ศ.ทัชมัย ฤกษะสุต กับความจริงของ GSP
วันนี้เราเห็นการทันเกมของคนไทย เรื่อง GSP ขณะที่สหรัฐฯ เริ่มกดดันจีน เกาหลีใต้ ไม่ให้สิทธิ์ GSP เพราะไม่ได้เป็นประเทศกำลังพัฒนา ไม่มีสิทธิ์ตีตั๋วเด็ก ซึ่งอนาคตอันใกล้ก็มาเลเซีย สำหรับประเทศไทยต้องถามตัวเอง เราต้องการตีตั๋วเด็กอย่างนี้หรือไม่
วันที่ 30 ตุลาคม ศาสตราจารย์ทัชมัย ฤกษะสุต ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายอาเซียน คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ความจริงจากข้อเท็จจริง กรณีสหรัฐตัด GSP ประเทศไทย ในเวทีเสวนา ฬ.จุฬาฯ นิติมิติ ณ ห้องประชุมสุรเกียรติ เสถียรไทย ชั้น 4 อาคารเทพทวาราวดี คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ
ศ. ทัชมัย กล่าวถึงสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) พบว่า ประเทศผู้ให้ GSP จะได้ประโยชน์มากกว่าผู้รับ ฉะนั้นประเทศที่ให้ GSP เราอย่ามองว่าเขาเป็นนักบุญ
ความจริงของ GSP ศ. ทัชมัย ชี้ว่า แต่เดิม GSP กับ GATT (General Agreement on Tariffs and Trade)/WTO (World Trade Organization)ไม่ได้อยู่ด้วยกัน และ GSP กับ GATT ก็ไม่ได้อยู่ด้วยกันตั้งแต่ต้น มีที่มาที่ไป โดยหลัก GSP จึงเป็นการเลือกปฏิบัติ ให้กับประเทศพัฒนาน้อยที่สุด แต่ไม่ให้กับประเทศพัฒนาแล้ว
"GSP เป็นสิทธิ์ของผู้ให้ เราบังคับเขาไม่ได้ เขาอยากจะให้เราก็ให้ได้ นึกอยากจะให้เมื่อไหร่ก็ได้ และผู้ให้สิทธิ์ GSP ก็มีสิทธิ์ยกเลิก เขาให้เราเพราะเห็นว่าเราเสียเปรียบเรื่องการค้า โดยเงื่อนไขแรกของสิทธิ์ GSP คือ ต้องเป็นประเทศที่จน มีรายได้ต่อหัวไม่เกินเท่าไหร่ "
ศ. ทัชมัย ระบุอีกว่า ด้วยเหตุผู้ให้สิทธิ์ GSP สามารถยกเลิกได้ ฉะนั้น GSP จึงไม่ต้องอยู่กับไทยตลอดไป ไม่ได้อยู่กับไทยชั่วกัลปาวสาน และมักจะหาข้ออ้าง มีลีลาในการยกเลิก GSP
เมื่อถามว่า ประโยชน์ของ GSP สำคัญมากมายขนาดไหนนั้น ผอ.ศูนย์กฎหมายอาเซียน คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า การถูกตัด GSP ไม่ได้หมายความว่า ประเทศไทยขายสินค้าไม่ได้เลย เรายังขายได้ เพียงแต่ราคาสูงขึ้น อาจมีคนซื้อเราน้อยลง แต่หากสินค้าของเราดีจริง ก็ถึงเวลาแล้ว ที่ไทยต้องยืนได้ด้วยตัวเอง สินค้าไทยต้องเป็นที่ต้องการ โดยไม่ต้องมี GSP
ศ. ทัชมัย ยังระบุถึงที่มีการประมาณการ หากโดนตัดสิทธิ GSP กระทบต่อภาคส่งออกไทย ถามว่า เป็นสินค้าของไทยจริงหรือไม่ เนื่องจากความจริงนั้น สินค้าบางอย่างของไทย วัตถุดิบนำเข้ามาหมด เพราะไทยผลิตไม่ได้ นำมาแต่งหน้าแต่งตา จนเราปลื้มปริ่มเป็นสินค้าไทย
"เราต้องดูสิทธิ์ GSP ที่ไทยเสียไป เนื้อๆ ของรายได้นั้นตกกับประเทศไทยต่อเมื่อเป็นสินค้าไทยจริงๆ เช่น ข้าวสาร ไก่ กุ้งแช่แข็ง"
ศ. ทัชมัย กล่าวด้วยว่า วันนี้เราเห็นการทันเกมของคนไทย เรื่อง GSP ขณะที่สหรัฐฯ ก็เริ่มกดดันจีน และเกาหลีใต้ ไม่ให้สิทธิ์ GSP เพราะไม่ได้เป็นประเทศกำลังพัฒนา ไม่มีสิทธิ์ตีตั๋วเด็ก ซึ่งอนาคตอันใกล้ก็มาเลเซีย สำหรับประเทศไทยต้องถามตัวเองว่า เราต้องการตีตั๋วเด็กหรือไม่
"วันนี้หากเราแก้ต่างเรื่องแรงงานได้ ไม่ได้หมายความว่า เราจะหลุด ก็จะเจอเรื่องอื่นๆ อีก"
ช่วงท้าย ศ.ทัชมัย กล่าวถึงสิทธิแรงงานที่สหรัฐมีข้อกังวล หนึ่งในนั้นคือข้อจำกัดในการจัดตั้งสหภาพแรงงานของแรงงานต่างด้าว ไทยยังไม่ให้สิทธิในการจัดตั้งสหภาพฯ คำถามคือ ในประเทศสหรัฐฯ ให้สิทธิ์ตรงนี้หรือไม่ ก็พบว่า ไม่มี
ดังนั้น การมาบังคับให้ไทยทำเรื่องนี้ถามว่า ได้หรือไม่
"ต่อให้เราได้สิทธิ์ GSP คืนมา สิ้นปี 2020 ก็ต้องมานั่งลุ้นการให้สิทธิ์นี้อยู่ดี ฉะนั้น ถึงเวลาแล้วที่ไทยต้องคิดว่า เราจำเป็นต้องพึ่ง GSP ตลอดไปหรือไม่ GSP ถ้าได้ก็ดี แต่หากการได้มานั้น ต้องแลกเปลี่ยนกับอะไรที่เป็นภาระเกินควร ไทยไม่ได้ประโยชน์ หรือเสียประโยชน์มากไป สิ่งที่เราเสียอยู่ยาวนานไป สมมุติเราบ้าจี้ ให้สิทธิ์แรงงานต่างด้าวรวมตัวต่อรอง จะยุ่งกว่านี้หรือไม่ ต้องมานั่งคิดกัน"
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/