การช่วงชิง‘อู่ตะเภา’ ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจและความมั่นคง
"... โครงการก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภาของกลุ่มบริษัทดังกล่าว ก็จะมีจีนเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ เช่นเดียวกับโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อิทธิพลของจีนที่แฝงมาในรูปแบบการทำธุรกิจเช่นนี้ จะเป็นดาบสองคมในแง่ความเป็นกลางและความมั่นคงของประเทศในอนาคตหรือไม่..."
ในปี พ.ศ. 2461 พระบาทสมเด็จ พระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารเรือ และจากการเสด็จไปสำรวจพื้นภูมิประเทศสัตหีบ ทรงเห็นว่า ทางด้านยุทธศาสตร์สมควรใช้พื้นที่บริเวณตำบลสัตหีบ สร้างเป็นที่มั่นสำหรับกิจการทหารเรือขึ้นตามชายฝั่งและเกาะต่างๆ ในสัตหีบ เพราะทำเลเหมาะแก่การสร้างฐานทัพเรือและการสร้างสิ่งต่างๆ ในการป้องกันฐานทัพเรือได้เป็นอย่างดี
ในวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2465 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ในฐานะเสนาบดีกระทรวงทหารเรือจึงได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานที่ดินที่สัตหีบ เพื่อเป็นกรรมสิทธิ์แก่กองทัพเรือ ทรงอ้างเหตุผลว่า อ่าวสัตหีบเป็นชัยภูมิที่เหมาะสมสำหรับเป็นฐานทัพเรือ คือ
1. อยู่เป็นสถานกลางของอ่าวสยาม
2. เป็นต้นทางของ VITAL POINT คือ แม่น้ำเจ้าพระยา
3. น้ำลึกพอที่จะเป็นอ่าวเรือใหญ่ หรือที่ฝึกซ้อมยิงตอร์ปิโดได้
4. มีเกาะต่างๆ เป็นที่กำบังสำหรับเล็ดลอดออกกระทำการยุทธวิธีด้วยเรือเล็กได้สะดวก
5. ที่บนบกไม่ได้ตกเป็นสิทธิ์ขาด ของผู้หนึ่งผู้ใด โดยทรงพระมหากรุณาให้เทศาภิบาลหวงห้ามไว้ เป็นพระคุณแก่ทหารเรืออย่างยิ่ง
6. ทางบก มีทางติดต่อกับรถไฟสายปราจีณได้สะดวกไม่ต้องกลัว Isolation
7. โดยข้อ 6 นั้นเองอาจติดต่อกับกำลังทางทหาร และเป็นปีกหนึ่งของกองทัพบก ฝ่ายตะวันออกได้สะดวก
8. เป็นที่ฝึกหัดทางทะเลได้ ตลอดทั้งสองมรสุมโดยเป็นที่กำบังมิดชิด
นอกจากนี้ ก็ยังมีแต่ที่เกี่ยวข้องกับการสงคราม โดยอากาศยาน ซึ่งไม่จำเป็นจะกล่าวไปถึงเพราะในที่นี้ จักกราบบังคมทูล พระกรุณาแต่เรื่องกองทัพเรือ เท่านั้น ถึงแม้จะเป็นสถานีอากาศยานชายฝั่งทะเลก็คงต้องยึดกองทัพเรือเป็นหลักสำคัญ คือถ้าไม่มีกองทัพเรือแล้วกองอากาศยานก็จะตั้งไม่ได้โดยปราศจากอันตราย เช่นที่กำลังเป็นอยู่ที่อ่าวมะนาว ข้าศึกในชั้นต้นก็จำเป็นจะต้องใช้แต่เพียงเรือเร็วขนาดเล็กเข้าไปเผาผลาญทำลายโรงการเก็บ และซ่อมแซมหมดในไม่กี่ชั่วนาฬิกา ฉะนั้นในที่นี้จะขอพระราชทานงดกล่าวถึงการสงครามโดยทางอากาศยาน ที่กราบบังคมทูลพระกรุณามาล้วนเป็นหลักประกอบกับกองทัพเรือโดยเฉพาะทั้งสิ้น
ต่อมาในวันที่ 16 กันยายน 2465 พระบาทสมเด็จ พระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานที่ดินที่สัตหีบให้แก่กองทัพเรือ เพื่อจัดตั้งเป็นฐานทัพเรือต่อไป ดังพระราชกระแสดังนี้
กองทัพเรือจึงได้ที่ดินสัตหีบเป็นฐานทัพเรือ และได้ใช้ประโยชน์จากฐานทัพเรือแห่งนี้ดำเนินกิจการของกองทัพเรือเพื่อความก้าวหน้า ความเป็นปึกแผ่นมั่นคงของกองทัพเรือและชาติบ้านเมืองตลอดมา
จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2508 จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรีได้ให้สหรัฐอเมริกามาสร้างสนามบินอู่ตะเภาในพื้นที่กองทัพเรือที่สัตหีบ เพื่อเป็นฐานทัพเครื่องบินทิ้งระเบิด บี52 ของสหรัฐอเมริกา ทำสงครามถล่มเวียดนาม กัมพูชา และลาว โดยอ้างว่า สนามบินอู่ตะเภาเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนา การป้องกันประเทศ เพื่อรับมือกับการคุกคามของภัยคอมมิวนิสต์
ต่อมา สหรัฐอเมริกาประสบความพ่ายแพ้ในสงครามเวียดนาม กัมพูชา และลาว ประกอบกับประเทศไทยในสมัย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี ก็มีนโยบายเปิดสัมพันธไมตรีกับสาธารณประชาชนจีน พร้อมทั้งได้ดำเนินนโยบาย ถอนฐานทัพสหรัฐอเมริกาออกจากประเทศไทยโดยสิ้นเชิง ในปี พ.ศ. 2518
เมื่อสหรัฐอเมริกาถอนฐานทัพออกจากประเทศไทยแล้ว กองทัพอากาศซึ่งแต่เดิมได้รับมอบหมายให้ปกครองและบังคับบัญชาฐานทัพอากาศที่ 7 นครพนม, ฐานทัพอากาศดอนเมือง, นครราชสีมา, ตาคลี, อู่ตะเภา, อุบลราชธานี, อุดรธานี และน้ำพอง ในการทำสงครามร่วมกับสหรัฐอเมริกาก็มีความประสงค์อยากจะเข้าไปปกครองและบังคับบัญชาสนามบินอู่ตะเภา เช่นที่เคยเป็นมา
ผู้บัญชาทหารอากาศในสมัย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรีจึงพยายามเข้าไปขอให้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ยกกรรมสิทธิ์สนามบินอู่ตะเภาให้อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของกองทัพอากาศหากแต่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ไม่ยินยอม โดยให้เหตุผลแบบทีเล่นทีจริงกับบุคคลใกล้ชิดว่า “เรื่องอะไรผมจะไปยกสนามบินอู่ตะเภาให้กองทัพอากาศ ในเมื่อโคตรเหง้าศักราชผมตั้งใจจะให้เป็นฐานทัพเรือ เป็นของกองทัพเรือมาแต่เดิม” พวกคุณรู้หรือเปล่า เสนาบดีกระทรวงทหารเรือทั้ง 2 พระองค์ องค์หนึ่งคือ ทูลกระหม่อมบริพัตร ยายท่านก็เป็นบุนนาค อีกองค์หนึ่งคือ สมเด็จฯ กรมหลวงชุมพร แม่ท่านก็เป็นบุนนาค หม่อมแดง ปราโมช แม่ผมก็เป็นบุนนาค แล้วผมจะไปทำอะไรขัดเจตนารมย์ของโครตเหง้าผมได้อย่างไร สนามบินอู่ตะเภาอยู่สัตหีบบนที่ดินของกองทัพเรือ ทหารเรือเขาดูแลของเขามาเป็นอย่างดีอู่ตะเภาก็ต้องเป็นของทหารเรือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ยืนยัน
ทหารเรือจึงยังคงกำกับดูแลสนามบินอู่ตะเภาของกองทัพเรือมาจนวันนี้
ขณะที่ปัจจุบันนี้สหรัฐอเมริกากับจีนกำลังแย่งชิงผลประโยชน์กันอย่างหนัก แม้แผนการปิดล้อมจีนเพื่อหยุดยั้งการขยายอิทธิพลของจีนในภูมิภาคเอเชียจะไม่ประสบความสำเร็จ แต่หากสหรัฐอเมริกาต้องการสร้างศูนย์กลางการปิดล้อมจีนให้ได้นั้น อู่ตะเภาเป็นยุทธศาสตร์สำคัญเพราะเป็นจุดศูนย์กลางของรัศมียุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมแนวปิดล้อมจีนได้สมบูรณ์แบบและมีแนวโน้มเป็นเช่นนั้น เพราะสหรัฐอเมริกาได้เพิ่มกำลังรบในภูมิภาคนี้ถึงร้อยละ 18.75 ทำให้จีนต้องป้องกันตัวเองด้วยการเพิ่มงบประมาณทางทหารเป็น 5 เท่าเช่นเดียวกัน
สิ่งที่น่าเป็นกังวลต่อความปลอดภัยของประเทศไทยในขณะนี้ก็คือ โครงการใหญ่ๆ มูลค่าหลาย แสนล้าน เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน คือ สนามบินอู่ตะเภา สนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินดอนเมืองนั้น กลุ่มบริษัทที่ชนะการประมูลเป็นกลุ่มบริษัทที่เรียกได้ว่าเป็นกลุ่มบริษัทที่มีสายสัมพันธ์อันแนบแน่นกับจีน เพราะนอกจากการสร้างทางรถไฟความเร็วสูงจะใช้เทคโนโลยีจากจีนแล้วบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างก็เป็นของจีนเงินทุนสนับสนุนโครงการส่วนหนึ่งก็มาจากจีน นอกจานี้กลุ่มบริษัทดังกล่าวนี้ยังมีแนวโน้มว่าจะมีโอกาสชนะการประมูลสร้างสนามบินอู่ตะเภาซึ่งเป็นสนามบินพาณิชย์ภายในพื้นที่ครอบครองของฐานทัพเรือสัตหีบ ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์สำคัญด้านความมั่นคงของประเทศอีกด้วย
และแน่นอนว่า โครงการก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภาของกลุ่มบริษัทดังกล่าว ก็จะมีจีนเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ เช่นเดียวกับโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อิทธิพลของจีนที่แฝงมาในรูปแบบการทำธุรกิจเช่นนี้ จะเป็นดาบสองคมในแง่ความเป็นกลางและความมั่นคงของประเทศในอนาคตหรือไม่
สิ่งนี้คือความวิตกกังวลของกองทัพเรือที่มีมาโดยตลอด ขณะที่ทหารบก เช่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ไม่เคยใส่ใจระแวงสงสัยในสิ่งใดเพราะมุ่งเน้นในเรื่องผลประโยชน์ทางธุรกิจแต่เพียงประการเดียว
เพราะแนวความคิดที่มุ่งแต่ผลประโยชน์ทางธุรกิจของประเทศโดยลืมนึกถึงความเสียหายนี้เอง อาจจะส่งผลกลับมาทำร้ายประเทศชาติและประชาชนในภายหลัง รัฐบาลที่ดีต้องมีหน้าที่คอยปกป้องไม่ให้ประเทศชาติ และประชาชนต้องถูกทำร้ายจากกลุ่มนักธุรกิจการเมืองที่ไร้จริยธรรมทางสังคมและไม่มีธรรมมาภิบาลด้วยการไม่เปิดโอกาสให้บริษัทเหล่านั้นได้เข้าไปมีผลประโยชน์ในโครงการพัฒนาประเทศใหญ่ๆ อีกต่อไป
เพราะบริษัทเหล่านั้นล้วนแต่คำนึงผลประโยชน์ของตัวเองเป็นหลัก มิหนำซ้ำยังเป็นนักธุรกิจการเมืองที่เคยมีประวัติการได้สัมปทานโครงการใหญ่ๆ ของประเทศแต่มีผลงานที่น่ารังเกียจ มีพฤติกรรมเอาเปรียบประเทศชาติประชาชน ใช้เล่ห์กลทางธุรกิจหากำไรโดยปราศจากความรับผิดชอบ ไร้ความละอาย ทำให้รัฐต้องขาดรายได้และประชาชนไม่ได้ประโยชน์ตามที่ควร ผู้ถือหุ้นบางคนเป็นที่ประจักษ์ว่าเป็นนักปั่นหุ้นจนถูกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) สั่งปรับหลายร้อยล้าน และสั่งห้ามมิให้เข้าไปเป็นผู้บริหารธุรกิจ อีกทั้งยังมีเรื่องความต่ำเตี้ยทางคุณธรรมที่ถูกกล่าวโทษจากประชาชนผู้ใช้บริการที่ได้รับความเสียหายอีกเป็นจำนวนมาก
กองทัพเรือโดย พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ มีความปรารถนาที่จะดำเนินตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อสร้างความเจริญก้าวหน้าให้กับชาติบ้านเมืองและประโยชน์ของประชาชนตามนโยบายของรัฐ ในการพัฒนาชายฝั่งทะเลตะวันออกตามโครงการ EEC อย่างเต็มที่ แต่ผลผระโยชน์นั้นต้องตกแก่ประชาชนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ พร้อมกันกับต้องสร้างความมั่นคงสถาพรให้เกิดแก่ประเทศชาติอย่างจีรังยั่งยืนด้วย
ที่สำคัญที่สุดฐานทัพเรือสัตหีบ สนามบินอู่ตะเภา เป็นของทหารเรืออยู่ภายในพื้นที่ใต้รัศมียุทธศาสตร์ความมั่นคงของประเทศ แม้สนามบินอู่ตะเภาจะต้องแปรเปลี่ยนเป็นพื้นที่ทางธุรกิจ เพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติโดยส่วนรวมในอนาคต
แต่ทหารเรือก็ควรจะเป็นผู้กำกับดูแลรักษาผลประโยชน์และมีส่วนสำคัญในการตัดสินใจเลือกผู้ที่จะเข้าไปบริหารสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในพื้นที่ยุทธศาสตร์ความมั่นคงของประเทศอย่างเต็มที่ เพื่อความอยู่รอดปลอดภัยของชาติบ้านเมือง อย่างที่กองทัพเรือได้ดูแลปกปักรักษาอย่างเข้มแข็งมายาวนาน