15 ปีตากใบ...ใครหวาดระแวง?
เด็กนักเรียนปอเนาะและชาวบ้านบ้านจาเราะ ร่วมกันละหมาดฮายัตที่มัสยิดหมู่ 1 ต.ไพรวัน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เพื่อขอพรจากพระผู้เป็นเจ้ามอบแด่ผู้ที่ล่วงลับจากเหตุการณ์ตากใบ ในวาระครบรอบ 15 ปีของเหตุการณ์ เมื่อวันศุกร์ที่ 25 ต.ค.ที่ผ่านมา
"เขาบอกกันว่าจะทำบุญเล็กๆ แต่ด้วยแรงใจและการช่วยเหลือของชาวบ้านและพี่น้อง ทำให้ไม่ใช่งานเล็กๆ เป็นกิจกรรมที่สร้างสรรค์และรวมใจชาวบ้านมาช่วยเหลือกันได้ดี"
เป็นคำบอกเล่าของ พาตีเมาะ สะดียามู รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส เจ้าของฉายา "รองผู้ว่าฯมุสลิมะฮ์สุดแกร่ง" ซึ่งได้ไปร่วมงานทำบุญและละหมาดฮายัตด้วย
"ก๊ะเมาะ (หมายถึงตัวพาตีเมาะ) มาร่วมกิจกรรมตั้งแต่ครั้งแรกๆ ที่จัดกันที่นี่ เห็นมาโดยตลอดว่าชาวบ้านทำกันด้วยความจริงใจ เพื่อต้องการทำบุญให้แก่ผู้ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ตากใบ ไม่ได้มีเจตนาอื่น" เธอออกตัวแทนชาวบ้าน เพราะเจ้าหน้าที่ทหารและฝ่ายความมั่นคงมองว่ากิจกรรมแบบนี้เข้าลักษณะ "สะกิดแผล" ทำให้เรื่องที่ควรจบไปนานแล้วยังมีเรื่องราว และอาจเป็นเชื้อให้ผู้ไม่หวังดีนำไปขยายสู่ความรุนแรง
พาตีเมาะ ย้ำว่าตลอดหลายปีที่ผ่านมา บรรยากาศโดยรวมดีขึ้นมากจริงๆ ทั้งฝั่งชาวบ้านผู้สูญเสีย และฝ่ายรัฐเอง
"15 ปีเราเห็นความสัมพันธ์เชิงบวกเยอะขึ้น ช่องว่างเบาบางลง สถานการณ์เปลี่ยนไป วิธีการดูแลก็เปลี่ยนไปในเชิงบวก มีความเชื่อมโยง ความสัมพันธ์ไปในทางที่ดี ความรู้สึก ความเชื่อมั่น และความไว้วางใจอยู่ในระดับดี และดีมากในแง่การปฏิบัติต่อกัน ช่องว่างน้อยลง แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีเลย ต้องว่ากันไปตามหน้าที่ของความเป็นพลเมืองหรือเป็นเจ้าหน้าที่"
"อย่างการจัดกิจกรรมปีนี้ก็มีฝ่ายรัฐเข้ามาร่วมมือ สนับสนุน ให้กำลังใจ หน่วยกำลัง (หมายถึงทหารหรือทหารพรานและตำรวจ) ก็เข้ามาดูแล หากเป็นเมื่อ 10 ปีก่อนไม่มีใครเข้ามา มีแต่ความระแวงต่อกัน ฉะนั้นกิจกรรมเหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่ควรทำ เพื่อสร้างบรรยากาศที่ดีกับทุกภาคส่วน"
เมื่อถามถึงการเข้าถึงพื้นที่ของฝ่ายรัฐ พาตีเมาะ บอกว่า ในฐานะที่เธอเป็นคนในพื้นที่และเป็นข้าราชการ การเข้าถึงพื้นที่ต้องดูบริบทด้วยว่าเข้าถึงจริงหรือไม่ ต้องให้เห็นทั้งรูปธรรมและนามธรรม
เธอยังบอกด้วยว่า ได้เห็นบรรยากาศที่ชุมชนดูแลตัวเองแล้วรู้สึกว่าน่าสนใจ มีความร่วมมือร่วมใจในการทำกิจกรรมมากขึ้น การทำบุญครั้งนี้บอกได้ดีถึงความร่วมมือของชุมชน
นางแยนะ สะแลแม ผู้นำในการจัดงานบุญครบรอบเหตุการณ์ตากใบทุกครั้ง รวมถึงครั้งนี้ บอกว่า ดีใจมากกับความร่วมมือร่วมใจของทุกคนและทุกหน่วยงาน กับความตั้งใจที่จะทำบุญให้ผู้เสียชีวิต และตั้งใจจะทำกันทุกปีต่อไป ให้เป็นงานบุญประจำปีในเดือนตุลาคม
ขณะที่วัยรุ่นชายวัย 15 และ 16 ปีที่มาร่วมละหมาดฮายัต บอกว่า ขณะเกิดเหตุการณ์ตากใบพวกตนยังเล็กมาก ได้รับฟังเรื่องราวและภาพเหตุการณ์เมื่อโตขึ้น
"เป็นเรื่องเศร้ากับสิ่งที่เกิดขึ้น คิดว่าอย่าให้เกิดอีกเลยไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ไหนของประเทศไทย" วัยรุ่นตากใบ กล่าว
ด้าน พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวถึงกรณีที่ยังมีเสียงวิจารณ์ทหารหวาดระแวงชาวบ้านในพื้นที่ตากใบ
"ส่วนมากจะเป็นคนนอกพื้นที่ที่่เข้าไปรื้อฟื้นเหตุการณ์ตากใบ ซึ่งมันไม่ดีต่อกระบวนการสร้างสันติสุขกับประชาชนอย่างมาก" พ.อ.ปราโมทย์ กล่าวถึงความรู้สึกในมุมมองของทหาร
"ขณะนี้ทหารต้องรักษาความปลอดภัยสูงสุด เน้นพื้นที่ชายแดนใต้ และเฝ้าคนเข้าเมือง เฝ้าระวังบัญชีผู้ต้องสงสัยซึ่งมีมากกว่า 5 พันรายชื่อ เพื่อไม่ให้คนกลุ่มที่ไม่หวังดีเข้าไปจุดกระแสให้ชาวบ้านเห็นต่างจากรัฐ และใช้ชุดปฏิบัติการเชิงรุกลาดตระเวนเพื่อตรวจจับสิ่งผิดกฏหมายควบคู่กันไป นี่คือการปฏิบัติตามแนวชายแดน"
"ส่วนการดูแลพื้นที่ตอนใน เน้นการควบคุมให้มีความปลอดภัยสูงสุดเช่นกัน โดยใช้มาตรการพิทักษ์ประชาชนและทรัพยากร โดยมีหมู่บ้านเป้าหมาย 118 หมู่บ้าน ใช้กำลังทหารเป็นหลัก และกำลังเจ้าหน้าที่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ชรบ. (ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน) ผรส. (ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ) และกำลังประจำถิ่น (อส.) เข้าไปสกรีนทุกพื้นที่ในหมู่บ้านให้มีความปลอดภัยสูงสุด"
"นอกจากนั้นแม่ทัพภาคที่ 4 ยังได้สั่งการให้ทุกหน่วยติดตามสถานการณ์ โดยเฉพาะเฝ้าระวังสถานการณ์เชิงสัญลักษณ์ เพราะเชื่อว่ามีบางฝ่ายแสวงผลประโยชน์ให้กับตนเอง พร้อมขอฝากให้ประชาชนช่วยกันเฝ้าระวังในเขตพื้นที่ของตนเอง เพราะแนวร่วมบางกลุ่มต้องการเข้ามาแสดงศักยภาพเชิงสัญลักษณ์ หรือแขวนป้ายผ้า"
พ.อ.ปราโมทย์ ยืนยันด้วยว่า การจัดกิจกรรมที่ตากใบ ทหารได้ส่งชุดกิจพลเรือนเข้าไปทำงานร่วมกับชาวบ้าน ก็มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน มีบางกลุ่มเท่านั้นที่อ้างว่าชาวบ้านหวาดระแวงทหาร ขอย้ำว่าเจ้าหน้าที่รัฐหรือทหารไม่มีความหวาดระแวง มีแต่ผูกมิตรสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับประชาชนเสมอมา
ส่วนที่บางฝ่ายโจมตีเรื่องความอยุติธรรมนั้น พ.อ.ปราโมทย์ บอกว่า เรื่องความยุติธรรมกับประชาชนในเหตุการณ์ตากใบ ทุกอย่างยุติลงแล้วตามกระบวนการกฏหมาย กระบวนการศาล และขั้นตอนการเยียวยา เจ้าหน้าก็ไม่เคยทอดทิ้ง เข้าไปคลายทุกข์สร้างสุข สร้างความเข้าใจกับชาวบ้านมาตลอด
ฉะนั้นจงขออย่าเชื่อคนบางกลุ่มที่พยายามจุดกระแสให้ประชาชนเกลียดชังเจ้าหน้าที่รัฐ
-------------------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ : 15 ปีตากใบ...ญาติเหยื่อภาวนาอย่าตายก่อนใต้สงบ