สมาพันธ์เกษตรฯ ชี้ ‘กลูโฟซิเนต’ ทดแทน ‘พาราควอต’ ไม่ได้ ประสิทธิภาพด้อย-ต้นทุนสูง
สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย ยื่นนายกฯ ทบทวนอีกครั้ง แบนสาร 3 ชนิด ชงทางออกตั้ง คกก.ทดสอบพิษสารเคมีทุกชนิด บุก ก.อุตฯ จับตามติคกก.วัตถุอันตราย 22 ต.ค. 62
วันที่ 21 ต.ค. 2562 สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย ประกอบด้วย สมาคมเกษตรปลอดภัย สมาคมชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียนและมังคุดแห่งประเทศไทย สมาคมชาวสวนปาล์มน้ำมันจังหวัดชุมพร ชมรมผู้ปลูกมะนาวแห่งประเทศไทย ศูนย์ประสานงานโรงงานน้ำตาลลุ่มน้ำแม่กลอง กลุ่มเกษตรกรผู้รวบรวมข้าวโพดหวาน สมาคมส่งเสริมธุรกิจพืชอาหารสัตว์ สมาคมชาวไร่มันสำปะหลังแห่งประเทศไทย สภาเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย สมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย ประกาศความร่วมมือคัดค้านการยกเลิกพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ณ โรงแรมเอเชีย กรุงเทพฯ
ดร.บรรพต ด้วงชนะ ศูนย์ประสานงานโรงงานน้ำตาลลุ่มน้ำแม่กลอง กล่าวถึงข้อเรียกร้องโดยขอให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทบทวนการยกเลิกสารทั้ง 3 ชนิด ซึ่งหวังว่า นายกรัฐมนตรีจะใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจเพื่อความอยู่รอดของเกษตรกรทั้งประเทศ โดยไม่หวั่นไหวต่อข้อมูลที่บิดเบือน แม้รัฐมนตรีบางท่านตั้งธงไว้ล่วงหน้าว่าจะต้องยกเลิกให้ได้ ประกาศเอาเก้าอี้ตำแหน่งเป็นเดิมพันเพื่อกดดันนายกรัฐมนตรีก็ตาม จึงขอให้นายกรัฐมนตรีสร้างความกระจ่างเรื่องอันตรายจากสาร 3 ชนิด แก่เกษตรกรผู้บริโภค รวมถึงประชาชนและสังคม ให้ได้รับข่าวสารที่ถูกต้องตรงกับข้อเท็จจริงตามหลักวิชาการเพียงช่องทางเดียว
ทั้งนี้ โดยการแต่งตั้งคณะทำงานอิสระผู้ทรงคุณวุฒิ โดยจัดงบประมาณเพื่อศึกษาวิจัยถึงข้อมูลที่ขัดแย้งระหว่างผู้สนับสนุนและผู้คัดค้านการยกเลิกสาร 3 ชนิด เช่น การค้นพบการปนเปื้อนของสารเคมีในพืชผักและผลไม้ ความเป็นพิษและผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนข้อกล่าวหาที่ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ว่าสารพาราควอตเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ ทำลายระบบประสาท โดยทำให้เกิดโรคพาร์กินสัน เนื้อเน่า และมีผลกระทบต่อทารกในครรภ์มารดา
ผู้แทนจากศูนย์ประสานงานฯ ยังกล่าวว่า จุดประสงค์ที่แท้จริงของฝ่ายต้องการให้มีการยกเลิก นั่นคือ ความต้องการให้ยกเลิกพาราควอต ส่วนคลอร์ไพริฟอสและไกลโฟเซต เป็นเรื่องการเมืองที่ถูกพ่วงเข้าไป เพื่อนำ ‘กลูโฟสิเนต’ เข้ามา ซึ่งชาวไร่อ้อยได้รับผลกระทบมาก
“สารเคมีที่ใช้ในไร่อ้อยมีหลายชนิดและพาราควอตเป็นหนึ่งในนั้น โดยนำมาใช้ในช่วงที่จำเป็น ฉีดหลังคลุมวัชพืชมาหมดแล้ว” ดร.บรรพต กล่าว และว่า จำเป็นต้องใช้ในช่วงฝนตกชุก ซึ่งพาราควอตมีคุณสมบัติพิเศษ ฉีดไปแล้วเกาะติดหญ้า หากกำจัดหญ้าไม่ได้ จะทำให้ผลผลิตลดลง 20-40% จากงานวิจัย จึงจำเป็นต้องใช้ในช่วงวิกฤติ ไม่ได้หมายความว่า จะใช้ตลอดทั้งปี
ผู้แทนจากศูนย์ประสานงานฯ กล่าวเพิ่มเติมถึงกลูโฟสิเนตว่า ไม่มีคุณสมบัติเทียบเท่าพาราควอต อีกทั้งยังเป็นสารดูดซึม อ้อยจะตาย แต่พาราควอตแค่เผา ไม่เคลื่อนย้าย พืชยังเติบโตได้ ส่วนเหตุผลที่กรมวิชาการเกษตรไม่ออกมาชี้แจงถึงวิธีการต่าง ๆ อาจเพราะการเมือง พร้อมกับย้ำว่า หากสารดังกล่าวก่อมะเร็งจริงนั้น ถามว่า เด็กจะไม่พิการแล้วหรือ ทั้งที่ใช้มานานถึง 50 ปี และเหตุผลที่มีอัตราการใช้เพิ่มสูงขึ้นทุกปี เพราะมีประโยชน์ใช้ได้ผลนั่นเอง
ด้านนายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย กล่าวเสริมว่า นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งคณะกรรมการกลางและนักวิจัยกลาง เข้ามาทดสอบสารเคมีทุกชนิด ไม่ต้องให้กระทรวงสาธารณสุขและเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง (ไทยแพน) เข้ามาเกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดข้อมูลที่เป็นประวัติศาสตร์และก่อให้เกิดความถูกต้องกับประเทศไทย
“คุณจะยกเลิกหรือไม่ แค่ปลายเหตุ แต่ต้นเหตุที่จะแก้ไขความขัดแย้งระหว่างเกษตรอินทรีย์ที่ถูกมองเป็นเทวดาและเกษตรเคมีที่มองเป็นอาชญากร จะต้องตั้งคณะกรรมการกลางขึ้นมาหนึ่ง ประกอบด้วย นักวิชาการอิสระ แต่ต้องไม่ใช่คนเก่า คนเสนอยกเลิกไม่ต้องมายุ่ง หากพบว่าพาราควอตและไกลโฟเซตเป็นพิษจริง ด้วยความบริสุทธิ์ ยินดีให้ยกเลิก แต่ต้องตรวจกลูโฟสิเนตและชนิดอื่น ๆ ด้วย” เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ข้อมูลจากสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย ระบุกลูโฟสิเนตใช้ทดแทนพาราควอตไม่ได้ เนื่่องจากมีราคาเฉลี่ย 445 บาท/ลิตร ขณะที่ พาราควอต 125 บาท/ลิตร
ขณะที่ในวันที่ 22 ต.ค. 2562 กลุ่มเกษตรกรจะเดินทางไปรับฟังผลการลงมติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายว่าจะยกเลิกหรือมีมติเป็นอย่างอื่น ณ กระทรวงอุตสาหกรรม .
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ:เปิดข้อเสนอทดแทน 'พาราควอต-ไกลโฟเซต'
สธ.-เกษตรฯ คลิกออฟ ยกเลิกการใช้ 3 สารเคมีทางการเกษตร