แม่น้ำโขงเกี่ยวกับไทยตรงไหน ?
"...สำหรับเขื่อนไซยะบรี พื้นที่ในประเทศไทย ที่ได้รับผลกระทบ คือ พรมแดนไทยลาวตอนล่าง ตั้งแต่ปากแม่น้ำเหือง อ.เชียงคาน ไล่ลงมาถึง จ.หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ จนถึง อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี รวมทั้งสิ้น 7 จังหวัด แม้เจ้าของเขื่อนจะพยายามนำเสนอซ้ำๆ ว่า "ไม่มีผลกระทบ" แต่น่าสนใจคือ คดีที่ชาวบ้าน8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงได้ฟ้องศาลปกครองศาลปกครองสูงสุดได้รับฟ้องในปี 2557 และระบุว่าเขื่อนไซยะบุรี จะส่งผลกระทบรุนแรงและกว้างขวางต่อประชาชนที่อาศัยในไทย โดยเฉพาะจังหวัดริมแม่น้ำโขง ขณะนี้คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลปกครองสูงสุด..."
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : นางสาวเพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการรณรงค์ประเทศไทย องค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) โพสต์บทความในโพสต์บุ๊กส่วนตัว ชื่อว่า Pai Deetes เรื่อง แม่น้ำโขงเกี่ยวกับไทยตรงไหน ? (https://www.facebook.com/pai.deetes/posts/10219524304234152?comment_id=10219525006771715¬if_id=1572402519414018¬if_t=comment_mention)
---------------------------
แม่น้ำโขงเกี่ยวกับไทยตรงไหน ?
ประวัติย่อของความพินาศแม่น้ำโขง [ตุลาคม 2019]
1. แม่น้ำโขงตอนบน Lancang/Upper Mekong จีนได้ให้สัมปทานแม่น้ำ และก่อสร้างเขื่อนในยูนนาน เริ่มสร้างตั้งแต่ปี 2536 เดินหน้าแบบไม่ลดสปีด เวลานี้สร้างเสร็จไปแล้ว 11 เขื่อน จากที่วางแผนไว้ทั้งหมด 28 โครงการ
ระยะเวลา 20 กว่าปีที่ผ่านมา ความเสียหายระบบนิเวศค่อนข้างรุนแรง โดยเฉพาะที่พรมแดนไทยลาวตอนบน น้ำโขงขึ้นลงผิดธรรมชาติ แล้วแต่จีนจะใช้งานเขื่อน เพื่อผลิตไฟฟ้า และการเดินเรือพาณิชย์
เป็นข่าวมากมายจนว่าชาวบ้านจะไปยื่นหนังสือที่สถานฑูต จนสถานฑูตจีนได้ออกแถลงการณ์เรื่องนี้
และเครือข่ายชาวบ้านได้มีคำชี้แจง ตอบกลับไป (https://bit.ly/2O7K8Ou)
เขื่อนในจีน กระทบโดยตรงกับแม่น้ำโขงบริเวณพรมแดนไทยลาวตอนบน เริ่มตั้งแต่สามเหลี่ยมทองคำ ถึงแก่งผาได 3 อำเภอในจังหวัดเชียงราย ได้แก่ เชียงแสน เชียงของ เวียงแก่น ระยะทางทั้งสิ้น 97 กิโลเมตร
กระทบมากๆ คือ น้ำขึ้นๆ ลงๆ ผิดธรรมชาติ ผิดฤดูกาล กระทบระบนิเวศ ปลาอพยพ การประมง เกษตรริมฝั่ง การเดินเรือ ฯลฯ
ณ ตรงนี้ ที่จะโดนอีกโครงการ คือ "ระเบิดแก่งแม่น้ำโขง" ซึ่งจีนพยายามมาโดยตลอด แต่ก็ยังชะลอไว้ได้
2. แม่น้ำโขงตอนล่าง Lower Mekong มีแผนก่อสร้าง 11 โครงการเขื่อน ในลาว พรมแดนไทยลาว และในกัมพูชา เดิมทีวางแผนไว้เพื่อวัตถุประสงค์หลักด้านการเมืองภูมิภาค ตั้งแต่สมัยสงครามเย็น ราวปี 1969
3. เขื่อนไซยะบุรี Xayaburi dam เป็นเขื่อนแห่งแรกที่สร้างกั้นแม่น้ำโขงตอนล่าง ที่ประเทศลาว ห่างจากประเทศไทย ที่อ.เชียงคาน จ.เลย ราว 200 กม.เขื่อนพาดกั้นลำน้ำโขง มีความยาว 810 เมตร มีกำลังผลิตติดตั้ง 1,285 เมกกะวัตต์
ทำสัญญาขายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 1,220 เมกกะวัตต์ เป็นเวลา 29 ปี เริ่มขายไฟฟ้าตามสัญญาเมื่อวานนี้เอง (29.10.2019)
เนื่องจากข้อทักท้วงเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อแม่น้ำโขงจากประเทศท้ายน้ำ โดยเฉพาะกัมพูชาและเวีดนาม ในเวทีของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง จึงได้มีการก่อสร้างเพิ่มเติม กับบริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ 19,400 ล้านบาท มีการแก้ไขแบบของเขื่อนใหม่ โดยเฉพาะทางปลาผ่านและระบบระบายตะกอน
4. อย่างไรก็ตาม คณะกรรมธิการแม่น้ำโขง MRC ได้จัดทำรายงาน Reviews of Design Changed made for Xayaburi Hydropower หรือ รายงานความเห็นการทบทวนการแก้ไขแบบของเขื่อนไซยะบุรี
การวิเคราะห์ตามแนวทางการลดผลกระทบของโครงการเขื่อน (MRC’s Mitigation Guideline) ชี้ว่า ผลกระทบสำคัญจากเขื่อน สามารถ "บรรเทาได้เพียงบางส่วน" เท่านั้น และผลกระทบที่เหลืออยู่อาจจะต้องใช้เวลา 20-30 ปี
ที่สำคัญที่สุด รายงานระบุว่า ข้อมูลยังไม่เพียงพอที่จะประเมินผลอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะประสิทธิภาพของมาตรการบรรเทาผลกระทบต่างๆ โดยไม่มีมีการส่งข้อมูลเกี่ยวกับหลักการบริหารจัดการเขื่อน (ว่าจะผลิตไฟฟ้าอย่างไร กักเก็บ/ระบายน้ำช่วงไหน ฯลฯ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด ว่าผลกระทบจะวิบัติแค่ไหน)
สำหรับเขื่อนไซยะบรี พื้นที่ในประเทศไทย ที่ได้รับผลกระทบ คือ พรมแดนไทยลาวตอนล่าง ตั้งแต่ปากแม่น้ำเหือง อ.เชียงคาน ไล่ลงมาถึง จ.หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ จนถึง อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี รวมทั้งสิ้น 7 จังหวัด
แม้เจ้าของเขื่อนจะพยายามนำเสนอซ้ำๆ ว่า "ไม่มีผลกระทบ" แต่น่าสนใจคือ คดีที่ชาวบ้าน8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงได้ฟ้องศาลปกครอง
ศาลปกครองสูงสุดได้รับฟ้องในปี 2557 และระบุว่าเขื่อนไซยะบุรี จะส่งผลกระทบรุนแรงและกว้างขวางต่อประชาชนที่อาศัยในไทย โดยเฉพาะจังหวัดริมแม่น้ำโขง (อ่านคำสั่งได้ที่ https://bit.ly/2NlUmad)
ขณะนี้คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลปกครองสูงสุด
5. สร้างเขื่อนไซยะเสร็จแล้ว ช.การช่าง ดูท่ายังจะเดินหน้าโครงการเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงอีก คือโครงการเขื่อนหลวงพระบาง Luang Prabang dam project ร่วมกับปิโตรเวียดนาม
บริษัทให้สัมภาษณ์บ่อยๆ ว่า "พลังงานน้ำไม่มีต้นทุนเชื่อเพลิง" อาจแปลได้ว่า สัมปทานทรัพยากรแม่น้ำโขงของส่วนรวม ไปสร้างกำไรได้ฟรีๆ
เรื่องแม่น้ำโขงนั้น ซับซ้อน และมีอัปเดทไม่ได้หยุด
ชวนอ่านสรุปจากเอกสารนี้ shorturl.at/cntI5 และเว็บไซต์ http://www.mymekong.org/
อ่านรายงานความเห็นของผู้เชี่ยวชาญได้ที่ https://bit.ly/2JuqbMQ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/