ชนชั้นกลางกับอนาคตประเทศไทย (3)
"...นโยบายกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ กบช. ที่จะเปิดโอกาสให้คนไทยทุกคนมีเงินออมสำหรับวัยเกษียณโดยรัฐบาลไม่ต้องออกเงินมาช่วย ก็มีปัญหา มีอุปสรรคต่างๆ ที่ทำให้ยังไม่คลอด จึงน่าเสียดายและน่าเสียใจที่เรียกร้องกันมาเกิน 30 ปีแล้ว แต่เราก็ยังไม่มีกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติที่เป็นแหล่งเงินออมเพื่อเป็นการลงทุน ตลอดจนเพื่อการดูแลสวัสดิการของชนชั้นกลางและชั้นล่างในขณะที่สังคมไทยย่างเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย..."
ในตอนที่ 2 ได้เขียนไว้ว่า ชนชั้นกลางเป็นผู้บริโภคหลักของประเทศ จึงเป็นพลวัตของการขยายตัวของเศรษฐกิจภายใน เพราะเป็นผู้ซื้อบ้าน ซื้อคอนโด จ่ายค่าเช่าอพาร์ตเมนท์ ซื้อรถยนต์ ซื้อมอเตอร์ไซด์ ซื้อมือถือ ซื้อตู้เย็น ทีวี ซื้ออาหาร ช้อปปิ้ง ซื้อเสื้อผ้า ส่งลูกเรียนหนังสือ ไปเที่ยว และซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ ดังนั้น ถ้าไม่มีชนชั้นกลาง การบริโภคภายในประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ จะไม่มี
จากการสำรวจของ Facebook เมื่อเร็วๆ นี้ พบว่าชนชั้นกลางของไทยมีสูงถึง 49 ล้านคน หรือ 73% ของคนทั้งประเทศ และจะมีส่วนสำคัญในการผลักดันประเทศเข้าสู่ยุคดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่งชนชั้นกลางในต่างจังหวัด เพราะพวกเขาเข้าถึงเศรษฐกิจผ่านการเชื่อมต่อสมาร์ทโฟน ธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ และโลจิสติกส์ที่มากยิ่งขึ้นสรุปได้ว่า เศรษฐกิจจะอยู่ไม่ได้ จะไม่สามารถพัฒนาเข้าสู่ยุคดิจิตัล หากขาดการบริโภค หรือการมีส่วนร่วมของชนชั้นกลาง
แต่จากรายงานล่าสุดที่ประเมินฐานะเศรษฐกิจไทยโดย IMF พบว่าแม้ไทยจะมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในเชิงมหภาคอยู่ในระดับที่มั่นคง แต่มีปัญหาเรื่องการดูแลสวัสดิการของประชาชนโดยรวม เนื่องจากไม่มีโครงข่ายรองรับทางสังคมที่ดีพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การเพิ่มประสิทธิภาพของการแข่งกัน การลดความเหลื่อมล้ำ และการให้ทุกคนมีโอกาสได้ประโยชน์จากการขยายตัวของเศรษฐกิจ
เพราะแม้ว่าเราจะมีโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคสำหรับคนรายได้น้อย รวมไปถึงโครงการประกันสังคมสำหรับผู้ทำงาน แต่สวัสดิการทางสังคมเหล่านี้ยังไม่พอ ทั้งยังไม่แน่ใจว่าโครงการเหลานี้จะมีเงินพอกับรายจ่ายในอนาคตหรือไม่
ในขณะที่ข้าราชการจะมีสิทธิเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล มีเงินบำนาญไว้ใช้ยามปลดเกษียณ หรือผู้ที่เป็นพนักงานของบริษัทเอกชนมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (provident fund) รองรับ แต่ว่าก็เป็นเรื่องของการสมัครใจทำของแต่ละบริษัท โดยนายจ้างและลูกจ้างต้องจ่ายเงินสมทบ
แต่ยังมีบริษัทอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ทำให้ชนชั้นกลางที่อยู่ในวัยทำงานจำนวนมาก ไม่มีความมั่นคงทางการเงินเมื่อยามเกษียณ
นโยบายกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ กบช. ที่จะเปิดโอกาสให้คนไทยทุกคนมีเงินออมสำหรับวัยเกษียณโดยรัฐบาลไม่ต้องออกเงินมาช่วย ก็มีปัญหา มีอุปสรรคต่างๆ ที่ทำให้ยังไม่คลอด จึงน่าเสียดายและน่าเสียใจที่เรียกร้องกันมาเกิน 30 ปีแล้ว แต่เราก็ยังไม่มีกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติที่เป็นแหล่งเงินออมเพื่อเป็นการลงทุน ตลอดจนเพื่อการดูแลสวัสดิการของชนชั้นกลางและชั้นล่างในขณะที่สังคมไทยย่างเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย
วรวรรณ ธาราภูมิ
ประธานกรรมการบริหาร บลจ.บัวหลวง จำกัด
3 พ.ย. 2562
ภาพจาก Pinterest
https://www.facebook.com/profile.php?id=1450051196
อ่านประกอบ
ชนชั้นกลางกับอนาคตประเทศไทย (1)
ชนชั้นกลางกับอนาคตประเทศไทย (2)