ไอติม-พริษฐ์ วาดภาพไทยในศตวรรษที่ 21 เข้าสู่ ปชต.ลื่นไหล -เชื่อมโยงเทคโนโลยี
ไอติม-พริษฐ์ เปิดตัวหนังสือ WHY SO DEMOCRACY วาดภาพอนาคต ปชต.ศตวรรษที่ 21 ต้องเชื่อมโยงกับเทคโนโลยี สร้างแพลตฟอร์มรองรับ ‘ประชาธิปไตยลื่นไหล’ โอนสิทธิโหวตกันได้
วันที่ 19 ต.ค. 2562 สำนักพิมพ์บันลือบุ๊คส์ ร่วมกับร้านหนังสือบีทูเอส จัดงานเปิดตัวหนังสือ WHY SO DEMOCRACY ประชาธิปไตยมีดีอะไร? เขียนโดย นายพริษฐ์ วัชรสินธุ (ไอติม) อดีตผู้สมัครส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ณ ร้านหนังสือบีทูเอส สาขาเซ็นทรัล เวิลด์ กรุงเทพฯ
นายพริษฐ์ กล่าวตอนหนึ่งถึงหน้าตาประชาธิปไตยในศตวรรษที่ 21 ว่า ถ้าเรามองอนาคตประชาธิปไตยเป็นอย่างไร ต้องมองเชื่อมโยงกับเทคโนโลยี ซึ่งเข้ามาเปิดประตูอะไรบ้างให้กับวิวัฒนาการของประชาธิปไตย โดยย้อนกลับไปสมัยกรีกโบราณ ประชาธิปไตยเริ่มต้นจากไอเดียที่ว่า ประชาธิปไตยโดยตรง หมายความว่า ถ้าเราจะตัดสินใจอะไรก็ตาม จะทำนโยบายชิม ช้อป ใช้ หรือไม่ เพียงเรียกทุกคนมาโหวตโดยตรง แต่เวลาผ่านไปกลับเริ่มเจอปัญหา เพราะแต่ละคนมีงานทำ จึงไม่มีเวลาเข้ามาถกเถียงกัน
ด้วยเหตุนี้ หากประชากร 60 ล้านคนต้องเข้าไปอยู่ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เศรษฐกิจคงหยุดทันที ทำให้มีนวัตกรรมใหม่ต่อมา เรียกว่า ส.ส. ซึ่งเป็นการเลือกคนเข้าไปทำหน้าที่แทนในการโหวต ระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทนจึงมีวัฒนาการมาเรื่อย ๆ ในปัจจุบัน แต่กลับเริ่มเจอความท้าทายอีกครั้ง นั่นคือ บางครั้งการเลือก ส.ส.เข้าไป ไม่โหวตตรงใจเรา และต้องรออีก 4 ปี จึงจะเลือก ส.ส.ใหม่ได้ หรือหลายคนเข้าคูหาในวันเลือกตั้ง รักพี่เสียดายน้อง
อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวต่อว่า จะเป็นไปได้หรือไม่ ให้เลือก ส.ส.เฉพาะด้าน สมัยก่อนเป็นไปไม่ได้เลย เราเห็นความอึดอัดตรงนี้ถูกแปรรูปในการเรียกร้องประชาธิปไตยโดยตรงกลับมา เช่น การเรียกร้องประชามติของสหราชอาณาจักร เพื่อถอดถอนออกจากสหภาพยุโรป ฉะนั้นความไม่พอใจในตัว ส.ส. เริ่มทำให้คนเรียกร้องประชาธิปไตยโดยตรงกลับมา แต่เมื่อโยนทุกอย่างมาที่ประชาธิปไตยโดยตรง จะเห็นปรากฎการณ์ในสหราชอาณาจักรใน 3 ปีที่ผ่านมา คือ บางคำถามมีหลายมิติมากกว่าการโหวตว่า ใช่หรือไม่ใช่
“ความคิดเรื่อง ‘ประชาธิปไตยรูปแบบลื่นไหล’ จึงเกิดขึ้น ด้วยการพยายามนำข้อดีของทั้งสองแบบมารวมกัน หลัก ๆ คือเริ่มต้นจากสมมติฐานว่าเรามีประชาธิปไตยโดยตรง แต่ถ้ามีประเด็นไหนไม่มั่นใจ ไม่มีเวลาศึกษา สามารถโอนสิทธิไปให้ผู้อื่นได้ แยกได้ว่าสิทธิในการโหวตเศรษฐกิจให้ใคร ถ้าผ่านไปสิบวัน ทำหน้าที่ไม่พอใจ เราสามารถดึงสิทธิกลับมาได้ ทำให้เรามี ส.ส.เฉพาะประเด็นหลายคน ไม่จำเป็นต้องมีคนเดียวอีกต่อไป หรือเรื่องใดที่มีความรู้สึกร่วมมาก เช่น การศึกษา ขอเก็บสิทธิไว้กับตนเองได้”
นายพริษฐ์ ยังกล่าวว่า สิ่งที่เป็นไปได้ในปัจจุบันจึงอยู่ที่ ‘เทคโนโลยี’ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มให้คนสามารถโอนสิทธิกันได้ แล้วเกิดขึ้นกับพรรคการเมืองบางพรรคในทวีปยุโรปที่เริ่มทดลองนวัตกรรมแบบนี้ขึ้นมา อย่างไรก็ตาม จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยได้นั้น ต้องทดลองในสนามเลือกตั้งเล็กก่อน ซึ่งความจริงถามว่าข้อดีของการโหวตแบบนี้ คือ เพิ่มความเชี่ยวชาญ และท้ายที่สุด ไม่ต้องมี ส.ส.ที่เป็นคนที่ต้องรู้ทุกประเด็น แต่จะประสบความสำเร็จต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถรองรับและให้ทุกคนเข้าถึงได้ ไม่เฉพาะคนในสังคมเมืองที่มีสมาร์ทโฟนเท่านั้น .
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/