'บัตรอีซี่พาส' กับความไว้วางใจของคนใช้ทางด่วน...
"...ทางด่วนฯ เป็นบริการสาธารณะที่ผูกขาดอย่างไรเสียคนก็ต้องใช้บริการ ซึ่งในจำนวนนี้ร้อยละ 40 มีบัตรอีซีพาส ดังนั้นหากการทางพิเศษฯ ใส่ใจพัฒนาการให้บริการอยู่เสมอด้วย “ความรับผิดชอบ” ย่อมทำให้ประชาชน “ไว้วางใจ” และมีความสุขเมื่อใช้บริการ ซึ่งรัฐวิสาหกิจควรทำและประชาชนอยากได้ครับ..."
ใครบ้างที่ขึ้นทางด่วนฯ โดยใช้บัตรอีซี่พาส (Easy Pass) แล้วไม่เคยเจอปัญหาติดขัด เสียเวลา ผ่านไม่ได้เพราะระบบแจ้งว่า ‘บัตรไม่มีเงิน’ หรือ ‘ไม่พบบัตร’ ตัวผมเองเคยเจอเหตุการณ์ที่ไม่ธรรมดากว่านี้อีก ‘สองแบบ’ ไม่ซ้ำกัน
ครั้งแรก หลังเติมเงินในบัตรไปสองพันบาทวิ่งรถขึ้นทางด่วนไป 4 - 5 รอบ วันหนึ่งระบบของทางด่วนแจ้งว่าบัตรของผมไม่มีเงิน จึงต้องแวะจอดสำนักงานบริการหลังด่าน เจ้าหน้าที่แจ้งว่า มีหลายครั้งที่รถของผมใช้ทางด่วน แต่ ‘บัตรไม่ได้ตัดเงิน’ คราวนี้ระบบจึงตัดเงินย้อนหลังตามที่เป็นหนี้อยู่
อ้าว อย่างนี้ก็ได้ด้วย ...
เจ้าหน้าที่เปิดคอมพิวเตอร์ให้ดูภาพซึ่งระบุวัน – เวลาที่รถผมวิ่งผ่านด่าน ย้อนหลังไป 1 - 2 เดือน ภาพชัดเจนว่าเป็นรถผมจริงๆ แต่เอาอะไรมายืนยันว่าการวิ่งผ่านด่านตามภาพนั้น ระบบไม่ได้ตัดเงิน เพราะทุกครั้งที่ผ่านด่านมันก็มีสัญญาณดัง ‘ตี๊ด’ เครื่องแสดงยอดเงิน แล้วไม้กั้นก็ยกขึ้นให้วิ่งผ่าน...
คือบอกไม่ได้ว่า “ระบบไม่ตัดเงินหรือตัดเงินแล้วแต่ระบบไม่บันทึก” สุดท้ายผมต้องจ่ายเงินเพิ่มแบบไม่มีทางเลือก!!
เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อราวสามปีมาแล้วและคงพูดไม่ได้ว่าโดนโกง แต่เป็นธรรมหรือไม่ ยังสงสัย?
อีกครั้ง เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา คราวนี้เพิ่งเติมเงินไปสี่พันบาท ผ่านไปหนึ่งสัปดาห์ ขาขึ้นทางด่วนไปแจ้งวัฒนะยังไม่เจอปัญหาอะไร แต่ขากลับเข้าด่านเก็บเงินถนนงามวงศ์วานระบบอีซี่พาสแจ้งว่า ‘บัตรไม่มีเงิน’ ผมเอาใบเสร็จรับเงินให้เจ้าหน้าที่ดู (ไม่ใช่ยาม) เธออุทานว่าเพิ่งเติมเงินจริงด้วย แต่อย่างไรผมก็ต้องถอยรถไปเข้าช่องจ่ายเงินสด เพราะระบบไม่ให้ผ่าน
เอาน่า ไปลุ้นระทึกอีกทีที่ด่านถนนพระรามเก้า คราวนี้ผ่าน!!! เงินเหลือตั้งสามพันกว่าบาท โล่งอก...ไม่ต้องเสียเงินฟรีเหมือนคราวก่อน
อยากรู้ครับ มีใครบ้างไหมที่คอยจดบันทึกทุกครั้งว่าวันนี้บัตรอีซี่พาสของตนมีเงินเหลืออยู่กี่บาท
คนที่เคยไปสิงคโปร์จะรู้ว่า หากขับรถเข้าเขตเมืองชั้นในเขาเก็บเงิน เจ้าของรถต้องซื้อบัตรอนุญาตล่วงหน้า พอถึงหัวถนนก็ขับรถต่อไปปรกติ ไม่ต้องจอด ไม่ต้องชะลอ ไม่มีรถต่อแถว เครื่องอ่านบัตรตั้งอยู่ตรงไหนก็มองไม่ทันเห็น แต่ระบบมันตัดเงินเลย สะดวกมาก ต่างกันเหลือเกินกับกรุงเทพมหานคร
ทางด่วนฯ เป็นบริการสาธารณะที่ผูกขาดอย่างไรเสียคนก็ต้องใช้บริการ ซึ่งในจำนวนนี้ร้อยละ 40 มีบัตรอีซีพาส ดังนั้นหากการทางพิเศษฯ ใส่ใจพัฒนาการให้บริการอยู่เสมอด้วย “ความรับผิดชอบ” ย่อมทำให้ประชาชน “ไว้วางใจ” และมีความสุขเมื่อใช้บริการ ซึ่งรัฐวิสาหกิจควรทำและประชาชนอยากได้ครับ
ดร. มานะ นิมิตมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก : http://www.logisticstime.net/archives/10066