จุดยืนกัญชาทางการแพทย์ของสหราชอาณาจักร
"...น่าจะเห็นได้ชัดว่า ข้อสรุปทางการแพทย์ที่ผ่านกระบวนการวิจัยมาตรฐานสากลนั้นมาจากประเทศต่างๆ ล้วนสอดคล้องกันว่า กัญชานั้นมีที่ใช้ค่อนข้างจำกัดมาก และผลข้างเคียงสูง การจะผลักดัน บีบคั้น หรือทำอะไรก็แล้วแต่ เพื่อมาใช้ในกระบวนการดูแลรักษาแบบแพทย์แผนปัจจุบันนั้นไม่สามารถทำได้ เพราะต้องการข้อมูลที่ผ่านการพิสูจน์ทั้งเรื่องความปลอดภัย และสรรพคุณอย่างชัดเจนเสียก่อน..."
จะเงียบเป็นเป่าสาก...หากได้อ่านแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยโดยใช้กัญชา ที่ได้ฤกษ์งามยามดีเผยแพร่ฉบับทางการในวันนี้
วันเพ็ญเดือนสิบสอง น้ำก็นองเต็มตลิ่ง เราทั้งหลายชายหญิง สนุกกันจริงวันพระจันทร์เต็มดวง...ร้องเพลงเอาฤกษ์เอาชัยเสียหน่อย เปล่าๆ ไม่ได้เมายาเสพติดนะ
ถ้าติดตามความเคลื่อนไหวในสังคมไทย เราคงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า มีการอ้างอิงสหราชอาณาจักรกันเหลือเกินว่าใช้กัญชากันมากมายแพร่หลาย
หลังจากปั่นข่าวกันจนสาแก่ใจ ก็จูงใจให้คนเชื่อกันว่ามันเป็นสิ่งที่ไทยต้องทำตามเขา ดูเค้าเป็นมาตรฐาน
แต่หารู้ไม่ว่า ท่ามกลางกระแสสังคมที่ปั่นเรื่องกัญชาว่ามีสรรพคุณเว่อร์วังอลังการนั้น ประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลาย ไม่ว่าจะอเมริกา แคนาดา ตลอดจนยุโรปอย่างสหราชอาณาจักร ที่มีผลิตภัณฑ์กัญชานานาชนิดนั้น มันไม่ได้เป็นมาตรฐานทางการแพทย์ที่จะนำมาใช้ได้มากมายอย่างที่พยายามยุให้คนในสังคมเข้าใจ และเค้าเจอปัญหาสังคมจากกัญชามากมายหลายเรื่อง
วันพระจันทร์เต็มดวงวันนี้ มีความหมายอย่างยิ่งต่อคนในสหราชอาณาจักร อันหมายรวมถึงอังกฤษ เวลส์ สก็อตแลนด์ และไอร์แลนด์เหนือ ที่ระบบการดูแลรักษาผู้ป่วยนั้นมีขั้นตอนที่ได้รับการยกย่องทั่วโลกว่ามีการจัดการเป็นระบบ มีการกลั่นกรองทางวิชาการที่ได้มาตรฐานว่า ยาหรือวิธีรักษาต่างๆ ที่จะบรรจุไว้ในชุดสิทธิประโยชน์ให้ใช้ หรือให้เบิกจ่ายได้นั้น ต้องได้รับการตรวจสอบว่าได้สรรพคุณจริง ปลอดภัยจริง และคุ้มค่า
และไม่ใช่แค่คนในสหราชอาณาจักรเท่านั้น วงวิชาการแพทย์ทั่วโลกก็จับตาเช่นกันว่า ผลที่จะประกาศออกมาในวันนี้นั้นจะเป็นอย่างไร
หน่วยงานหลักที่ดูแลระบบสุขภาพของเขาคือ NHS ซึ่งจะรับฟังแนวทางการดูแลรักษาต่างๆ ที่ได้รับการตรวจสอบและแนะนำโดย National Institute of Health and Care Excellence (NICE) ที่มีความเข้มแข็ง ยึดมั่นในหลักวิชาการที่เชื่อถือได้เสมอมา
หลายเดือนก่อน กองเชียร์กัญชาก็ใจแป้วมาแล้วครั้งหนึ่ง หลังจากที่ NICE ได้เผยแพร่ร่างคำแนะนำในการใช้กัญชาทางการแพทย์ เพื่อให้มีกระบวนการรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน หลังจากได้ทบทวนงานวิจัยทางการแพทย์ทั่วโลกเกี่ยวกับการใช้กัญชาทางการแพทย์
ทั้งนี้ในฉบับร่างนั้น มีเนื้อความที่สอดคล้องกับวงการแพทย์แผนปัจจุบันทั่วโลก รวมถึงสภาวิชาชีพ และราชวิทยาลัยแพทย์สาขาต่างๆ ว่ามีไม่กี่ข้อบ่งชี้เท่านั้นที่สามารถนำสารสกัดกัญชาไปใช้ในการดูแลรักษาได้ และการใช้นั้นก็เสี่ยงเหลือเกินกับผลข้างเคียง/อาการไม่พึงประสงค์ และสารสกัดกัญชานั้นไม่สามารถนำมาใช้ทดแทนการรักษามาตรฐานได้
กระบวนการรับฟังความเห็น และกลั่นกรองขั้นสุดท้ายใช้เวลากว่าสองเดือน
จนถึงวันนี้ที่รอคอย...ดูว่าสารสกัดจากกัญชานั้นจะสามารถนำมาช่วยผู้ป่วยได้บ้างหรือไม่ อย่างไร?
มาดูสาระสำคัญจากข้อแนะนำเค้ากันว่า ฉบับทางการว่าไว้อย่างไรบ้าง?
1. ผู้ป่วยมะเร็งที่มีคลื่นไส้อาเจียนรุนแรงหลังได้เคมีบำบัด
สามารถใช้ยา Nabilone ซึ่งเป็นสารสังเคราะห์เลียนแบบสารสกัดจากัญชา เพื่อเสริมการรักษาได้เฉพาะในผู้ป่วยที่รักษาด้วยยามาตรฐานแล้วไม่ดีขึ้นเท่านั้น และต้องระวังเรื่องผลข้างเคียงด้วยเสมอ
2. ผู้ป่วยที่มีอาการปวดเรื้อรัง
ห้ามใช้กัญชาในการรักษา ไม่ว่าจะเป็นยา Nabilone, Dronabinol, THC, หรือแม้แต่ที่ผสมระหว่าง CBD และ THC ก็ตาม
ส่วน CBD นั้นจะใช้ทำการทดลองในการวิจัยได้เท่านั้น
3. ผู้ป่วยที่มีอาการกล้ามเนื้อเกร็งในโรค Multiple sclerosis
ใช้ได้เฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการปานกลางถึงรุนแรงที่รักษาด้วยยามาตรฐานแล้วไม่ได้ผลเท่านั้น โดยให้สามารถลองใช้ยาพ่นแบบสเปรย์ ที่มีส่วนผสมของ CBD กับ THC เป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์ หากประเมินแล้วอาการลดลงมากกว่าร้อยละ 20 จึงจะสามารถใช้ต่อได้
4. ผู้ป่วยที่เป็นโรคลมชักรุนแรง
ข้อมูลวิชาการนั้นมีจำกัดมาก โดยสรรพคุณยังไม่ชัดเจน และมีผลข้างเคียงสูง ยังไม่สามารถให้คำแนะนำในการใช้ในกระบวนการดูแลรักษาได้
ทั้งนี้ในเดือนธันวาคมนี้ จะมีการเผยแพร่คำแนะนำในการใช้สำหรับโรคลมชักรุนแรงในเด็ก ได้แก่ Dravet Syndrome และ Lennox-Gastaut Syndrome อย่างเป็นทางการ โดยมีแนวโน้มที่จะสามารถใช้ได้ในกรณีที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษามาตรฐานแล้ว
ข้อสรุปที่กล่าวมาข้างต้นนั้น อยู่บนพื้นฐานข้อมูลทางวิชาการแพทย์ที่น่าเชื่อถือ และคำแนะนำเหล่านั้นจะนำไปสู่การปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้กัญชาทางการแพทย์ในสหราชอาณาจักร
ดูความเคลื่อนไหวของเขาแล้ว มาดูบ้านเรา
น่าจะเห็นได้ชัดว่า ข้อสรุปทางการแพทย์ที่ผ่านกระบวนการวิจัยมาตรฐานสากลนั้นมาจากประเทศต่างๆ ล้วนสอดคล้องกันว่า กัญชานั้นมีที่ใช้ค่อนข้างจำกัดมาก และผลข้างเคียงสูง
การจะผลักดัน บีบคั้น หรือทำอะไรก็แล้วแต่ เพื่อมาใช้ในกระบวนการดูแลรักษาแบบแพทย์แผนปัจจุบันนั้นไม่สามารถทำได้ เพราะต้องการข้อมูลที่ผ่านการพิสูจน์ทั้งเรื่องความปลอดภัย และสรรพคุณอย่างชัดเจนเสียก่อน
ส่วนการจะมาอ้างข้างๆ คูๆ ว่า ประสบการณ์จริงของฉันใช้แล้วมันได้ผล แล้วจะมาตีขลุมด้วยคำหรูๆ ว่า ต้องใช้ Totality of evidence ดังที่เห็นอ้างกันเหลือเกินนั้น...ฟังไม่ขึ้นด้วยประการทั้งปวง เพราะมันขัดกับหลักจริยธรรมทางการแพทย์ และมาตรฐานทางการแพทย์แผนปัจจุบัน นอกจากนี้การใช้คำหรูๆ นั้น จำเป็นจะต้องเรียนรู้และเข้าใจความหมายหรือที่มาของคำนั้นอย่างถ่องแท้ จึงจะนำมาใช้ได้ถูกต้อง เพราะที่ใช้ๆ มานั้น มันไม่ใช่ครับ
จากหลักฐานต่างๆ ที่กล่าวมา จึงมาถึงข้อสรุปแบบฟันธง (หรือเปล่า?) ที่ว่า ด้วยมาตรฐานทางการแพทย์แผนปัจจุบัน กัญชานั้นมีที่ใช้น้อย และไม่สามารถมาใช้ทดแทนการรักษามาตรฐาน หรือแม้แต่จะมายุยงให้ใช้กันอย่างเสรีได้
แต่หากคิดจะเปลี่ยนไปผลักไปสู่การใช้เป็นการแพทย์ทางเลือกนั้น คงไม่สามารถไปปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของคนในการตัดสินใจเลือกใช้เลือกทำได้
คลินิกกัญชาที่ใครคิดจะเปิดนั้น จึงควรรับรู้ไว้ว่า แผนปัจจุบันมีมาตรฐานของมันอยู่ ใช้ได้จำกัด และแยกแยะให้ดีว่าจะผลักการใช้ไปในลักษณะแผนปัจจุบันหรือทางเลือก หากจะผสมปนเปกัน หากเกิดผลข้างเคียง อันตรายรุนแรง ใครจะรับผิดชอบกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น
ไม่ใช่ว่า ใช้กันมั่วซั่ว แล้วสุดท้ายเกิดปัญหา ก็เทกระจาดมาให้แพทย์แผนปัจจุบันรับเละ ทั้งๆ ที่แพทย์ทุกคนก็พยายามดูแลรักษาตามมาตรฐานที่ร่ำเรียนมาอย่างเต็มที่
คืนวันพระจันทร์เต็มดวงนั้น...มีหลายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้
ไม่ว่าจะเป็นวันเพ็ญเดือนสิบสอง จัดงานลอยกระทงสำราญใจกันทุกฝ่าย
หรืออาจจะเป็นตามหนังแฮรี่พอตเตอร์ ที่พระจันทร์เต็มดวงแล้วมีโปรเฟสเซอร์กลายร่างเป็นมนุษย์หมาป่า ไล่กัดคนไปทั่ว แต่ถ้าจำไม่ผิดจะตายตอนจบ
เรื่องกัญชาในคืนวันพระจันทร์เต็มดวงนั้น น่าจะเป็นไปด้วยดี หากรับรู้รับฟังข้อมูลทางการแพทย์ที่ถูกต้อง และนำไปใช้อย่างเหมาะสม
นี่คือสิ่งสำคัญที่สังคมไทยต้องรู้เท่าทัน และไม่หลงกับข่าวลวง การโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่หวังผลเชิงธุรกิจ และไม่หลงต่อกิเลสและความกลัว
มาตรฐานคือมาตรฐานครับ
ด้วยรักต่อทุกคน
อ้างอิง
Cannabis-based medicinal products. National Institute of Health and Care Excellence, UK, 11 November 2019.
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก www.chularatcancercenter.com