‘เอิน กัลยกร’ สิทธิที่ไม่ควรถูกสื่อล่วงละเมิด
"...เรื่องเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้น หากคนในวิชาชีพไม่ว่าอายุงานมากน้อยแค่ไหน ‘ต้อง’ รู้สารสนเทศก่อนคนทั่วไปในฐานะที่งานของตนมีผลต่อกระทบต่อสังคม อันเป็นที่ยอมรับว่าเป็นวิชาชีพ ไม่ต่างไปจากวิชาชีพอื่น ๆ เพราะการรู้สารสนเทศนำไปสู่การ ‘ทันสื่อ’ ที่คนทำสื่อต้อง ‘ทันสื่อ’ ก่อนผู้รับสาร..."
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : เมื่อวันที่ 8 พ.ย.2562 นายบรรยงค์ สุวรรณผ่อง กรรมการควบคุมจรรยาบรรณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, กรรมการจริยธรรมวิชาชีพ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ได้โพสต์ข้อความในเฟซบู๊กส่วนตัว Banyong Suwanpong เรื่อง ‘เอิน กัลยกร’ สิทธิที่ไม่ควรถูกสื่อล่วงละเมิด
---------------
‘เอิน’ กัลยกร หรือ กรสิริ นาคสมภพ นักร้องและนักแสดง วัย ๓๖ ปี ให้สัมภาษณ์นักข่าวเพื่อบอกเล่าประสบการณ์จากโรคซึมเศร้า และผลข้างเคียงจากการรักษาที่ทำให้ร่างกายเปลี่ยนไปจากที่เคยเป็นคนผอม แต่สิ่งที่ได้รับจากพาดหัวข่าวคือการถูกนำรูปร่างไปเปรียบเทียบกับสัตว์ อันทำให้เธอต้องนำเข้าข้อความบน Facebook บอกเล่าความรู้สึกที่รับไม่ได้ว่า ถ้าจิตใจไม่เข้มแข็ง ก็คงทำร้ายตัวเองไปแล้ว พร้อมกับเรียกร้องความรับผิดชอบที่สื่อกระทำต่อเธอ - ความเห็นนี้ มีผู้ใช้สื่อออนไลน์เข้ามาให้กำลังใจและแสดงความรู้สึกเห็นใจมากมาย
เมื่อผู้สื่อข่าวที่เธอให้สัมภาษณ์โทรศัพท์มาแจ้งว่า ไม่ได้เป็นคนเขียนพาดหัว และขอโทษแทนพี่ ๆ เพื่อนร่วมงาน แต่เธอเห็นว่าไม่พอ สิ่งที่อยากเห็นคือการจัดการที่เป็นรูปธรรมต่อผู้มีส่วนรับผิดชอบกรณีนี้ และมาตรการที่เป็นรูปธรรมในการป้องกันผู้อื่นจากการถูกสื่อกลั่นแกล้ง (cyberbully) ในอนาคต
พิจารณาจากคำที่ใช้พาดหัว ถือเป็น cyberbully ที่เป็นการว่ากล่าว โดยนำรูปร่างของผู้อื่นไปเปรียบเทียบกับสัตว์ (อึ่งอ่าง) เป็นการตอกย้ำปมด้อย ทำให้ผู้ถูกกลั่นแกล้งเกิดความอับอาย ขาดความเชื่อมั่น และหากเกิดกับผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้าซึ่งยังอยู่ในภาวะที่เห็นว่าตนกำลังถูกกดดัน ซ้ำเติม ก็อาจตัดสินใจไปในทางที่เป็นผลเสียต่อตนเอง อันนับเป็นเรื่องที่น่ากังวลกว่าการกลั่นแกล้งโดยทั่วไป - จริยธรรมวิชาชีพจึงกำหนดไว้ให้สื่อมวลชนเสนอข่าวโดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลที่ตกเป็นข่าว ไม่ซ้ำเติมความทุกข์ หลีกเลี่ยงการใช้คำที่ไม่สุภาพ หรือภาษาที่สื่อความหมายเชิงเหยียดหยาม หรือแสดงนัยเชิงลบ
พาดหัวในลักษณะเดียวกันนี้ มีให้เห็นบ่อยครั้ง ทั้งในอดีตและปัจจุบัน จนมองเห็นเป็นเรื่องธรรมดา เพียงแต่ครั้งนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นกับคนทำผิดคิดร้ายต่อผู้อื่นหรือสังคมที่สื่อใช้คำ ‘ไอ้หื่น’ หรือ ‘ฆาตกรโหด’ ตามที่ได้ใช้กันจนเคย แต่เกิดจากคนที่ต้องต่อสู้กับอาการเจ็บไข้ได้ป่วยที่เป็นสตรี จึงเป็นเรื่องที่ไม่อาจมองข้าม จะด้วยเหตุเจตนาหรือไม่ก็ตาม
เรื่องเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้น หากคนในวิชาชีพไม่ว่าอายุงานมากน้อยแค่ไหน ‘ต้อง’ รู้สารสนเทศก่อนคนทั่วไปในฐานะที่งานของตนมีผลต่อกระทบต่อสังคม อันเป็นที่ยอมรับว่าเป็นวิชาชีพ ไม่ต่างไปจากวิชาชีพอื่น ๆ เพราะการรู้สารสนเทศนำไปสู่การ ‘ทันสื่อ’ ที่คนทำสื่อต้อง ‘ทันสื่อ’ ก่อนผู้รับสาร
ทันสื่อ’ ของคนทำสื่อยังช่วยให้ ‘รู้ตน’ เมื่อรู้ตนก็จะเป็น ‘ผู้ไม่สำคัญตน’ เช่นนี้ อัตตาก็จะไม่มีอิทธิพลต่อการใช้วิจารณญานในการทำงานตามวิชาชีพ
‘อัตตา’ เป็นการยึดมั่นในความเป็นตัวตนของตน (ego) อัตตาจึงเป็น ‘อวิชา’ ที่เป็นจุดอ่อนของคนทำสื่อ โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในวิชาชีพนาน ๆ ที่ชาวบ้านเรียกว่า ‘ลืมตัว’ - เปลี่ยนได้ไม่ยาก เพียงเริ่มจากการมองคนเป็นคนก่อนเท่านั้น
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
(ภาพจาก Facebook: Kalyakorn Earn Naksompop เมื่อ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๓)