งบทหารปี 63 กับภาพสะท้อน"ลัทธิอาวุธนิยม"
แม้การอภิปรายงบประมาณอย่างดุเดือดกลางสภาจะผ่านพ้นไปแล้ว เพราะร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 63 กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระ 2 หรือชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ก็ตาม
แต่ประเด็นเกี่ยวกับการจัดทำงบประมาณของรัฐบาล ซึ่งครองอำนาจต่อเนื่องมาจากยุค คสช.ยังคงได้รับความสนใจและถูกจับตาจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะงบด้านการทหาร
ศาสตราจารย์ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคงชื่อดัง จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สะบัดปากขาเขียนบทความตั้งข้อสังเกต 6 ข้อเกี่ยวกับการจัดงบทหาร ในหัวข้อ "งบประมาณทหาร 2563! ความเห็นบางประการ" ซึ่งสาระสำคัญเป็นการสะท้อนภาพ "ลัทธิอาวุธนิยม" และ "วัฒนธรรมอาวุธ" อย่างแจ่มชัดยิ่งในกองทัพไทย
-------------------------------------------
หลังจากรัฐประหาร 2557 แล้ว เห็นได้ชัดว่างบประมาณของกระทรวงกลาโหมมีทิศทางเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และแนวโน้มเช่นนี้สะท้อนให้เห็นถึงการจัดซื้อจัดหายุทโธปกรณ์ที่มีทิศทางเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน
สำหรับงบประมาณของกระทรวงกลาโหมปี 2563 มีจำนวน 2.33 แสนล้านบาท (จากงบประมาณทั้งหมดของประเทศ 3.2 ล้านล้านบาท) และเพิ่มจากงบในปี 2562 เป็นจำนวน 6.2 พันล้านบาท
ข้อสังเกต
ในงบประมาณของปีใหม่นี้ หากพิจารณาเฉพาะในส่วนของการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ มีประเด็นสำคัญที่อาจตั้งเป็นข้อสังเกตได้ 6 ประการ ดังนี้
1. จากทิศทางการใช้งบประมาณของรัฐบาลทหาร 2557 จนถึงรัฐบาลปัจจุบัน (รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 2/1) จะเห็นได้ชัดเจนว่า กองทัพไทยให้ความสำคัญกับการจัดหายุทโธปกรณ์เป็นทิศทางหลัก จนอาจตั้งเป็นข้อสังเกตได้ว่าการพัฒนากองทัพไทยปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรมเพียงด้านเดียว คือ การนำเอายุทโธปกรณ์ใหม่เข้าประจำการ
สภาวะเช่นนี้จึงมักทำให้กองทัพถูกวิจารณ์ว่า การพัฒนาทางทหารของไทยมีความหมายเพียงการซื้ออาวุธสมรรถนะสูงเท่านั้น ดังจะเห็นว่ารายการจัดซื้อที่สำคัญในช่วงที่ผ่านมา ได้แก่ เรือดำน้ำ รถถัง รถหุ้มเกราะล้อยาง และเครื่องยิงจรวดหลายลำกล้อง เป็นต้น ปรากฏการฌ์ในการจัดทำงบทหารในปี 2563 จึงเป็นการตอกย้ำทิศทางเดิมที่เป็นมา คือ การดำรงอยู่ของ "ลัทธิอาวุธนิยม" ที่ยังมีความเข้มแข็งอย่างมากในกองทัพ จนหลายครั้งกลายเป็น "ลัทธิบริโภคอาวุธนิยม" ในตัวเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วย
2. คงปฏิเสธไม่ได้ว่ารายการอาวุธที่กองทัพจะจัดหาในช่วงที่ผ่านมา และที่เตรียมการจัดซื้อในอนาคตนั้น เป็นอาวุธสมรรถนะสูงที่มีราคาแพง ไม่ว่าจะเป็นการซื้อจากสหรัฐอเมริกา เช่น รถหุ้มเกราะล้อยางจากสหรัฐเพิ่มเติม ปืนใหญ่ขนาด 155 มม. และจัดซื้อจากจีน ได้แก่ เรือดำน้ำอีก 2 ลำ และการจัดสร้างอู่ต่อเรือเพื่อรองรับเรือดำน้ำที่เข้าประจำการ และอาจมีการจัดหาเรือฟรีเกตเพิ่มเติม
สำหรับกองทัพอากาศมีกระแสข่าวว่า อาจมีการปลดประจำการเครื่องบินรบแบบ เอฟ-16 โดยอาจจะมีการจัดหาเครื่องบินรบแบบ เอฟ-15 ซึ่งเป็นเครื่องบินรบแบบสองเครื่องยนต์เข้ามาทดแทน นอกจากนี้ มีข่าวในอีกส่วนที่มีการกล่าวถึงการจัดหาเครื่องบินรบสมรรถนะสูง เช่น เครื่องแบบ เอฟ-18 หรือแม้กระทั่งเครื่องบินแบบ เอฟ-22 หรือ เอฟ-35 เป็นต้น แต่ก็อาจจะเป็นไปได้ยาก เพราะราคาแพงมาก และมีค่าใช้จ่ายในการปรนนิบัติบำรุงรักษาที่แพงมากเช่นกันด้วย
จากตัวอย่างของรายการจัดหาเช่นนี้ ชี้ให้เห็นถึงค่าใช้จ่ายที่เป็นมูลค่ามหาศาลในการจัดหายุทโธปกรณ์ใหม่ในอนาคต ทั้งที่งบประมาณกองทัพนั้น ร้อยละ 70 เป็นงบกำลังพล (เช่น เงินเดือน และสวัสดิการ) และที่เหลืออีกร้อยละ 30 เป็นส่วนที่เหลือ ซึ่งก็มิได้หมายความว่า กองทัพจะสามารถใช้งบประมาณร้อยละ 30 นี้ในการจัดหายุทโธปกรณ์ได้ทั้งหมด เพราะยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่กองทัพต้องแบกรับในแต่ละปีด้วย
3. การจัดซื้ออาวุธสมรรถนะสูงเหล่านี้อาจจะไม่ตอบโจทย์ความต้องการทางยุทธศาสตร์ของประเทศได้ทั้งหมด เพราะถ้าแนวโน้มของสงครามในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลดลง หรือในอีกด้านอาจจะต้องยอมรับว่า โอกาสเกิดสงครามตามแบบขนาดใหญ่ในภูมิภาคจนกลายเป็น "สงครามกับเพื่อนบ้าน" ก็ดูจะมีความเป็นไปได้น้อยลงมาก การจัดหายุทโธปกรณ์เหล่านี้อาจจะต้องการคำอธิบายสำหรับสาธารณชนและรัฐสภา
และในอีกด้านหนึ่งจะเห็นได้จากการประชุมอาเซียนที่เกิดขึ้นที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพล่าสุดนั้น สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประเทศในภูมิภาค ซึ่งไม่ได้มีภาพสะท้อนของความขัดแย้งที่ชัดเจนในภูมิภาคแต่ประการใด เว้นแต่นักการทหารไทยสายอนุรักษ์นิยมจะเชื่อว่า การจัดหายุทโธปกรณ์ของกองทัพไทยไม่มีความจำเป็นต้องพิจารณาบริบทของสถานการณ์ในภูมิภาค หรือการจัดซื้อไม่มีความจำเป็นที่จะต้องการวิเคราะห์ทางวิชาการว่าด้วยเรื่องปัญหาภัยคุกคาม กล่าวคือไม่ว่าภัยคุกคามจะมีหรือไม่ หรือภัยคุกคามจะเปลี่ยนแปลงไปเช่นไรก็ตาม แต่กองทัพจะจัดซื้อจัดหาอย่างที่ "อยากได้"
4. เป็นที่รับรู้กันในทางยุทธศาสตร์ว่า ภัยคุกคามทั้งในบริบทภายในและในบริบทภายนอกนั้น ไม่ว่าจะมองจากมุมของไทย (หรืออาจรวมทั้งในมุมของประเทศเพื่อนบ้านก็ตาม) จะเห็นได้ว่าโอกาสของการเกิดสงครามตามแบบ จนถึงขั้นต้องใช้กำลังขนาดใหญ่นั้น เป็นสิ่งที่ห่างไกลจากความเป็นจริงอย่างมาก แต่สิ่งที่ดำรงอยู่และเป็นปัญหาภัยคุกคามที่สำคัญกลับมีลักษณะเป็น "สงครามอสมมาตร" (Asymmetric Warfare) ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสงครามก่อความไม่สงบในภาคใต้ ปัญหาการก่อการร้าย ที่มีทิศทางเป็น "การก่อการร้ายในเมือง" (Urban Terrorism) ดังเช่นกรณีการระเบิดที่ศาลพระพรหม หรือการวางระเบิดในกรุงเทพฯในช่วงที่ผ่านมา ทำอย่างไรที่รัฐบาลจะลงทุนเพื่อการรับมือปัญหาภัยคุกคามในมิติเช่นนี้ มิใช่จะเน้นอยู่กับการจัดหาอาวุธสำหรับสงครามตามแบบเท่านั้น
5. ในอีกด้านหนึ่งของการจัดหายุทโธปกรณ์สมรรถนะสูงนั้น สะท้อนให้เห็นทัศนะของผู้นำระดับสูงของกองทัพที่ให้ความสําคัญกับอาวุธใหม่ๆ จนแทบจะกลายเป็นมิติของชุดความคิดทางทหารว่า การพัฒนากองทัพมีนัยหมายถึงการนำอาวุธใหม่เข้าประจำการ และผลจากการนี้ถูกประกอบสร้างให้กลายเป็นภาพจำลองของ "ความสำเร็จทางทหาร" ที่อาวุธเหล่านี้จะเป็นดังผลงานชิ้น "โบว์แดง" ที่จะถูกกล่าวขานในกองทัพว่า ยุคของผู้บังคับบัญชาท่านใดมีอาวุธอะไรใหม่ประจำการในกองทัพ
นัยทางความคิดเช่นนี้ทำให้เราแทบไม่เห็นทิศทางการพัฒนาในส่วนอื่น และขณะเดียวกันทุกอย่างในกองทัพก็ถูกผูกโยงเข้ากับเรื่องหลักประการเดียวคือ ปีงบประมาณนี้กองทัพจะซื้ออะไร
6. ในอีกส่วนของปัญหาที่เห็นได้ในหลายปีที่ผ่านมาคือ การตรวจสอบในเรื่องการจัดหายุทโธปกรณ์เป็นสิ่งที่มีข้อจำกัดอย่างมาก ไม่ว่าจะในมุมของกระบวนการทางรัฐสภา หรือกระบวนการทางสังคมก็ตาม จนเหมือนว่าการตรวจสอบที่ถ้าจะเกิดขึ้นบ้าง ก็แทบไม่เคยส่งผลกระทบให้เกิดความเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด อันทำให้เกิดปัญหาข้อวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นการจัดซื้อของกองทัพเสมอมา โดยเฉพาะในเรื่องของความโปร่งใส จนเป็นดังเรื่อง "อื้อฉาว" (หรือที่เรียกว่าเป็น "arms scandals" ในการเมืองก็ได้)
ประเด็นนี้ทำให้ต้องคิดต่อมากขึ้นในอนาคตถึง "บทบาทของรัฐสภาในด้านกิจการทหาร" ที่ควรจะต้องยกระดับให้มีขีดความสามารถในการตรวจสอบในเรื่องของการจัดซื้อจัดหายุทโธปกรฌ์ทางทหาร ดังเช่นรัฐสภาของประเทศประชาธิปไตยที่พัฒนาแล้ว
ท้ายบท
อย่างไรก็ตามการจัดทำงบประมาณปี 2563 ยังมีประเด็นสำคัญอื่นๆ ในทางทหารอีก แต่บทความนี้จะขอนำเสนอเฉพาะในส่วนที่เป็นเรื่องของการจัดหายุทโธปกรณ์เป็นหลัก และเป็นการนำเสนอประเด็นในระดับภาคของกองทัพในภาพรวมเท่านั้น เพื่อต้องการเสนอให้เห็นปัญหาหลักบางประการในกรณีนี้ และเพื่อตอกย้ำให้เห็นถึงปัจจัยที่เรีนกว่า อิทธิพลของ "วัฒนธรรมอาวุธ" (arms culture) ที่ดำรงอยู่อย่างมั่นคงทางความคิดในกองทัพไทย...
โดยเฉพาะในหมู่ผู้บังคับบัญชาระดับสูง!