กรอบความร่วมมืออาเซียนบวกสาม -ทิศทางในอนาคต
ในด้านสังคมและวัฒนธรรม ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับความร่วมมือเพื่อการพัฒนาทุนมนุษย์ การแลกเปลี่ยนระดับประชาชน อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จัดการภัยพิบัติ และการควบคุมโรคติดต่อ โดยให้ร่วมมือกับอาเซียนมากขึ้นผ่านศูนย์อาเซียนที่ได้จัดตั้งใหม่ในปีนี้
เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2562 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2562 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 22 ในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง โดยมีผู้นำจากประเทศสมาชิกอาเซียน นายกรัฐมนตรีจีน นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลี และเลขาธิการอาเซียน เข้าร่วมการประชุม
ผู้นำรับทราบความคืบหน้าในกรอบความร่วมมืออาเซียนบวกสาม และได้หารือเกี่ยวกับการกำหนดทิศทางความร่วมมือในอนาคต
สำหรับมิติการเมืองและความมั่นคง ที่ประชุมเล็งเห็นความสำคัญของ การเสริมสร้างความเชื่อมั่นเชิงยุทธศาสตร์ภายในภูมิภาค และการกระชับความร่วมมือเพื่อต่อต้านการก่อการร้าย
ส่วนด้านเศรษฐกิจ ที่ประชุมสนับสนุนการธำรงไว้ซึ่งระบบการค้าพหุภาคีโดยยึดถือกฎระเบียบ ทางการค้าระหว่างประเทศเป็นพื้นฐานสำคัญ ที่ประชุมรับทราบถึงการสรุปการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership - RCEP)
นอกจากนี้ ยังสนับสนุนข้อริเริ่มการเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยง การปฏิบัติตามความตกลงมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralization – CMIM) ตลอดจนความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล และเมืองอัจฉริยะ
ในด้านสังคมและวัฒนธรรม ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับความร่วมมือเพื่อการพัฒนาทุนมนุษย์ การแลกเปลี่ยนระดับประชาชน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การจัดการภัยพิบัติ และการควบคุมโรคติดต่อ โดยให้ร่วมมือกับอาเซียนมากขึ้นผ่านศูนย์อาเซียนที่ได้จัดตั้งใหม่ในปีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ในโอกาสนี้ ที่ประชุมได้เปิดตัวเว็บไซต์อาเซียนบวกสามซึ่งจะช่วยยกระดับการสร้างความตระหนักรู้ต่อสาธารณชนเกี่ยวกับอาเซียนบวกสาม โดยเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับความคืบหน้าในกรอบอาเซียนบวกสาม
ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นในภูมิภาค อาทิ สถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลี การประชุมสุดยอดอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี สมัยพิเศษ และการประชุมสุดยอดอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 1 ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ศกนี้ นอกจากนี้ ได้มีการหารือเกี่ยวกับการบรรลุผลการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ของสหประชาชาติ และมีการรับรองถ้อยแถลงผู้นำอาเซียนบวกสามว่าด้วยข้อริเริ่มการเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยงในการประชุมครั้งนี้ด้วย
อาเซียนบวกสามเป็นกลไกที่อาเซียนเป็นผู้นำหลัก ซึ่งถือว่ามีพลวัตสูงสุดกลไกหนึ่ง และได้ทำให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนของสมาชิกอาเซียนบวกสามและภูมิภาคอาเซียนโดยรวม โดยมีการจัดตั้งเมื่อปี 2540 ปัจจุบันได้พัฒนามาเป็นเวทีหารือความร่วมมือในประเด็นที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียนกับจีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี อาทิ ความเชื่อมโยง การเงินและการคลัง ทรัพยากรธรรมชาติ และการป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติ เป็นต้น
สร้างประชาคมเศรษฐกิจเอเชียตะวันออก
นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน ซึ่งได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน จีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ครั้งที่ 22 (10 + 3) ระบุถึงความร่วมมือ 10+3 นั้นเกิดขึ้นเพื่อรับมือวิกฤตการเงินที่เกิดขึ้นในเอเซีย ได้สร้างคุณูปการในการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของเอเซียและทั่วโลก ปัจจุบัน สถานการณ์ทั่วโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและสลับซับซ้อน เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ลัทธิกีดกันทางการค้านับวันมีมากขึ้น นำมาซึ่งความเสี่ยงและความท้าทายใหม่ๆต่อการพัฒนาของประเทศเอเชียตะวันออก ประเทศ 10+3 มีหน้าที่เสริมสร้างความสามัคคีและความร่วมมือ ร่วมกันรับมือกับความเสี่ยงและความท้าทาย เสริมสร้างพลังใหม่ๆเพื่อให้เศรษฐกิจในภูมิภาคและทั่วโลกสามารถเติบโตอย่างมั่นคง
นายหลี่ เค่อเฉียง กล่าวว่า เราควรค้นหาศักยภาพมากยิ่งขึ้น ส่งเสริมกรอบความร่วมมืออาเซียนบวกสาม (10+3) ให้มีผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น
ประการแรก ยกระดับการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจให้สูงยิ่งขึ้น ด้วยความพยายามร่วมกันของ 15 ประเทศภาคีสมาชิกของความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค(RCEP)ซึ่งได้เสร็จสิ้นการเจรจาทางด้านเอกสารทั้งหมดและการเจรจาเกี่ยวกับมาตรฐานการเข้าร่วมตลาด ถือเป็นผลสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ของการสร้างเขตการค้าเสรีเอเชียตะวันออก ซึ่งเป็นเขตการค้าเสรีที่มีจำนวนประชากรมากที่สุด สมาชิกมีความหลากหลายมากที่สุด และมีศักยภาพการพัฒนามากที่สุดของโลก ย่อมจะส่งเสริมกระบวนการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอย่างทรงพลัง ปกป้องการค้าเสรี เพิ่มพูนความเชื่อมั่นของตลาด บนพื้นฐานดังกล่าว เรายินดีเร่งกระบวนการเจรจาเขตการค้าเสรีจีน-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ให้เร็วยิ่งขึ้น เพื่อบรรลุเป้าหมายในด้านการสร้างประชาคมเศรษฐกิจเอเชียตะวันออก
ประการที่สอง สนับสนุนการเชื่อมโยงระหว่างกันในภูมิภาค ฝ่ายจีนสนับสนุน “แถลงการณ์ว่าด้วยข้อริเริ่มเกี่ยวกับการเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน” เชื่อมโยมข้อริเริ่ม“หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง”กับข้อริเริ่มเกี่ยวกับการเชื่อมโยงซึ่งกันและกันในภูมิภาคเข้าด้วยกัน
ประการที่สาม เสริมสร้างความร่วมมือทางการเงินในภูมิภาค ทุกฝ่ายควรปฎิบัติตามมติเอกสารวิสัยทัศน์ “ทิศทางยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางการเงินการคลัง 10 + 3” แสวงหาโครงสร้างที่สามารถกำกับดูแลเศรษฐกิจในภูมิภาคด้วยดีผ่านความร่วมมือทางด้านการเงินการคลัง ตอบสนองความต้องการของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาค
ประการที่สี่ ส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง ฝ่ายจีนยินดีที่จะร่วมมือกับทุกฝ่ายในการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติในปี 2030 แบ่งปันประสบการณ์การพัฒนากับทุกฝ่ายผ่าน “ข้อริเริ่มความร่วมมือว่าด้วยการขจัดความยากจนในเอเชียตะวันออก” นอกจากนี้ ฝ่ายจีนยินดีที่จะช่วยลดช่องว่างด้านการพัฒนาในภูมิภาคผ่านความร่วมมือกรอบลุ่มแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง และกรอบความร่วมมือเขตการเติบโตจีนและภาคตะวันออกอาเซียน ตลอดจนกลไกความร่วมมืออนุภูมิภาคอื่นๆ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการพัฒนาเชิงภูมิภาค ฝ่ายจีนสนับสนุนการจัดตั้งกลไกการประชุมระดับรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดการภัยพิบัติ โดยฝ่ายจีนจะรับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งแรกในปีหน้า
ประการที่ห้า ดำเนินการแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรมอย่างลึกซึ้ง บริหารกองทุนความร่วมมือ10+3 ให้เหมาะสม ดำเนินโครงการความร่วมมือประชานิยมให้มากยิ่งขึ้น โดยโครงการเครือข่ายเมืองวัฒนธรรม 10+3 ได้เริ่มขึ้นแล้วในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ฝ่ายจีนยินดีที่จะเปิดตัวเว็บไซต์ความร่วมมือ10+3 และจะจัดงานสัมมนาความร่วมมือด้านสื่อสารมวลชน 10+3 ฟอรั่มนยุววิทยาศาตร์ 10+3 และกิจกรรมอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมความใกล้ชิดและความเข้าใจซึ่งกันและกันในหมู่ประชาชนบรรดาผู้นำที่ร่วมประชุมต่างได้แสดงความชื่นชมต่อความสำเร็จในการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในระดับภูมิภาคตามโครงการความร่วมมือ 10 + 3
ในช่วงปีที่ผ่านมานี้ ชื่นชมการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค(RCEP)ได้ผลสำเร็จที่สำคัญ มีความมุ่งมั่นที่จะลงนามข้อตกลงนี้ในปี2020 และจะส่งเสริมการค้าและการลงทุนอย่างเสรีในภูมิภาค แสดงความยินดีต้อนรับต่อแถลงการณ์ว่าด้วยการเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน 10+3 ส่งเสริมการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานคุณภาพสูง ผู้นำทั้งหลายยังแสดงว่า เมื่อเผชิญหน้ากับภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีการเติบโตชะลอตัวลง ประเทศ 10+3 ควรแสดงบทบาทเป็นผู้นำ เสริมสร้างความร่วมมือให้เข้มแข็ง ร่วมกันรับมือความท้าทาย อุทิศกำลังเพื่อความสงบสุขและความรุ่งเรืองของภูมิภาค
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/