Whistleblower : ความจริงเป็นสิ่งสาคัญที่สุด
"...เหตุการณ์ข้างต้นถือเป็นการเป่านกหวีด (Whistleblower) เหตุการณ์หนึ่งที่มีผู้ออกมาเปิดโปงข้อมูลลับไม่ชอบมาพากล ไม่สุจริต ผิดข้อบังคับหรือข้อกฎหมายและหลักจริยธรรม ถือเป็นความเสียสละและกล้าหาญของคนที่เปิดโปง โดยเฉพาะเมื่อคิดถึงเรื่องของความ “ถูกต้อง” นับเป็นการกระทำเพื่อองค์กรและประเทศโดยแท้ แม้ว่าการเปิดโปงในครั้งนั้นจะไม่สามารถยับยั้งให้สหรัฐฯ บุกโจมตีอิรักทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 500,000 คน อีกทั้งยังก่อให้เกิดเหตุวุ่นวายตามมามากมายในตะวันออกกลาง อย่างไรก็ตาม การกระทำของเธอก่อให้เกิดกระแสการต่อต้านสงคราม ส่งผลให้อังกฤษและประเทศในยุโรปตัดสินใจไม่เข้าร่วมสงครามในที่สุด..."
เหตุการณ์ 9/11 นับเป็นจุดเริ่มต้นที่สหรัฐฯ และประเทศพันธมิตรพยายามทุกวิถีทางเพื่อกวาดล้างกลุ่มผู้ก่อการร้ายและประเทศที่ให้การสนับสนุน โดยเฉพาะอิรักภายใต้การปกครองของประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน หลังจากนั้นอีก 2 ปี สหรัฐฯ และอังกฤษร่วมมือกันกล่าวหาว่าอิรักสะสมอาวุธชีวภาพและเคมี ซึ่งเป็นอาวุธร้ายแรงไว้ในครอบครอง จึงพยายามหาความชอบธรรมด้วยการขอมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเพื่อประกาศสงครามกับอิรัก แต่ก่อนการลงมติปรากฏว่าสหประชาชาติได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบแต่ไม่พบร่องรอยการสะสมอาวุธของอิรักเลย ทำให้คะแนนเสียงสนับสนุนเพื่อประกาศสงครามกับอิรักไม่เพียงพอ อย่างไรก็ตาม ด้วยความมุทะลุที่ต้องการรุกรานอิรัก สหรัฐฯ พยายามหาช่องทางที่จะให้สหประชาชาติลงมติเห็นชอบให้ได้ ด้วยการส่งอีเมล์ถึงหน่วยความมั่นคงของสหรัฐฯ และอังกฤษ ให้ช่วยขุดคุ้ยประวัติส่วนตัวทุกซอกทุกมุมของผู้แทนประเทศที่อยู่ในคณะมนตรีความมั่นคงฯ เพื่อนำมาใช้แบล็คเมล์ให้ลงมติสนับสนุน
แคทธารีน กัน (Katharine Gun) เจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองอังกฤษ ซึ่งขณะนั้นมีวัยเพียง 28 ปี ทำหน้าที่กลั่นกรองข่าวสารภาษาแมนดารินที่เธอมีความเชี่ยวชาญ ได้เห็นข้อความข้างต้น เธอทราบทันทีว่าอีเมล์ฉบับนี้กำลังทำให้ประเทศมหาอำนาจใช้กลโกงเพื่อสร้างความชอบธรรมในการเข้ารุกรานทำสงครามกับประเทศอื่น ๆ แคทธารีนจึงตัดสินใจพิมพ์อีเมล์ฉบับนั้นและนำกลับไปที่พัก คิดอยู่ถึง 2 วันก่อนส่งไปให้ หนังสือพิมพ์ The Observer ทางไปรษณีย์ เพราะคิดว่าการส่งไปในช่องทางนี้จะทำให้ยากต่อการสืบหาคนที่เปิดโปง และเมื่อปรากฏเป็นหัวข่าวพาดในหนังสือพิมพ์ในอีก 1 เดือนต่อมาว่า “Revealed: US dirty tricks to win vote on Iraq war” (สหรัฐฯ ใช้แผนสกปรกล็อบบี้เพื่อประกาศสงครามกับอิรัก) พร้อมตีพิมพ์เนื้อหาของอีเมล์โดยละเอียดได้สร้างความโกลาหล ขณะที่ทางการสหรัฐฯ และอังกฤษ ออกมาปฏิเสธอย่างพัลวัน [1]
แน่นอน หน่วยงานความมั่นคงดำเนินการตรวจสอบทันทีว่าใครเป็นผู้ส่งข่าวนี้ โดยเรียกผู้ได้รับอีเมล์มาสอบสวนทีละคน และเมื่อเธอเห็นว่ามีการสร้างกระแสข่าวว่าเป็นอีเมล์ที่แต่งขึ้นโดยผู้ไม่หวังดี แคทธารีนเห็นว่าเป็นเรื่องไม่ยุติธรรมที่เพื่อนร่วมงานของเธอต้องเข้ามาเกี่ยวข้อง แคทธารีนจึงตัดสินใจสารภาพว่า เป็นการกระทำของเธอแต่เพียงผู้เดียว
แคทธารีนถูกตั้งข้อหาล่วงละเมิดกฎหมายความลับราชการ ซึ่งถือเป็นภัยร้ายแรงต่อความมั่นคงของประเทศในระหว่างการสอบสวน เธอถูกบีบคั้นอย่างหนักในทุก ๆ มิติ รวมถึงการข่มขู่เนรเทศสามีมุสลิมชาวเคิร์ดกลับประเทศในฐานะมนุษย์ปุถุชนธรรมดา แคทธารีนเกิดความกลัวและแทบถอดใจ แต่คิดว่าเธอได้ทำในสิ่งที่ถูกต้อง จึงตัดสินใจไม่ยอมรับข้อกล่าวหาที่ว่าเธอทรยศต่อหน้าที่ โดยแคทธารีน กล่าวตอบโต้ว่า “ฉันไม่ได้ทำงานให้กับรัฐบาล แต่ฉันทำงานให้กับชาวอังกฤษต่างหาก และฉันไม่ได้ทำหน้าที่เพื่อให้รัฐบาลโกหกต่อประชาชน” (I work for the British people. I do not gather intelligence so the government can lie to the British people.) [2]
เหตุการณ์ข้างต้นถือเป็นการเป่านกหวีด (Whistleblower) เหตุการณ์หนึ่งที่มีผู้ออกมาเปิดโปงข้อมูลลับไม่ชอบมาพากล ไม่สุจริต ผิดข้อบังคับหรือข้อกฎหมายและหลักจริยธรรม ถือเป็นความเสียสละและกล้าหาญของคนที่เปิดโปง โดยเฉพาะเมื่อคิดถึงเรื่องของความ “ถูกต้อง” นับเป็นการกระทำเพื่อองค์กรและประเทศโดยแท้ แม้ว่าการเปิดโปงในครั้งนั้นจะไม่สามารถยับยั้งให้สหรัฐฯ บุกโจมตีอิรักทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 500,000 คน อีกทั้งยังก่อให้เกิดเหตุวุ่นวายตามมามากมายในตะวันออกกลาง อย่างไรก็ตาม การกระทำของเธอก่อให้เกิดกระแสการต่อต้านสงคราม ส่งผลให้อังกฤษและประเทศในยุโรปตัดสินใจไม่เข้าร่วมสงครามในที่สุด
แคทธารีนยอมรับว่า การกระทำของเธอมีผลต่อชีวิตครอบครัวของเธออย่างมาก เธอต้องอยู่ในโลกของความกลัวหวาดระแวง โดดเดี่ยว เพื่อน ๆ หนีห่างจากเธอ และภายหลังเมื่อศาลยกฟ้องข้อกล่าวหาทั้งหมด เธอตัดสินใจย้ายครอบครัวไปอยู่ที่ตุรกีบ้านเกิดของสามี ใช้ชีวิตอย่างเงียบ ๆ แคทธารีนให้สัมภาษณ์กับทิม อดัม (Tim Adams)ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ The Guardian เมื่อเดือนกันยายนปีนี้ว่า “ไม่มีใครทราบว่าการ Whistleblowing มาจากการอบรมสั่งสอนกันมาหรือเป็นพฤติกรรมโดยธรรมชาติของมนุษย์ แต่ฉันคิดว่าคนส่วนใหญ่เลือกที่จะไม่ก้าวข้ามเส้นเพื่อออกมาเปิดโปงความจริง สำหรับฉันไม่ลังเล เพราะความจริงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด” (Nobody knows if whistleblowing is nurtureor nature. I think most people have red lines that they won’t cross… With me, it was this. I was very exercised about what was happening. Truth always matters at the end of the day.” [3]
เหตุการณ์ที่เล่ามานี้ ได้ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ชื่อ "OFFICIAL SECRETS" นำแสดงโดยเคียร่า ไนท์ลี่ย์ (Keira Knightley) คาดว่าจะเป็นภาพยนตร์ที่ได้รับความสนใจจากชาวอังกฤษมากเรื่องหนึ่งเมื่อเข้าฉายในโรงภาพยนตร์นับจากวันที่ 18 ตุลาคมนี้ ในรอบปฐมทัศน์เมื่อต้นตุลาคม นิโคล โมเบย์ (Nicole Mowbray) อดีตผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ The Observer ได้รับเชิญเข้าร่วมชมด้วย เธอต้องใช้ความกล้าหาญและกล้าเผชิญกับความจริงจากแผลในใจเธอยาวนานกว่า 16 ปี เพื่อจะชมภาพยนตร์ให้จบเรื่อง เพราะเธอเกือบจะทำให้การเปิดโปงของ แคทธารีนกลับตาลปัตร เรื่องราวทั้งหมดเป็นอย่างไร ผมจะนำมาเล่าใน Weekly Mail ฉบับหน้าครับ
รณดล นุ่มนนท์
รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย
แหล่งที่มา:
[1] GQ Thailand. (2019). GQ | Official Secrets ประชาชนเพื่อประชาชน คนของรัฐบาลเพื่อรัฐบาล. [online] Available at: https://www.gqthailand.com/life/article/official-secrets-movie-review [Accessed 13 Oct. 2019].
[2],[3] Adams, T. (2019). Iraq war whistleblower Katharine Gun: ‘Truth always matters’. [online] the Guardian. Available at: https://www.theguardian.com/film/2019/sep/22/katharine-gun-whistleblower-iraq-official-secrets-film-keira-knightley [Accessed 13 Oct. 2019].
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก
https://www.siamzone.com/movie/m/9362
https://www.theguardian.com/film/2019/jul/27/international-incident-work-mistake-official-secrets-film
https://www.theguardian.com/world/2013/mar/03/katharine-gun-iraq-war-whistleblower