เปิดแล้ว! ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ปชช.เช็คได้ภายใน 2 ชม.
ก.ดิจิทัลฯ เปิดตัวศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ทำงานร่วมกับศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ เน้น 4 กลุ่มข่าวส่งผลกระทบวงกว้าง หนุนคนไทยรู้เท่าทันสื่อลวง คาดตรวจเช็คได้ภายใน 2 ชม.
วันที่ 1 พ.ย. 2562 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดตัวศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (Anti-Fake News Center) พร้อมกับเปิดตัวศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (PCT) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ณ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจเเละสังคม เปิดเผยว่า กระทรวงดิจิทัลฯ ได้รับมอบนโยบายจากรัฐบาลให้ดูแล กลั่นกรอง ตรวจสอบ หรือกำจัดข่าวปลอม เน้นว่าเป็นข่าวที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง และจะมีการสร้างการรับรู้ ความเข้าใจในข่าวที่ถูกต้อง เพื่อประชาชนทุกคนให้เข้าใจ และรู้เท่าทันว่าข่าวไหนปลอมข่าวไหนจริง ทั้งนี้ กระทรวงดิจิทัลฯ จะใช้กลไกการขับเคลื่อนโดย คณะกรรมการประสานงานและแก้ไขปัญหาข่าวปลอมที่กระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินประชาชน ที่จะมีคณะผู้ทรงคุณวุฒิ และนักวิชาการ สื่อมวลชน ทำหน้าที่ วางแผน กำกับ การดำเนินงาน และแผนการเผยแพร่ตามขั้นตอนการพิจารณาข่าวปลอม การวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารออนไลน์ ข่าวที่เป็นกระแสโลกโซเชียล อย่างรู้เท่าทันของภาครัฐ
โดยมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาข่าวปลอมที่มีผลกระทบต่อสังคมในวงกว้างเน้นย้ำว่าข่าวปลอมที่มีผลกระทบต่อสังคมในวงกว้างส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินต่อประชาชนโดยตรง เช่น โรคระบาด ภัยพิบัติ เศรษฐกิจสิ่งแวดล้อม ข่าวที่สร้างความแตกแยกในสังคม ข่าวที่สร้างความเข้าใจผิดต่อสังคมตลอดจนข่าวที่ทำลายภาพลักษณ์ต่อประเทศ และสิ่งที่สำคัญเรายึด code-of-principles ดังนี้
1. ความเที่ยงธรรมและความปราศจากอคติในการคัดเลือกข่าว
2. ความเป็นส่วนบุคคลกับสิทธิเสรีภาพของการนำเสนอข่าว
3. การขัดกันด้านผลประโยชน์ และผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่นำไปสู่ความขัดแย้ง
4. ให้ความเป็นธรรมแก่ฝ่ายที่ถูกพาดพิงและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเท่าเทียมกัน
5. สามารถอธิบายกระบวนการการพิสูจน์ การตรวจสอบ แหล่งที่มาของบทความและข้อเท็จจริงต่าง ๆ ได้
6. มีความรู้เกี่ยวกับข่าวนั้น ๆ ประชาชนสามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงในด้านต่าง ๆ ได้อย่างเปิดเผย ซื่อสัตย์ และโปร่งใส
7. เป็นหน่วยงานที่อิสระ ไม่ขึ้นต่ออิทธิพลของหน่วยงานหรือองค์กรใด ๆ
รมว.ดิจิทัลฯ กล่าวต่อว่า ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (Anti-Fake News Center) หน้าที่หลักจะมีการติดตาม ตรวจสอบ ข้อมูลที่เผยแพร่บนสื่อสังคมออนไลน์และระบบอินเทอร์เน็ต พร้อมวิเคราะห์แนวโน้ม และบ่งชี้ข้อมูลที่เป็นข่าวปลอม ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบข้อมูล ผลิตข้อมูลที่ถูกต้อง อีกทั้งจัดส่งข้อมูลต่อหน่วยงานที่เป็นเจ้าของเรื่องประกอบการดำเนินการตามอำนาจ หน้าที่ และข้อสำคัญขั้นตอนการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องต่อประชาชน และสาธารณชน จะผ่านกลไกภาคสื่อสารมวลชน อาทิ เช่น สำนักข่าวไทย สมาคมนักข่าว หรือสื่อหน่วยงานอื่น ๆ เครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เป็นต้น
อีกบทบาทสำคัญของการจัดตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม คือ ส่งเสริมสนับสนุนการสร้างองค์ความรู้ สร้างจิตสำนึก รอบรู้เท่าทันเพื่อให้ประชาชนสามารถปกป้องตนเองจากปัญหาข่าวปลอม ตลอดจนให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการพัฒนาเครื่องมือระบบตรวจสอบข่าวปลอม ให้มีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ข่าวปลอมที่มีผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง ส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินต่อประชาชนโดยตรง เช่น โรคระบาด ภัยพิบัติ เศรษฐกิจสิ่งแวดล้อม ข่าวที่สร้างความแตกแยกในสังคม ข่าวที่สร้างความเข้าใจผิดต่อสังคมตลอดจนข่าวที่ทำลายภาพลักษณ์ต่อประเทศ หลัก ๆ จะมี 4 กลุ่ม ดังนี้
1. ข่าวกลุ่มภัยพิบัติ (น้ำท่วม แผ่นดินไหว เขื่อนแตก สึนามิ ไฟไหม้)
2. ข่าวกลุ่มเศรษฐกิจ การเงินการธนาคาร/หุ้น
3. ข่าวกลุ่มผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง รวมถึงสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมายอื่น
4. ข่าวกลุ่มนโยบายรัฐบาล /ข่าวสารทางราชการ/ความสงบเรียบร้อยของสังคม/ขัดศีลธรรมอันดี และความมั่นคงภายในประเทศ
นายพุทธิพงษ์ กล่าวถึงเป้าหมายหลักอีกว่า เพื่อให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สิน มีช่องทางเพื่อให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ป้องกันการแชร์เนื้อหาข่าวที่ไม่เหมาะสม ตลอดจนสามารถรู้เท่าทันข่าวปลอมโดยกระทรวงดิจิทัลฯ เตรียมพิจารณาจัดทำเครื่องมือเพื่ออำนวยความสะดวก อาทิ web application เว็บไซต์ Anti-Fake News Center มีการทำงานในลักษณะ Online และ Offline เป็นไปตามมาตรฐานสากลของ International Fact Checking Network หรือ IFCN
วิธีการแจ้งจะแบ่งหมวดการแจ้งตาม 4 กลุ่มหลักตามที่กล่าวข้างต้น ศูนย์ทำหน้าที่รับแจ้งข้อมูลที่ต้องการตรวจสอบ และส่งต่อเรื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งจะมีกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริง แล้วแจ้งผลการตรวจสอบกลับมา ประชาชนจะสามารถตรวจเช็คข่าวปลอมได้ทันที เบื้องต้นคาดว่าภายใน 2 ชั่วโมง และได้เน้นการมีส่วนร่วมให้กับประชาชน จึงพัฒนาเว็บไซต์ (www.antifakenewscenter.com) เพื่อเป็นศูนย์กลางในการตรวจสอบข่าวสาร หรือข้อมูลอันเป็นเท็จ ข้อมูลหรือข่าวที่มีการตัดต่อข้อมูล เนื้อหา การนำเสนอข้อมูลข่าวสารโดยปราศจากข้อเท็จจริง พร้อมทั้ง ชี้แจงเสนอข้อเท็จจริงที่ถูกต้องและสนับสนุนการดำเนินงานร่วมกับภาคประชารัฐ (หน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม สมาคม เครือข่ายต่าง ๆ และภาคประชาชน) สามารถตรวจสอบ สอบถาม และร่วมมือในแก้ไขการเผยแพร่ข่าวสาร หรือข้อมูลอันเป็นเท็จ
“กระทรวงดิจิทัลฯ ได้ประสานความร่วมมือในการปฏิบัติงาน กับเครือข่ายสังคมออนไลน์รายหลัก และจะเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นร่วมกับหน่วยงาน ทุกกระทรวง ทบวง กรม รัฐวิสากิจ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สร้างความเข้าใจร่วมกัน อีกทั้งจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ภายในเดือนพฤศจิกายน 2562 นี้ เพื่อสร้างแนวปฏิบัติร่วมกัน และเป็นการสร้างเครือข่ายอีกทาง ปัจจุบัน หน่วยงานต่าง ๆ ได้มีการแต่งตั้งผู้แทนประสานงานกับศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลร่วมกับศูนย์ฯ และต้องได้คำตอบที่ถูกต้อง ชัดเจน และจะดำเนินการเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องต่อไป” นายพุทธิพงษ์ กล่าว
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/