‘เพ็ญโฉม’ ซัด รบ.ละเลยจัดการพลาสติก-ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ทำกลไกสิ่งแวดล้อมอัมพาต
‘เพ็ญโฉม’ ซัดรบ.ละเลยจัดการพลาสติก-ขยะอิเล็กทรอนิกส์ มุ่งส่งเสริมเฉพาะอุตสาหกรรม ทำกลไกสิ่งแวดล้อมชาติอัมพาต หวังสมาชิกอาเซียนลงสัตยาบันอนุสัญญาบาเซล
วันที่ 29 ต.ค. 2562 มูลนิธิบูรณะนิเวศ จัดสัมมนาวิชาการ เรื่อง ธุรกิจขยะข้ามพรมแดน : สถานการณ์ในประเทศไทย ณ โรงแรมริชมอนด์ จ.นนทบุรี
น.ส.เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง หัวหน้าโครงการศึกษา เรื่อง การนำเข้าของเสียและผลิตภัณฑ์ใช้แล้วของประเทศ มูลนิธิบูรณะนิเวศ เปิดเผยว่า ขณะนี้สาธารณชนกำลังให้ความสนใจในประเด็นขยะพลาสติก โดยหลังจากประเทศจีนห้ามขยะพลาสติก ทำให้ในช่วงหนึ่งประเทศไทยมีการนำเข้าขยะพลาสติกเพิ่มขึ้น 2,000-7,000% ซึ่งเป็นตัวอย่างชัดเจนมาก เพราะขยะพลาสติกในประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ สหภาพยุโรป จะมีระบบการคัดแยกค่อนข้างดี แต่เมื่อคัดแยกแล้ว ต้องเข้าใจว่า อุตสาหกรรมรีไซเคิลหรือการหล่อหลอมพลาสติก เป็นอุตสาหกรรมที่มีมลพิษสูงมาก และเป็นบ่อเกิดของโรคมะเร็ง อากาศปนเปื้อน รวมถึงการนำไปสู่ภาวะการเจ็บป่วยต่าง ๆ ฉะนั้นประเทศพัฒนาแล้วจึงไม่นิยมให้มีโรงงานรีไซเคิลพลาสติก เพื่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี หรือถ้ามีอยู่ จะใช้พลาสติกเกรดดี ส่วนพลาสติกเกรดต่ำจะส่งออกมารีไซเคิลในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งประเทศไทยนำเข้ามาจำนวนมาก
ทั้งนี้ กฎหมายอนุญาตให้นำเข้าพลาสติกเพื่อการรีไซเคิลได้ แต่จะต้องเป็นพลาสติกสะอาด อย่างไรก็ตาม จากการตรวจจับพบว่า มีการนำเข้าพลาสติกสกปรกมาก ซึ่งอาจนำไปสู่โรงงานรีไซเคิล หรือทำลายทิ้ง หรือไปสู่การรีไซเคิลที่ก่อให้เกิดมลพิษสูงมาก ทั้งหมดนี้ถือเป็นสิ่งที่เป็นปัญหาเกิดขึ้นในประเทศไทย
หัวหน้าโครงการฯ ยังกล่าวถึงกากขยะอิเล็กทรอกนิกส์ โดยพบว่ามีการนำเข้ามายังประเทศไทยสูงมากเช่นกัน โดยเฉพาะช่วงที่จีนปิดกิจการโรงงานรีไซเคิลในประเทศและห้ามนำเข้า เพราะมาตรการสิ่งแวดล้อมและการควบคุมมลพิษในประเทศไทยอ่อนแอ ขณะเดียวกันหน่วยงานราชการที่กำกับดูแล เช่น กรมโรงงานอุตสาหกรรม หรืออุตสาหกรรมจังหวัด ไม่มีการตรวจจับเข้มงวด จะสังเกตเห็นว่า ให้ใบอนุญาตไปแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ขาดการติดตามว่าปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ เช่น โรงงานบางแห่งไม่มีการแจ้งก่อนจะเริ่มประกอบกิจการ ถือเป็นการทำผิดกฎหมาย โดยไม่มีการตรวจสอบและเอาผิดกับโรงงานเหล่านี้
นอกจากนี้ยังมีกรณีที่มีการเอาผิด แต่บทลงโทษต่ำมาก ฉะนั้นหากมีการเปรียบเทียบรายได้มหาศาล ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมของอุตสาหกรรมรีไซเคิล ผู้ประกอบการยินดีจ่ายค่าปรับ ที่สำคัญ หลายกรณีจะพบอีกว่า แม้กระทั่งค่าปรับยังมีการลดหย่อนให้ จึงไม่ส่งผลให้ผู้ประกอบกิจการ หรือผู้กระทำผิดกฎหมายเกรงกลัวหรือระมัดระวังในการประกอบกิจการ
“ตอนนี้มีธุรกิจการจัดสรรที่ดินเพื่ออุตสาหกรรมรีไซเคิล โดยนักธุรกิจสามารถหิ้วเงินเข้ามาลงทุนในไทย ไม่ต้องทำอะไรเลย เพราะสวมสิทธิใบอนุญาตประกอบกิจการได้ และเมื่อประกอบกิจการจนได้ผลกำไร จะหอบเงินกลับประเทศ ส่วนของเสียและปัญหาทั้งหมดทิ้งไว้ในประเทศไทย” น.ส.เพ็ญโฉม กล่าว และว่า ไม่ว่าจะเป็นพลาสติก กากขยะอิเล็กทรอนิกส์ ยังมีของเสียจากอุตสาหกรรมจำนวนมากที่คิดว่า รัฐบาลต้องควบคุมปริมาณการนำเข้า และหลายรายการควรห้ามการนำเข้าโดยเด็ดขาด
หัวหน้าโครงการฯ กล่าวด้วยว่า หากประเทศไทยยึดแบบอย่างประเทศจีน จะรู้สึกปลอดภัยและวางใจ แต่เวลานี้รัฐบาลไม่ทำอะไรเลย นอกจากการส่งเสริมอุตสาหกรรมเหล่านี้ และทำให้สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะแหล่งน้ำผิวดินและใต้ดินมีการปนเปื้อน ชาวบ้านใช้ไม่ได้ ความเสียหายเหล่านี้ไม่เคยมีการผลักดันความรับผิดชอบหรือหาตัวผู้รับผิดชอบ กฎหมายสิ่งแวดล้อมมีการแก้ไขหลายครั้ง แต่ยังไม่มีบทลงโทษ เพราะฉะนั้นกลไกในประเทศไทยอัมพาตในเรื่องสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ในการประชุมสุดยอดอาเซียน เคยมีการเรียกร้องเมื่อ มิ.ย. ที่ผ่านมา ให้อาเซียนห้ามการนำเข้า รวมถึงประเทศสมาชิกอาเซียนไม่ควรส่งออกซึ่งกันและกัน และควรให้มีการลงสัตยาบันรับรองอนุสัญญาบาเซลว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของของเสียอันตรายและการกำจัด .
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/