เขื่อนไซยะบุรี : ธุรกิจใหญ่ ความสัมพันธ์ไทย-ลาว และสิ่งแวดล้อม
"...รัฐบาลลาวนั้นเป็นห่วงมากในเรื่องเทคโนโลยีจะไม่ได้มาตรฐานสากล เกรงว่าจะล้มเหลว ซึ่งจะทำให้เขื่อนต่อๆไปกลางแม่น้ำโขงจะสร้างไม่ได้ และจะส่งผลให้นโยบายสร้างลาวให้เป็น “แบตเตอรี” ของเอเชียนั้นพาลไม่บรรลุผล พูดถึงตรงนี้ผมต้องขอเพิ่มเติมว่าศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าจากน้ำโขงของลาวนั้นสูงมาก สูงกว่าทุกประเทศที่แม่น้ำโขงไหลผ่าน รวมทั้งสูงกว่าจีน นี่ก็เป็นเรื่องข้อเด่นของลาวที่โลกไม่ค่อยทราบ ลาวนั้นอุทิศน้ำให้แม่น้ำโขงเป็นอันดับหนึ่ง ราว 35 เปอร์เซ็นต์ ของน้ำโขงทั้งหมด อุทิศมากกว่าไทย และมากกว่าทุกประเทศที่เหลือ เปรียบเทียบกับจีนที่มีแม่น้ำโขงอยู่ยาวถึงครึ่งหนึ่งนั้น กลับอุทิศน้ำให้เพียง 16 เปอร์เซ็นต์ของแม่น้ำ ไทยเรานั้น อุทิศให้โขง 18 เปอร์เซนต์ ในแง่หนึ่ง แม่น้ำโขงนั้นจึงเป็น ”ของลาว” มากที่สุด และลาวย่อมสมควรที่สุดที่จะใช้แม่น้ำโขงเป็นรายได้ด้วยการทำเขื่อนปั่นไฟชั้นแนวหน้าอย่างที่ทำมาแล้วที่ไซยะบุรี โดยรวมแล้วรัฐบาลและคนลาวพอใจกับเขื่อนนี้ มาก และ ทางการกำลังจะให้ทำเขื่อนที่สองที่ใหญ่กว่าที่ไซยะบุรีเสียอีกในบริเวณใกล้กับเมืองหลวงพระบางในเร็ววันนี้..."
เมื่อเดือนที่แล้ว ผมและคณะจากสถาบันคลังปัญญาฯ ไปเยือนแขวงไซยะบุรี ของลาว เพื่อดูเขื่อนกลางแม่น้ำโขง อันเป็นการลงทุนร่วมกันของเอกชนไทยคือ CK Power ซึ่งเกี่ยวข้องกับ บริษัท ช.การช่าง ที่คนไทยรู้จักกันดี กับหน่วยงานธุรกิจของ กฟผ. กับ ปตท. และร่วมมือกับรัฐบาลลาว
โดยทั่วไป แม่น้ำโขงนั้นเป็นเส้นกั้นเขตแดนไทย-ลาว แต่ไซยะบุรีคือดินแดนลาวที่เป็นเจ้าของแม่น้ำโขงแต่ฝ่ายเดียว ดินแดนไซยะบุรีนั้นยังอยู่ประชิดติด น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก และเลย ของไทยด้วย ประวัติศาสตร์เรียกว่า “ดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขง” ที่ไทยจำต้องยกให้แก่ฝรั่งเศสในยุคอาณานิคม
ด้วยเหตุที่แขวงนี้ครอบครองแม่น้ำโขงแต่ผู้เดียวและมีดินแดนติดไทยตั้งแต่ภาคเหนือส่วนตะวันออกจรดภาคอีสาน ทำให้รัฐบาลลาวเปิดให้ภาคเอกชนไทยและหน่วยงาน “ลูก” ของราชการไทยมาร่วมสร้างเขื่อนกลางแม่น้ำ มูลค่ากว่าแสนล้านบาท ผลิตไฟฟ้าขายให้ กฟผ. ของไทยปีละประมาณ 1,200 เมกะวัตต์ (ใหญ่กว่าเขื่อนภูมิพลที่ผลิตไฟฟ้าได้ปีละประมาณ 780 เมกะวัตต์) และนับเป็นเขื่อนกลางน้ำโขง “ตอนล่าง” เขื่อนแรกด้วย
แม่น้ำโขงนั้นยาวเกือบ 5,000 กม. อยู่ในจีน 2,500 กม. ครึ่งหนึ่ง ครับ และถือกันว่านั่นเป็นโขง “ตอนบน” ซึ่งได้มีการสร้างเขื่อนไปแล้วถึง 7 เขื่อน ส่วนที่อยู่ในพม่า ไทย-ลาว ลาว กัมพูชา และเวียดนามนั้น เรียกกันว่าโขง ”ตอนล่าง” จัดเป็นแม่น้ำนานาชาติ เขื่อนผลิตไฟฟ้าไซยะบุรีที่จะเปิดดำเนินการเต็มรูปแบบในไม่ถึงสองอาทิตย์ข้างหน้านี้ เป็นเขื่อนบนแม่น้ำโขง “ตอนล่าง” เขื่อนแรก ซึ่งต้องใช้ความรู้-วิชาการ-เทคโนโลยีล้ำยุค ต้องมีเงินทุนมหาศาลมาสนับสนุน และ จักต้องได้รับความยินยอมพร้อมใจจากประเทศที่อยู่ใต้เขื่อนทั้งหมด
CK Power เป็น”ลูก” ของบริษัท “ ช.การช่าง” ซึ่งเริ่มจากการทำธุรกิจก่อสร้าง ไปสู่การสร้าง-รับสัมปทานทางด่วน ทำรถไฟฟ้า บีทีเอส และในปัจจุบันออกนอกประเทศไปทำเขื่อน เป็นหนึ่งในธุรกิจใหญ่ที่คนไทยควรจะภูมิใจด้วย CK Power นั้น ใช้คนเก่ง โดยเฉพาะคนเก่าแก่ของ กฟผ. พร้อมกับเลือกใช้เทคโนโลยีที่ดีเยี่ยมจาก ออสเตรีย อังกฤษ และจีน และอาศัยเงินกู้ยืมจากธนาคารและสถาบันการทุนราว 10 แห่งของไทยโดยไม่อาศัยเงินทุนจากต่างประเทศแม้แต่น้อย
ย้อนนึกถึงอดีตดู เราจะเห็นภาพตรงกันข้าม คือบรรดาการก่อสร้างทางหลวง เขื่อน และสาธารณูปโภคใหญ่ๆของเรา แต่เดิมนั้น ล้วนต้องอาศัยทุนรอนจาก ธนาคารโลก จากธนาคาร ADB จากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา และจากญี่ปุ่น เป็นต้น แต่ ณ วันนี้ เศรษฐกิจไทยเติบโตจนเกิดมีบริษัทขนาดใหญ่ คือ CK Power ร่วม กับ ปตท. และ กฟผ. ที่สามารถออกไปสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้านอกประเทศที่ใหญ่ โตและทันสมัยได้สุดๆ มีผู้นำ และสถาปนิก-วิศวกรไทย รวมถึงเจ้าหน้าที่ และพนักงานไทย เรือนพัน เรือนหมื่น ร่วมกับฝ่ายลาว ในขณะเดียวกัน ธนาคารและสถาบันการทุนของไทยก็สะสมทุนและเข้มแข็งพอที่จะสนับสนุนโครงการระดับแสนล้านบาทนอกประเทศได้อย่างไม่สะทกสะท้านเช่นกัน
ที่น่าภูมิใจเป็นพิเศษคือเขื่อนนี้แทบจะไม่ส่งผลลบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่เก็บขังน้ำเอาไว้ น้ำเข้ามาเท่าไรก็ออกไปเท่าน้ัน ทำระดับน้ำให้ต่างกันราวสิบกว่าเมตร เพียงเพื่อจะอาศัยกำลังน้ำไปพัดหมุนกังหันปั่นไฟเท่านั้น เขื่อนชนิดนี้ส่วนใหญ่มีในยุโรป เขื่อนไซยะบุรีนี้มีการทำเส้นทางน้ำของปลาด้วย รวมทั้งมีบันไดเลื่อนและลิฟท์น้ำที่จะพาปลาข้ามเขื่อนไปมา และตรงนี้ก็เป็นไปตามความห่วงใยของกัมพูชาซึ่งอาศัยปลาในแม่น้ำโขงเป็นรายได้หลักของประชาชนรอบ “โตนเลสาป” (Tonle Sap)
ยิ่งกว่านั้น เขื่อนใหญ่นี้ยังต้องไม่ให้ตะกอนดินอันสมบูรณ์จากต้นน้ำโขงถูกสะกัดหรือติดค้างอยู่ที่สันเขื่อน นี่คือข้อกังวลของเวียดนามที่อาศัยดินดีที่ไหลไปเป็นดินดอนสามเหลี่ยมแถบปากน้ำโขงตอนจะออกทะเล อันเป็นอู่ข้าวสำคัญที่สุดของเขา ส่วนไทยเราเองก็มีข้อห่วงใยจากรัฐบาลในเรื่องเกรงเขื่อนจะแตกได้ และมีข้อกังวลจากเอ็นจีโอในแทบทุกเรื่องรวมทั้งเรื่องผลลบต่อสิ่งแวดล้อม ในเรื่องเขื่อนอาจแตกนั้น CK Power ยืนยันว่า หนึ่ง เขื่อนแทบไม่ได้กักน้ำไว้เลย สอง เท่าที่กักไว้เพียงเพื่อให้พอกับการปั่นไฟนั้น มีจำนวนเพียง 0.3 เปอร์เซ็นต์ของน้ำทั้งหมด แม้ว่าเกิดแผ่นดินไหว จนเขื่อนแตก กว่าน้ำที่ท่วมขึ้นมาจะไหลจากเขื่อน ไปถึงบริเวณชายแดนไทยที่ จ.เลย น้ำที่ล้นมานั้นก็จะหมดไปเสียแล้ว
รัฐบาลลาวนั้นเป็นห่วงมากในเรื่องเทคโนโลยีจะไม่ได้มาตรฐานสากล เกรงว่าจะล้มเหลว ซึ่งจะทำให้เขื่อนต่อๆไปกลางแม่น้ำโขงจะสร้างไม่ได้ และจะส่งผลให้นโยบายสร้างลาวให้เป็น “แบตเตอรี” ของเอเชียนั้นพาลไม่บรรลุผล พูดถึงตรงนี้ผมต้องขอเพิ่มเติมว่าศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าจากน้ำโขงของลาวนั้นสูงมาก สูงกว่าทุกประเทศที่แม่น้ำโขงไหลผ่าน รวมทั้งสูงกว่าจีน นี่ก็เป็นเรื่องข้อเด่นของลาวที่โลกไม่ค่อยทราบ ลาวนั้นอุทิศน้ำให้แม่น้ำโขงเป็นอันดับหนึ่ง ราว 35 เปอร์เซ็นต์ ของน้ำโขงทั้งหมด อุทิศมากกว่าไทย และมากกว่าทุกประเทศที่เหลือ เปรียบเทียบกับจีนที่มีแม่น้ำโขงอยู่ยาวถึงครึ่งหนึ่งนั้น กลับอุทิศน้ำให้เพียง 16 เปอร์เซ็นต์ของแม่น้ำ ไทยเรานั้น อุทิศให้โขง 18 เปอร์เซนต์ ในแง่หนึ่ง แม่น้ำโขงนั้นจึงเป็น ”ของลาว” มากที่สุด และลาวย่อมสมควรที่สุดที่จะใช้แม่น้ำโขงเป็นรายได้ด้วยการทำเขื่อนปั่นไฟชั้นแนวหน้าอย่างที่ทำมาแล้วที่ไซยะบุรี โดยรวมแล้วรัฐบาลและคนลาวพอใจกับเขื่อนนี้ มาก และ ทางการกำลังจะให้ทำเขื่อนที่สองที่ใหญ่กว่าที่ไซยะบุรีเสียอีกในบริเวณใกล้กับเมืองหลวงพระบางในเร็ววันนี้
เขื่อนไซยะบุรี นี้คือความสำเร็จในด้านการต่างประเทศด้วยครับ แต่ผู้ที่ทำให้สำเร็จเป็นภาคธุรกิจไทยเป็นหลัก ที่ทำงานกับรัฐบาลลาวอย่างใกล้ชิด และทั้งสองฝ่ายได้เพียรร่วมกันทำให้ประเทศใต้น้ำทั้งมวลหมดห่วงหมดกังวลต่อผลกระทบด้านลบ และเกิดความหวังว่าแต่ละประเทศที่สนใจก็อาจจะสร้างเขื่อนในทำนองนี้ได้ในอนาคต
แง่คิดที่ผมอยากเสนอเป็นพิเศษ คือ ธุรกิจใหญ่ ไฮ-เทค และมีนวัตกรรมนั้น เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ครับ ถ้าไทยจะก้าวไปในเศรษฐกิจโลก รัฐบาลและสังคมเราจงอย่ามองแต่ว่าธุรกิจใหญ่คือผู้ผูกขาด เอารัดเอาเปรียบ ไม่รับผิดชอบต่อสังคม มองแต่ด้านเดียว ด้านลบ ญี่ปุ่นนั้นยิ่งใหญ่ได้ก็เพราะมี โตโยต้า ฮอนด้า มิตซูบิชิ สุมิโตโม่ มิใช่หรือ เกาหลีใต้นั้นก็ยิ่งใหญ่ได้เพราะมี ฮุนได ซัมซุง แอลจี เป็นต้น ส่วนจีนเล่า ในระยะหลัง ก็มี อาลีบาบา เทนเซนต์ หัวเหว่ย ไทยเราเองก็จำต้องมีบริษัทใหญ่ ชั้นนำ ทันสมัย และรับผิดชอบต่อสังคมเช่นกัน CK Power และคณะที่ทำเขื่อนไซยะบุรีขึ้นนั้น เป็นตัวอย่างหนึ่งที่รัฐและสังคมไทยพึงรับรู้และภาคภูมิพร้อมทั้งช่วยกันสนับสนุนให้เป็นบริษัทระดับนานาชาติที่สำคัญยิ่งขึ้นๆ ไป ไม่หยุดยั้ง