โดยระบุในเนื้อหาข่าวว่า “สำนักข่าวอิศราตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นของบริษัททั้งสองแห่งจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบข้อเท็จจริงดังนี้ … บริษัท ปาล์ม บิซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด … ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการให้บริการทางข้อมูลและแผนการตลาดของธุรกิจปาล์มน้ำมัน มีนายมณฑล นันที นายธกฤษณ์ พรหมเดชะ และนายวัชรินทร์ สุทธิประภา เป็นกรรมการ … บริษัท ปาล์มบิซ แพลนเทชั่น จำกัด … แจ้งสถานะว่าร้าง … ประกอบธุรกิจ … ปาล์มน้ำมัน มีนายธนกร นันที นางธนภร นันที นายธกฤษณ์ พรหมเดชะ และนายวัชรินทร์ สุทธิประภา เป็นกรรมการ สำหรับนายธนกร นันที เป็นอดีต ส.ส.พรรคไทยรักไทย สมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ก่อนหน้านี้เคยเป็น ผอ.พรรคชาติพัฒนา และเคยเป็นอดีตเลขานุการ รมว.ยุติธรรม (นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตหัวหน้าพรรคชาติพัฒนา) เมื่อปี 2548 (สมัยรัฐบาลนายทักษิณ 2) ด้วย”
และในสองวันสุดท้ายลงข่าวว่า บริษัททั้งสองแห่งดังกล่าวปรากฏชื่อนายธนกร นันที (โจทก์) และเครือญาติเป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นด้วย
เมื่อพิจารณาข้อความในรายงานข่าวทั้งหมดแล้ว ไม่ปรากฏว่ามีข้อความตอนใดที่กล่าวหาว่าโจทก์มีส่วนได้รับผลประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมายจากโครงการปลูกปาล์มน้ำมันที่ประเทศอินโดนีเซีย หรือโจทก์มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำสัญญาระหว่างบริษัท PTTGE กับบริษัทนายหน้าในต่างประเทศ
แม้ว่าวิญญูชนทั่วไปที่ได้อ่านรายงานข่าวดังกล่าวจะทราบว่านักการเมืองที่อ้างถึงในข่าวคือโจทก์ แต่ในรายงานข่าวดังกล่าวระบุชัดแจ้งแล้วว่า โจทก์เพียงแต่มีชื่อเป็นกรรมการในบริษัทเดียวกันกับนายธกฤษณ์ และนายวัชรินทร์ ซึ่งเป็นผู้ลงนามในสัญญาฝ่ายบริษัทนายหน้าในต่างประเทศในการจัดซื้อที่ดินของบริษัท PTTGE เท่านั้น
ทั้งบริษัท ปาล์มบิซ แพลนเทชั่น จำกัด ที่มีชื่อโจทก์เป็นกรรมการ แจ้งสถานะว่าร้าง ซึ่งหมายความว่าไม่ได้ประกอบกิจการ และในรายงานข่าวก็ระบุว่า โจทก์ถือหุ้นบริษัท ปาล์มบิซ แพลนเทชั่น จำกัด เพียง 1 หุ้น ส่วนบริษัท ปาล์ม บิซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด โจทก์ออกจากกรรมการและผู้ถือหุ้นเมื่อปี 2554
เมื่อความสัมพันธืระหว่างโจทก์กับบริษัทนายหน้าต่างประเทศดังกล่าวห่างไกลกันมาก และไม่มีสิ่งบ่งชี้ว่าผู้ที่ลงนามในสัญญานายหน้าเป็นตัวแทนของโจทก์เช่นนี้ วิญญูชนทั่วไปย่อมไม่อาจเข้าใจไปได้เลยว่า โจทก์มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับผลประโยชน์จากค่าคอมมิชชั่นหรือค่านายหน้ากรณีซื้อที่ดินปลูกปาล์มน้ำมันที่ประเทศอินโดนีเซีย
ข่าวที่เกี่ยวกับการทุจริตในโครงการของหน่วยงานของรัฐซึ่งนักการเมืองมีส่วนเกี่ยวข้องย่อมเป็นที่สนใจของประชาชน การที่สำนักข่าวอิศราลงข่าวโดยใช้ข้อความทำนองว่า บริษัทนายหน้าที่ได้รับผลประโยชน์จากโครงการมีความเชื่อมโยงกับนักการเมืองไทยก็เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้อ่าน และแสดงให้เห็นว่าการเสนอข่าวดังกล่าวของสำนักข่าวอิศราเป็นการเสนอข่าวในเชิงลึกเน้นการเปิดเผยข้อมูลข้อเท็จจริงที่มีผลในด้านการตรวจสอบ ป้องกัน และปราบปรามการทุจริตรวมถึงการใช้อำนาจรัฐโดยมิชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ซึ่งหากการเสนอข่าวอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงที่ได้จากแหล่งข่าวที่มีคุณภาพและปฏิบัติตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชนก็จะเป็นที่น่าเชื่อถือและมีชื่อเสียงแพร่หลายเป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมทั้งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทยด้วย
เมื่อในการเสนอข่าวที่ระบุชื่อโจทก์ มีการแนบสำเนาเอกสารราชการ เป็นหลักฐานประกอบข่าวความเชื่อมโยงระหว่างบริษัทนายหน้าต่างประเทศกับนักการเมืองไทย และโจทก์มิได้ปฏิเสธว่าเอกสารดังกล่าวไม่ถูกต้อง การเสนอข่าวเกี่ยวกับโจทก์จึงอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงและไม่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังแต่อย่างใด
การเผยแพร่ข้อความในเว็บไซต์ จึงไม่เป็นการใส่ความโจทก์อันจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น และคดีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ข้อที่ว่านายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา ต้องร่วมรับผิดกับ มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ในการเผยแพร่ข้อความในเว็บไซต์หรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
อ่านประกอบ :
เสนอข่าวเชิงลึกเน้นข้อเท็จจริง! ศาลอุทธรณ์ ยืนยกฟ้อง อิศรา ไม่หมิ่นฯ อดีตเลขาฯ 'สุวัจน์'
ศาลพิพากษายกฟ้อง อิศรา ไม่หมิ่นฯ 'ธนกร นันที' เสนอข่าวคดีปตท.ปลูกปาล์มอินโดฯ
'นิพิฐ-บ.ปาล์ม บิซ' โนติสเตือนอิศราหยุดเสนอข่าวป.ป.ช.สอบคดีปลูกปาล์มอินโด
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage