‘พุทธิพงษ์’ คาดได้ข้อสรุปสัปดาห์หน้า สัดส่วน พปชร. ชิงเก้าอี้ปธ.กมธ. แก้รธน.
‘พุทธิพงษ์’ เผยสัปดาห์หน้าทราบชื่อสัดส่วน พปชร. ชิงเก้าอี้ปธ.กมธ. แก้รธน. มีทั้งคนใน-คนนอก ชี้ต้องหารือแกนนำพรรคร่วมรบ. ขณะที่คืบหน้ามอนิเตอร์ข่าวปลอม เตรียมแถลง 13 พ.ย. จับกุมผู้ใช้สื่อโซเซียลหลอกปชช.
วันที่ 9 พ.ย. 2562 ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดเผยในงานประชุมเภสัชกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 10 ถึงการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.)วิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะการเลือกผู้ที่เหมาะสมมาดำรงตำแหน่งประธาน กมธ. ว่า นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 เป็นอีกหนึ่งคนที่มีความเหมาะสม อย่างไรก็ตาม พปชร.จะหาผู้ที่มีความเหมาะสม ความเชี่ยวชาญ และสามารถควบคุมการประชุมได้ ซึ่งมีทั้งคนในและคนนอกพรรค
“ส่วนใหญ่คนนอกจะเป็นผู้มีความรู้ความสามารถในการทำงานเกี่ยวกับการร่างรธน.ในหลายครั้ง เป็นคนกลาง มีความเหมาะสม คิดว่าภายในสัปดาห์หน้าคงได้ข้อสรุป แต่ยืนยันว่า ได้พูดคุยกับพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งต้องไปในทิศทางเดียวกัน และจะไม่เป็นปัญหาหรือเกิดข้อสงสัย คลางแคลงใจ มีทั้งที่ทาบทามไว้แล้ว ซึ่งต้องสอบถามแกนนำจากพรรคร่วมรัฐบาลด้วย แต่คงไม่ขอระบุตัวบุคคล”
กรรมการบริหารพรรค พปชร. ยังกล่าวถึงการแชร์ข่าวปลอม (Fake News) ในโลกออนไลน์ในขณะนี้ว่า ข่าวปลอมเป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง ซึ่งกระทรวงดีอีก่อตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมขึ้นมาแล้ว แต่อาจไม่สามารถตรวจสอบทุกข่าวได้ เราจึงเลือกเฉพาะข่าวที่คิดว่าได้รับความสนใจและแชร์มากในวงกว้าง ยกตัวอย่าง การแชร์ข่าวประกาศเคอร์ฟิว เมื่อศูนย์ต่อต้านฯ ทราบเรื่อง จึงสั่งการให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง เมื่อหน่วยงานที่รับผิดชอบยืนยันข้อมูล จึงได้นำเสนอข่าวนั้นออกไป ดังนั้น เมื่อได้รับการยืนยันเป็นข่าวปลอมจากหน่วยงานที่รับผิดชอบแล้ว และมีการเผยแพร่ออกไป หากยังมีผู้ใดแชร์ต่อ ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย ฐานเจตนาส่งข่าวปลอมให้สังคมตื่นตระหนก
“เราต้องใช้โซเซียลมีเดียให้เป็นประโยชน์ สังคมออนไลน์มีสองด้าน ใช้ดีก็เป็นประโยชน์ ใช้ไม่ดีก็เป็นโทษ กระทรวงดีอีเป็นเพียงปลายทางในการช่วยยืนยันและเก็บข้อมูล เพื่อนำเสนอ แต่ต้นทางประชาชนต้องช่วยเหลือด้วย”
ทั้งนี้ ในการการสกัดกั้น มีการตรวจสอบและแจ้งให้ประชาชนว่า ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร และเป็นข่าวปลอม รวมถึงร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่งข้อมูลดำเนินคดี โดยในวันที่ 13 พ.ย. 2562 กระทรวงดีอีจะแถลงข่าวร่วมกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) กรณีมีการใช้สื่อโซเซียลมีเดีย เป็นปัญหากับประชาชน โดยได้จับกุมหลายรายแล้ว เพราะพบว่า มีการหลอกให้ประชาชนกดลิงก์ กดแชร์ แล้วนำเข้าไปแฮ็กข้อมูลของประชาชน เพื่อหลอกเงินต้มตุ๋น เป็นต้น .
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/