ป.ป.ช. จับมือ อิศรา เปิดวงสนทนาประสานรัฐ-เอกชน“จัดซื้อจัดจ้างอย่างไรให้โปร่งใส-เป็นธรรม”
“...ด้วยความประสงค์ที่จะทำให้กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเป็นไปอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม ทำให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ร่วมกันจัดงานสนทนากลุ่ม ในหัวข้อ “จัดซื้อจัดจ้างอย่างไรให้โปร่งใส – เป็นธรรม” ขึ้นเมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2562 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมเดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ เพื่อหาข้อเสนอแนะ แนวทางในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐ รวมถึงการทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เอกชน และเพื่อให้ได้มาซึ่งแนวทางการแก้ไขที่เป็นรูปธรรมร่วมกันต่อไป...”
พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ให้นิยามคำว่า (มาตรา 4) “การจัดซื้อจัดจ้าง” หมายถึง การดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งพัสดุโดยการซื้อ จ้าง เช่า แลกเปลี่ยน หรือโดยนิติกรรมอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
อีกทั้ง ได้ระบุใน มาตรา 8 ว่า การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุของหน่วยงานของรัฐต้องก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่หน่วยงานของรัฐ และต้องสอดคล้องกับหลักการ คือต้องคุ้มค่า โปร่งใส มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และตรวจสอบได้
อย่างไรก็ดี ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างหลายโครงการนั้น ยังพบข้อบกพร่องหลายกรณีต่างกันไป เช่น การดำเนินการที่ผิดระเบียบหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ปัญหาการดำเนินการที่ไม่มีประสิทธิภาพ หรือไม่ตรงตามรายละเอียดในสัญญา กระทั่งปัญหาการทุจริตในหลากหลายรูปแบบ ซึ่งการทุจริตเป็นปัญหาสำคัญที่ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงประชาชนให้ความสนใจและต้องการแก้ไข
การดำเนินการป้องกันและปราบปราม รวมไปถึงการศึกษา รวบรวม เผยแพร่ และสนับสนุนหน่วยงานต่าง ๆ เกี่ยวกับการทุจริตทั้งในภาครัฐและเอกชน รวมทั้งภาคประชาชน เป็นหนึ่งในหน้าที่และอำนาจของ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งใน พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ได้ระบุถึงอำนาจและหน้าที่ของ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไว้ส่วนหนึ่งว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่และอำนาจไต่สวนและมีความเห็นกรณีมีการกล่าวหา ผู้มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย (มาตรา 28) รวมถึงกำหนดมาตรการและกลไกที่จำเป็นเพื่อให้ประชาชนและหน่วยงานรัฐมีส่วนร่วมและให้ความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (มาตรา 33)
อีกทั้ง สำนักข่าวอิศรา ภายใต้ สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย เป็นสำนักข่าวที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการตรวจสอบและนำเสนอในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต ซึ่งรวมไปถึงประเด็นที่เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐด้วย
เนื่องด้วยความประสงค์ที่จะทำให้กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเป็นไปอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม ทำให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ร่วมกันจัดงานสนทนากลุ่ม ในหัวข้อ “จัดซื้อจัดจ้างอย่างไรให้โปร่งใส – เป็นธรรม” ขึ้นเมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2562 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมเดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ เพื่อหาข้อเสนอแนะ แนวทางในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐ รวมถึงการทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เอกชน และเพื่อให้ได้มาซึ่งแนวทางการแก้ไขที่เป็นรูปธรรมร่วมกันต่อไป
วงสนทนาในครั้งนี้ มีวิทยากรจากหน่วยงานภาครัฐ ประกอบด้วย นางสาวชุณหจิต สังข์ใหม่ ผู้ตรวจการกระทรวงการคลัง , นายทินกร เขมะวิชานุรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาการประจำ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) , นายสุทธิพงษ์ บุญนิธิ รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน , ดร.มานะ นิมิตมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน และ นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยมีตัวแทนจากภาคเอกชนผู้ประกอบการในธุรกิจต่าง ๆ ที่เคยทำการจัดซื้อจัดจ้างกับหน่วยงานภาครัฐ เข้าร่วมงานประมาณ 24 คน
นอกจากนี้ ยังมีเจ้าหน้าที่จากกรมบัญชีกลางร่วมให้ข้อมูล ประกอบด้วย นางสาววันทนี ทรัพย์สุขสำราญ นักวิชาการคลังชำนาญการพิเศษ , นางสาวสุธาสินี ศรีมานะศักดิ์ นิติกรชำนาญการ และ นางสาวดุจดาว ฉวีวรรณ์ นักวิชาการคลังปฏิบัติการ
นางสาวชุณหจิต สังข์ใหม่ ผู้ตรวจการกระทรวงการคลัง เปิดวงสนทนาด้วยการเริ่มต้นกล่าวถึงปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างที่ผ่านมาว่า ในอดีตการจัดซื้อจัดจ้างจะอาศัยราคาต่ำที่สุดเพียงเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม ของราคาถูกอาจไม่ได้มีคุณภาพที่ดีที่สุดเสมอไป ทุกอย่างนั้นมีเกรดคุณภาพแตกต่างกันไปตามแต่ราคาด้วย เมื่อเข้าใจถึงประเด็นดังกล่าวแล้ว ส่งผลให้กฎหมายและระเบียบใหม่ในปัจจุบันสามารถกำหนดเกณฑ์คุณภาพต่อราคาได้ เช่น พิจารณาให้คะแนน 100 คะแนน แบ่งเป็น คุณภาพ 80 ราคา 20 เป็นต้น ซึ่งจะทำให้เกิดความคุ้มค่าในการจัดซื้อจัดจ้างมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างต้องโปร่งใส กล่าวคือ ทุกอย่างต้องมีการประกาศขึ้นเว็บไซต์ ไม่ว่าจะเป็น ข้อกำหนดคุณลักษณะ หรือ TOR การประชาพิจารณ์ ขั้นตอนการเสนอราคา ประกาศผู้ชนะการเสนอราคา รวมถึงขั้นตอนการทำสัญญาด้วย อีกทั้ง ต้องเก็บเอกสารหลักฐานทุกอย่างไว้ ให้พร้อมสำหรับการตรวจสอบ
ขณะที่ ในวงสนทนากลุ่มย่อยระหว่างภาคเอกชนและตัวแทนหน่วยงานภาครัฐนั้น ฝ่ายเอกชนได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาของการกำหนดราคาต่อคุณภาพว่า การดำเนินการไม่มีมาตรฐานกลางเป็นตัวกำหนด ส่วนใหญ่จะให้ใช้ดุลยพินิจของหน่วยงานเจ้าของโครงการนั้น ๆ เป็นผู้พิจารณา ทำให้บางครั้ง การกำหนดอัตราส่วนคะแนนระหว่างราคาและคุณภาพ ไม่สมเหตุสมผล และบางการจัดซื้อจัดจ้างไม่มีความชัดเจนในมาตรฐานของดุลยพินิจ ทำให้เกิดความสงสัย ซึ่งอาจเป็นกรณีส่งผลต่อความไม่โปร่งใสในกระบวนการดำเนินจัดซื้อจัดจ้างได้
โดยข้อแนะนำจากเอกชนนั้น เสนอว่า ควรจะกำหนดเกณฑ์การให้คะแนนต่าง ๆ ให้เป็นมาตรฐานชัดเจน ทุกหน่วยงานใช้เป็นมาตรฐานและทิศทางเดียวกันได้
ในส่วนของการเปิดให้ประชาพิจารณ์โครงการจัดซื้อจัดจ้างนั้น ภาคเอกชนมีความเห็นว่า มีระยะเวลาที่น้อยเกินไป คล้ายกับทำไปตามระเบียบเท่านั้น ใช้งานจริงไม่ได้เท่าที่ควร อีกทั้งการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนยังน้อย
ขณะที่ นายทินกร เขมะวิชานุรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาการประจำ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจต่อวงสนทนาว่า เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างนั้น เป็นเรื่องที่ ป.ป.ช. ได้รับการร้องเรียนมากที่สุด คิดเป็นประมาณ 60% ส่วนใหญ่เป็นหน่วยงานภาคการเมือง มีทั้งจริงและไม่จริง และคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดไปไม่น้อย
โดยได้เสนอมูลเหตุแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1) กระทำผิดโดยเจตนา คือ เข้ามาเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนหรือพวกพ้อง จากงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งกลุ่มนี้ ป.ป.ช. ต้องจัดการอย่างเด็ดขาด ความผิดทางอาญาเรื่องต้องไปจบที่ศาลตัดสิน และส่งให้ต้นสังกัดลงโทษทางวินัย โดยข้อเท็จจริงต่าง ๆ ต้องมีหลักฐานรองรับ หากขาดหลักฐาน ป.ป.ช. ก็เสี่ยงที่จะถูกฟ้องกลับได้ 2) กระทำผิดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เช่น เจ้าหน้าที่เพิ่งเข้ามาทำงานใหม่ หรือการลองผิดลองถูกจนเกิดความผิดพลาดขึ้น หรือกระทั่งกระบวนการแบบเดิมที่ทำมาอย่างเคยชินซึ่งไม่ผิดตามกฎหมายเก่า แต่อาจผิดกฎหมายใหม่ เป็นต้น ส่วนนี้สำคัญที่ ป.ป.ช. จะต้องจัดอบรมทำความเข้าใจในเรื่องของกฎหมาย ระเบียบ ที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจน และกลุ่มที่ 3) กระทำผิดด้วยภาวะจำยอม กลุ่มนี้รู้ตัวว่าอะไรผิดอะไรถูก บ้างทำเพื่อรักษาผลประโยชน์ส่วนตน บ้างทำเพราะอำนาจที่เหนือกว่ามาส่งผลกระทบ ตกเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจ ซึ่งเกิดขึ้นหลายครั้ง ทั้งนี้ยังถือว่าผิด ถือว่าไม่เกรงกลัวกฎหมายแต่ไปกลัวผู้มีอำนาจ แต่หากว่าเป็นเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อย ป.ป.ช. อาจกันไว้เป็นพยานได้ ทั้งทางอาญาและทางวินัย ซึ่งกฎหมายใหม่ของ ป.ป.ช. สามารถคุ้มครองพยานเหล่านี้ได้ โดยอาจทำให้เจ้าหน้าที่ดังกล่าวกลับใจหันมาให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ ป.ป.ช. ได้
หากพบว่าภาคเอกชนเป็นผู้สมรู้ร่วมคิด สนับสนุนเจ้าหน้าที่รัฐให้กระทำความผิด ป.ป.ช. มีอำนาจสอบสวนได้เช่นกัน ซึ่งต้องเรียนว่า มีเอกชนจำนวนไม่น้อยที่ต้องการหาผลประโยชน์มาเป็นของตน ต้องเข้าตรวจเส้นทางการเงินว่ามีการจ่ายเงินให้เจ้าหน้าที่รัฐรายใดหรือไม่
จากข้อมูลดังกล่าว ทำให้เห็นว่า การทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐ ยังคงเป็นปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก กระบวนการป้องกันและปราบปรามจึงเป็นส่วนสำคัญที่ต้องเข้ามาจัดการเรื่องดังกล่าวอย่างเป็นระบบ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่จากภาครัฐหรือภาคเอกชน
ส่วนนายสุทธิพงษ์ บุญนิธิ รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าวถึงหัวใจสำคัญของ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ พ.ศ. 2560 คือ ความคุ้มค่า โปร่งใส ประสิทธิภาพ ตรวจสอบได้ ซึ่งระบุรายละเอียดในมาตรา 8 ซึ่งองค์ประกอบการจัดซื้อจัดจ้างมี 3 ส่วนสำคัญ คือ เอกชน ข้าราชการ และนักการเมือง ซึ่งทุกภาคส่วนจำเป็นต้องทำความเข้าใจกับระเบียบและกฎหมายดังกล่าว เพื่อการปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง การกระทำผิดของบุคคล 3 กลุ่มนั้น สามารถใช้กฎหมายใหม่มาปิดช่องว่างที่อาจจะเกิดขึ้นในกระบวนการทุจริตได้
หากภาครัฐและภาคเอกชนจะทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาและสุจริต ภาครัฐต้องคิดว่าการจัดซื้อจัดจ้างเป็นการรักษาประโยชน์ของรัฐ ส่วนภาคเอกชนให้ทำหน้าที่อย่างเป็นธรรม คำนึงถึงประโยชน์ที่ยั่งยืนของบริษัท ถ้ามีการสมคบคิดกับเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อกระทำการเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน ผลที่ตามมาคืออาจจะถูกดำเนินคดีและบริษัทมีเหตุให้ยุบไปในที่สุด ป.ป.ช. ต้องใช้กฎหมาย พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานภาครัฐ พ.ศ. 2542 ซึ่งมีโทษค่อนข้างรุนแรง กฎหมายดังกล่าวมีมาตรการเพื่อใช้ป้องกันการสมยอมราคา พยายามกีดกันรายอื่นที่เข้ามาอย่างสุจริต พยายามเอื้อประโยชน์ให้กันและกัน สมยอมราคาซึ่งกันและกัน ฉะนั้นการใช้ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ จึงพยายามทำให้โปร่งใสมากขึ้น แต่จะสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับความร่วมมือกันทุกภาคส่วน
ขณะที่ ในวงสนทนากลุ่มย่อยระหว่างภาคเอกชนและตัวแทนวิทยากรจากหน่วยงานภาครัฐนั้น ภาคเอกชนได้แสดงความคิดเห็นว่ายังขาดความเข้าใจในตัวกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง แม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานรัฐเอง มีความรู้และคามเข้าที่ใจที่ไม่ครบถ้วนรอบด้าน หลายครั้งที่เอกชนมีข้อสงสัยเกี่ยวกับกฎหมายหรือระเบียบที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างโครงการใดโครงการหนึ่ง เมื่อสอบถามไปยังเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานเจ้าของโครงการนั้น ก็ไม่ได้รับคำตอบหรือความร่วมมือเท่าที่ควร จึงมีข้อเสนอแนะให้ภาครัฐส่งเสริมการสร้างความรู้ ความเข้าใจ ในกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องให้ทั้งบุคคลจากภาครัฐ เอกชน หรือแม้แต่ประชาชน ให้รับทราบด้วย
ขณะที่ ดร.มานะ นิมิตมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน กล่าวถึงกลไกหนึ่งที่จะสามารถป้องกันการทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างได้ คือ คณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต (ค.ป.ท.) ใน พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ มาตรา 37 ซึ่งได้ระบุว่า ให้มีคณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต (ซึ่งประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน อธิบดีกรมบัญชีกลาง ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้แทนสำนักงบประมาณ ผู้แทนสำนักอัยการสูงสุด ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมารนโยบายรัฐวิสาหกิจ และผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ รวมถึงตัวแทนภาคเอกชน) โดยตามมาตรา 39 ค.ป.ท. มีอำนาจหน้าที่ ในการกำหนดแนวทางและวิธีการกำเนินโครงการความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ กำหนดแบบข้อตกลงคุณธรรม ตีความและวินิจฉัยปัญหาข้อหารือเกี่ยวกับแนวทางและวิธีการในการดำเนินโครงการความร่วมมือป้องกันการทุจริต พิจารณาข้อร้องเรียนต่าง ๆ ที่เห็นว่าหน่วยงานของรัฐมิได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามแนวทางและวิธีการดำเนินโครงการความร่วมมือป้องกันการทุจริต
กลไกตามกฎหมายดังกล่าวนี้เอง สามารถที่จะช่วยลดการทุจริตหรือความไม่โปร่งใสใกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างลงได้
ทั้งหมดนี้ เป็นส่วนหนึ่งของวงสนทนาที่เกิดขึ้น ในหัวข้อ “จัดซื้อจัดจ้างอย่างไรให้โปร่งใส – เป็นธรรม” จะเห็นได้ว่า ตัวแทนภาครัฐได้พยายามชี้ให้เห็นถึงกระบวนการของกฎหมายการจัดซื้อจัดจ้างใหม่ (พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ พ.ศ. 2560) ที่ลดช่องว่างที่อาจทำให้เกิดการทุจริตหรือความไม่โปร่งใสที่อาจเกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ดี ตัวแทนจากภาคเอกชน ยังได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาด้านการรับรู้และเข้าใจในตัวกฎหมายใหม่ รวมไปถึงการดำเนินการจริงที่ไม่มีความชัดเจน เช่น เกณฑ์การให้คะแนน หรือดุลยพินิจของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ไม่มีมาตรฐานกลางที่ชัดเจน และปัญหาการตีความข้อความในสัญญาที่มีการเข้าใจไม่ตรงกัน รวมไปถึงการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความไม่โปร่งใสและการทุจริต ที่ยังไม่เป็นรูปธรรมเท่าไรนัก
กระนั้น การได้ร่วมสนทนาแลกเปลี่ยน ความรู้ ความคิดเห็นกันในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการมุ่งไปสู่เป้าประสงค์เพื่อให้การจัดซื้อจัดจ้างเป็นไปอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม โดยตัวแทนจากเจ้าหน้าที่รัฐเองได้รับรู้ปัญหาและรับข้อเสนอแนะจากฝ่ายเอกชนกลับไปเพื่อดดำเนินการปรับปรุงแก้ไข หรือสร้างความรู้ความเข้าใจที่ตรงกันได้ต่อไป ส่วนภาคเอกชนเองก็ได้รับคำตอบจากความสงสัยในบางประการสำหรับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่ยังเป็นปัญหาในการดำเนินการจริง
การแลกเปลี่ยนดังกล่าวจะสามารถบรรลุไปถึงจุดหมายที่ตั้งไว้หรือไม่ อยู่ที่นำเอาสาระในวงสนทนาไปดำเนินการปรับใช้ต่อไป