ชนชั้นกลางกับอนาคตประเทศไทย (จบ)
"...การละเลย หรือการมองข้ามความสำคัญของชนชั้นกลางในช่วงที่ผ่านมาหลายสิบปี ทำให้เกิดแรงเสียดทานในสังคมในปัจจุบันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกิดความคิดเห็นที่แบ่งเป็นฝัก เป็นฝ่าย เกิดความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรงจากคนรุ่นใหม่ ดูได้จากผลของการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่ผ่านมา ซึ่งความคิดเห็นที่แตกต่างกันเป็นอย่างมากนี้จะไม่เป็นผลดีโดยรวมของประเทศในระยะยาว..."
ในตอนที่ 3 ได้กล่าวว่าจนป่านนี้แล้ว กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) ที่จะเปิดโอกาสให้คนไทยทุกคนมีเงินออมสำหรับวัยเกษียณโยรัฐบาลไม่ต้องออกเงินมาช่วย ยังไม่คลอดออกมาเสียที จึงน่าเสียดายและน่าเสียใจที่เรียกร้องกันมาเกิน 30 ปีแล้ว แต่เราก็ยังไม่มีแหล่งเงินออมเพื่อการดูแลสวัสดิการของชนชั้นกลางและชั้นล่างในขณะที่สังคมไทยย่างเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย
มาวันนี้ ในภาวะดอกเบี้ยต่ำทั่วโลก ชนชั้นกลางต้องช่วยตนเอง ไม่สามารถจะหวังพึ่งการฝากเงินกับธนาคารเพื่อได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยได้ ดังนั้น การเข้าถึงการลงทุนในตลาดทุนจึงเป็นทางออก
.
แต่ปรากฎว่านโยบายการส่งเสริมการลงทุนในตลาดทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ที่กำลังจะหมดอายุในปีนี้จะไม่มีการต่ออายุ และยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีอะไรมาทดแทนเพื่อให้นักลงทุนที่เป็นชนชั้นกลางมีทางเลือกในการออมและการลงทุนระยะยาว เพื่อเป็นสวัสดิการความมั่นคงในอนาคต หรือไม่
.
การละเลย หรือการมองข้ามความสำคัญของชนชั้นกลางในช่วงที่ผ่านมาหลายสิบปี ทำให้เกิดแรงเสียดทานในสังคมในปัจจุบันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกิดความคิดเห็นที่แบ่งเป็นฝัก เป็นฝ่าย เกิดความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรงจากคนรุ่นใหม่ ดูได้จากผลของการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่ผ่านมา ซึ่งความคิดเห็นที่แตกต่างกันเป็นอย่างมากนี้จะไม่เป็นผลดีโดยรวมของประเทศในระยะยาว
เราได้เห็นตัวอย่างของการประท้วงที่ฮ่องกง ที่มีสาเหตุหลักมาจากความเหลื่อมล้ำ ค่าครองชีพที่สูงแพงลิบลิ่ว และราคาของที่อยู่อาศัยที่ไกลเกินความฝันที่จะเป็นจริง เนื่องจากตลาดอสังหาริมทรัพย์อยู่ในมือ 4-5 บริษัทเท่านั้น ทำให้ชนชั้นกลางของฮ่องกงจำนวนมากต้องออกมาประท้วง ทำลายข้าวของ ทำให้อนาคตของฮ่องกงมืดมน
ในเมื่อเราไม่ต้องการให้ไทยเหมือนฮ่องกง รัฐบาลก็ต้องหันมาให้ความสำคัญกับการทำให้เศรษฐกิจเติบโตควบคู่ไปกับการกระจายรายได้ ทั้งการให้โอกาสกับทุกคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งชนชั้นกลางและผู้ที่มีรายได้น้อย … อย่าปล่อยเวลาให้ล่วงเลยต่อไปอีก
.
ดังนั้น นโยบายการคลังและสังคมจึงจะต้องรองรับโครงข่ายรองรับทางสังคม ที่ต้องครอบคลุมทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การศึกษา สิทธิประโยชน์ทางภาษี การมีกองทุนสวัสดิการต่างๆ กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ การสาธารณสุข และที่สำคัญไม่น้อย คือ การเข้าถึงตลาดทุนที่เป็นแหล่งเงินออมและเงินลงทุนที่มีแรงจูงใจ เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงในอนาคตสำหรับคนไทย
เพราะหากคนส่วนใหญ่ไม่มีเงิน ไม่มีกำลังซื้อ แล้วต่อไปใครจะไปซื้อไปใช้บริการภาคธุรกิจ ใครจะเสียภาษีให้รัฐบาลนำไปหล่อเลี้ยงระบบราชการกับการพัฒนาประเทศ
.
วรวรรณ ธาราภูมิ
ประธานกรรมการบริหาร บลจ.บัวหลวง จำกัด
3 พ.ย. 2562
ภาพจาก Pinterest
อ่านประกอบ:
ชนชั้นกลางกับอนาคตประเทศไทย (1)
ชนชั้นกลางกับอนาคตประเทศไทย (2)
ชนชั้นกลางกับอนาคตประเทศไทย (3)