รู้ไว้ถ้าไม่อยากทำผิด!เปิด3มาตราเหล็ก กม.ป.ป.ช.ป้องทุจริต-ขัดกันแห่งผลประโยชน์?
“…โดยสรุป กฎหมายป้องกันการขัดกันแห่งผลประโยชน์ฉบับนี้ มีขึ้นเพื่อป้องกันมิให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกราย แสวงหาผลประโยชน์อันมิควรได้ ซึ่งที่ผ่านมาเกิดปัญหากรณีเช่นนี้หลายครั้ง ส่งผลให้เงินงบประมาณจำนวนมากต้องเสียไปโดยเปล่าประโยชน์…”
ที่ผ่านมาหลายคนอาจเคยเห็นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิด รวมถึงศาลพิพากษานักการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในฐานความผิดทุจริต และกระทำการขัดกันแห่งผลประโยชน์กันมาบ้างแล้ว
บางคนอาจสงสัยว่า การกระทำที่ขัดกันแห่งผลประโยชน์คืออะไร ?
ในร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 (ต่อไปจะใช้คำว่า พ.ร.บ.ป.ป.ช.) มีคำตอบ ดังนี้
การขัดกันแห่งผลประโยชน์แบ่งออกได้กว้าง ๆ 2 ส่วนคือ 1.การขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคล 2.การขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนรวม โดยตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. กำหนดไว้ ดังนี้
มาตรา 126 ของ พ.ร.บ.ป.ป.ช. ระบุข้อห้ามมิให้กรรมการ ป.ป.ช. ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ เจ้าพนักงานของรัฐที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ประกาศกำหนด (เช่น ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ) รวมถึงคู่สมรส (หมายรวมถึงผู้ซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภรรยาแต่มิได้จดทะเบียนสมรส หรือมีพฤติการณ์รับรู้ของสังคมทั่วไปว่าเป็นสามีภริยากัน) ในระหว่างดำรงตำแหน่ง ห้ามดำเนินกิจการดังต่อไปนี้
1.เป็นคู่สัญญาหรือมีส่วนได้เสียในสัญญาที่ทำกับหน่วยงานของรัฐที่ตนปฏิบัติหน้าที่อยู่
2.เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วน (หจก.) หรือเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่เข้าเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐที่ตนปฏิบัติหน้าที่อยู่
3.รับสัมปทานหรือคงถือไว้ซึ่งสัมปทานจากรัฐ หน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเข้าเป็นคู่สัญญากับรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น อันมีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอน หรือเป็นหุ้นส่วนใน หจก. หรือเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่รับสัมปทาน หรือเข้าเป็นคู่สัญญาในลักษณะดังกล่าว
4.เข้าไปมีส่วนได้เสียในธุรกิจของเอกชน ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแล ควบคุม หรือตรวจสอบของหน่วยงานของรัฐที่ตนสังกัดอยู่ หรือปฏิบัติหน้าที่อยู่ โดยเข้าไปมีส่วนได้เสียในฐานะ (1) กรรมการ (2) ที่ปรึกษา (3) ตัวแทน (4) พนักงาน (5) ลูกจ้าง ซึ่งโดยสภาพของผลประโยชน์ของธุรกิจเอกชนอาจขัดหรือแย้งต่อประโยชน์ส่วนรวมหรือประโยชน์ทางราชการ หรือกระทบต่อความมีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของตน
ส่วนมาตรา 127 แห่ง พ.ร.บ.ป.ป.ช. ระบุว่า กรรมการ ป.ป.ช. ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. นับตั้งแต่พ้นจากตำแหน่งภายใน 2 ปี ห้ามเข้าไปมีส่วนได้เสียในธุรกิจของเอกชนในฐานะ (1) กรรมการ (2) ที่ปรึกษา (3) ตัวแทน (4) พนักงาน (5) ลูกจ้าง ซึ่งธุรกิจนั้นอยู่ภายใต้การกำกับ ดูแล ควบคุม หรือตรวจสอบของหน่วยงานของรัฐที่ตนสังกัดหรือปฏิบัติหน้าที่อยู่ ซึ่งโดยสภาพของผลประโยชน์ของธุรกิจของเอกชน อาจขัดหรือแย้งต่อประโยชน์ส่วนรวม หรือประโยชน์ทางราชการ หรือกระทบต่อความมีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของตนได้ อย่างไรก็ดีในมาตรา 127 มิได้บังคับใช้กับคู่สมรสแต่อย่างใด
ที่ผ่านมามีหลายคดีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด และศาลฎีกาพิพากษาไปแล้ว ทั้งกรณีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ เปิดบริษัท/หจก. และตัวเองเป็นผู้ถือหุ้น หรือให้คนใกล้ชิด หรือแม้แต่ให้บุคคลทำการแทน (นอมินี) โดยให้เข้ามาประมูลงานกับหน่วยงานที่ตนเองสังกัด และใช้สถานะหน้าที่เอื้อประโยชน์ให้บริษัท/หจก. ของตัวเองได้เป็นคู่สัญญารัฐ เป็นต้น
ถัดมาในส่วนการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด มาตรา 128 แห่ง พ.ร.บ.ป.ป.ช. ระบุว่า ห้ามมิให้เจ้าพนักงานของรัฐทุกตำแหน่ง (เจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และคณะกรรมการ ป.ป.ช.) ทั้งในช่วงดำรงตำแหน่ง และพ้นจากตำแหน่งมายังไม่ถึง 2 ปี รับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้
สำหรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ หมายถึง สิ่งที่มีมูลค่า เช่น การลดราคา การรับความบันเทิง การรับบริการ การรับการฝึกอบรม หรือสิ่งอื่นใดในลักษณะเดียวกัน
อย่างไรก็ดีมาตรา 128 มีข้อยกเว้นอนุญาตให้เจ้าพนักงานของรัฐสามารถรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดได้ เช่น การรับจากบุพการี ผู้สืบสันดาน หรือญาติ โดยจะต้องเป็นการให้ตามประเพณี หรือตามธรรมจรรยาตามฐานานุรูป หรือการที่เจ้าพนักงานของรัฐเดินทางไปปฏิบัติราชการต่างจังหวัด สามารถเบิกค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทาง ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการได้
แต่ในส่วนการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากบุคคลอื่นซึ่งมิใช่ญาตินั้น ต้องเป็นการรับโดยธรรมจรรยา คือการรับจากบุคคลที่ให้กันในโอกาสเทศกาลหรือวันสำคัญ รวมถึงการแสดงความยินดี การแสดงความขอบคุณ การต้อนรับ การแสดงความเสียใจ หรือการให้ตามมารยาทที่ถือปฏิบัติกันในสังคม โดยมีหลักเกณฑ์ ดังนี้ 1.การรับจากผู้ซึ่งมิใช่ญาติมูลค่าทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด ในแต่ละบุคคล แต่ละโอกาส ต้องไม่เกิน 3,000 บาท หรือการให้นั้นเป็นการให้ในลักษณะให้กับบุคคลทั่วไป
ยกตัวอย่าง กรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เคยชี้มูลความผิด และศาลฎีกามีคำพิพากษาไปแล้วคือ กรณีอดีตปลัดกระทรวงแห่งหนึ่ง รับรถยนต์หรูคันหนึ่งจากกรรมการบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นการรับทรัพย์สินเกิน 3,000 บาท และมิได้ให้ในโอกาสหรือเทศกาล รวมถึงมิได้เป็นการรับโดยธรรมจรรยา ส่งผลให้ศาลฎีกามีคำพิพากษาจำคุกอดีตปลัดกระทรวงรายดังกล่าวไปแล้ว
โดยสรุป กฎหมายป้องกันการขัดกันแห่งผลประโยชน์ฉบับนี้ มีขึ้นเพื่อป้องกันมิให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกราย แสวงหาผลประโยชน์อันมิควรได้ ซึ่งที่ผ่านมาเกิดปัญหากรณีเช่นนี้หลายครั้ง ส่งผลให้เงินงบประมาณจำนวนมากต้องเสียไปโดยเปล่าประโยชน์
ดังนั้นการตรากฎหมายดังกล่าวเพื่อป้องกัน อุดช่องโหว่มิให้พวก ‘หัวใส’ บางรายหาผลประโยชน์จากเงินงบประมาณแผ่นดินได้อีก (ดูอินโฟกราฟิกประกอบ)