รวบ นศ.วิทยาลัยอาชีพปัตตานีป่วน"ชิมช้อปใช้" ชาวบ้านแฉมีหักหัวคิว
เปิดเบื้องหลังคำแถลงของรัฐมนตรีดีอี จับมือป่วนลงทะเบียน "ชิม ช้อป ใช้" เฟส 2 ที่แท้เป็นนักศึกษาวิทยาลัยการอาชีพปัตตานี ขณะที่ชาวบ้านแฉโครงการดี แต่มีแก๊งงาบหัวคิว
การจับกุมมือป่วนลงทะเบียน "ชิม ช้อป ใช้" ซึ่งเป็นโครงการอัดฉีดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลนั้น เกิดขึ้นเมื่อวันจันทร์ที่ 28 ต.ค.62 โดยกำลังตำรวจจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ บก.ปอท. นำโดย พล.ต.ต.ไพบูลย์ น้อยหุ่น ผู้บังคับการ ปอท. ผบก.ปอท. สนธิกำลังกับตำรวจจากกองกำกับการสืบสวนสอบสวน ตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี (กก.สส.ภ.จว.ปัตตานี) และทหารจากหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี 25 ร่วมกันจับกุม "นาย ธ." ภูมิลำเนาอยู่ที่ ต.จะบังติกอ อ.เมือง จ.ปัตตานี เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 2 วิทยาลัยการอาชีพปัตตานี ในฐานะเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับที่ 606/2569 ในความผิดฐานกระทำการด้วยประการใดๆ โดยมิชอบ เพื่อให้การทำงานของระบบคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นถูกระงับ ชะลอ ขัดขวาง หรือรบกวน จนไม่สามารถทำงานตามปกติได้ อันเป็นความผิดตามมาตรา 10 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกีย่วกับคอมพิวเตอร์ พศ.2550
พร้อมกันนี้เจ้าหน้าที่ได้ยึดของกลางได้จำนวน 17 รายการ อาทิ โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ ซิมการ์ด สมุดบัญชีธนาคารกรุงไทย เราต์เตอร์ ฯลฯ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ยึดไว้เป็นหลักฐาน เบื้องต้น "นาย ธ." ให้การรับสารภาพว่ากระทำความผิดจริง โดยมีจุดประสงค์เพื่อเข้าไปจองพื้นที่โควต้าลงทะเบียนในโครงการ "ชิม ช้อป ใช้" และนำมาสู่การแถลงของ นายพุทธพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ กระทรวงดีอี ในวันอังคารที่ 29 ต.ค.
จากการตรวจสอบประวัติ "นายธ." เจ้าหน้าที่ไม่พบความเชื่อมโยงกับกลุ่มก่อความไม่สงบ หรือกลุ่มการเมืองตรงข้ามรัฐบาล จึงเชื่อว่าน่าจะเป็นเด็กร้อนวิชา
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้รับความสนใจจากชาวบ้านในพื้นที่อย่างมาก เพราะมีกระแสตื่นตัวการลงทะเบียนรับเงินตามโครงการ "ชิม ช้อป ใช้" โดยที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะที่ปัตตานี มีคนหัวใสรับลงทะเบียนแทนชาวบ้าน แล้วหักหัวคิว 200 บาท จากเงินในโครงการที่จะได้รับ 1,000 บาท หรือหัก 20%
นายอิสมะแอ วาเลาะ ชาวบ้านชายแดนใต้ บอกว่า การจองโควต้าเพื่อเข้าระบบลงทะเบียน "ชิม ช้อป ใช้" เป็นเรื่องยากสำหรับชาวบ้านที่นี่ และต้องรอตอนกลางดึก คนแก่ก็ทำไม่เป็น จึงมีคนหัวใสรับลงทะเบียนให้ แต่จะหักเงินไป 100-200 บาท
เช่นเดียวกับร้านค้าที่ร่วมโครงการ "ชิม ช้อป ใช้" หลายแห่งก็รับสแกนบาร์โค้ดให้กับชาวบ้านที่ลงทะเบียนแล้ว แต่ไม่รู้จะซื้ออะไร อยากได้เป็นเงินสดมากกว่า ก็สามารถไปลักลอบสแกนบาร์โค้ด ทำทีเป็นซื้อของที่ร้านเหล่านี้ได้ เพื่อแลกกับเงินสด 800-900 บาท แต่ไม่ได้มีการซื้อขายสินค้ากันจริง