“Libra” – ไปต่อหรือรอก่อน? เมื่อ Facebook ถูกตั้งคำถาม
"...ธนาคารกลางแห่งอังกฤษ (Bank of England) ได้ออกประกาศคุมเข้ม Libra โดยกำหนดให้ระบบการชำระเงินของ Libra ต้องเป็นไปตามมาตรฐานขั้นสูงสุดด้านความมั่นคงทางการเงิน (financial resilience) และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลที่เหมาะสม การพิจารณา resilience ของระบบ Libra นั้นต้องดูให้ครบวงจร โดยพิจารณาจาก Libra Association ซึ่งเป็นสมาพันธ์ที่ขับเคลื่อนโครงการลิบรา ทุนสำรอง (Libra Reserve) และผู้ให้บริการอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้สอบทานธุรกรรม (validator) ศูนย์ซื้อขาย และผู้ให้บริการ wallet
สวัสดีค่ะทุกท่าน หลังจากบทความ “Libra” – จับตา “ก้าวที่กล้าของ Facebook” ซึ่งเผยแพร่ไปเมื่อวันที่ 22 มิ.ย. ที่ผ่านมา ด้วยยอดผู้เข้าชมมากกว่าแสนครั้ง ก็ได้ติดตามความเคลื่อนไหวมาตลอด จากที่ก่อนหน้านี้ในเดือนเดียวกัน Facebook ได้ประกาศว่าจะร่วมกับพันธมิตรอีก 27 รายเปิดตัว “Libra” (ลิบรา) และมีแผนจะนำมาใช้ในปี 2563 ซึ่งเกิดข้อคำถามทั้งจากภาครัฐและเอกชนที่หลากหลายมุมมอง จึงอยากจะนำเสนอภาคต่อของ Libra เพื่อให้เห็นความคืบหน้าของโครงการที่กำลังเป็นที่ฮือฮาทั่วโลกกัน
ทุนสำรอง (Libra Reserve)
ก่อนอื่นต้องขอท้าวความกันก่อนนะคะว่า Libra เป็นคริปโทเคอร์เรนซี (cryptocurrency) ที่มีการนำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) มาใช้เพื่อให้บริการโอนเงินและชำระเงินระหว่างกัน ซึ่งจะมีความรวดเร็วและมีค่าบริการต่ำสำหรับคนทั่วโลก โดยเฉพาะคนที่ไม่สามารถเข้าถึงการรับบริการทางการเงินจากธนาคาร
Libra ยังเป็นคริปโทฯ ที่มีมูลค่าตามสินทรัพย์ที่อ้างอิง เรียกว่า “stable coin” ซึ่งจะอิงกับตะกร้าเงินฝากที่เป็นสกุลเงินหลักและหลักทรัพย์ระยะสั้นที่ออกโดยรัฐบาลและสำรองไว้เต็มจำนวน (fully reserved) เพื่อลดความผันผวน ซึ่งได้ประกาศล่าสุดเมื่อเดือนกันยายน ประกอบด้วย 5 สกุลเงินหลัก ได้แก่ ดอลล่าร์สหรัฐ ยูโร เยน ปอนด์ และสิงคโปร์ดอลล่าร์ โดยครึ่งหนึ่งของทุนสำรองจะเป็นดอลลาร์สหรัฐ (US Dollar)
คำถามจากภาครัฐและหน่วยงานกำกับดูแล
อันที่จริงแล้ว Facebook ได้เผยแพร่รายละเอียดของ Libra ไปแล้วบ้างบนเว็บไซต์ลิบราก่อนหน้านี้ แต่ถูกมองว่ายังขาดรายละเอียดสำคัญอีกเป็นจำนวนมาก เพราะไม่สามารถให้รายละเอียดต่อวุฒิสภาของสหรัฐเมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาได้
นี่เอง จึงอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ภาครัฐและหน่วยงานกำกับดูแลในต่างประเทศส่วนใหญ่ที่กำลังจับตาดู Libra ได้แสดงท่าทีเชิงตั้งคำถามและขอให้ Facebook ชะลอโครงการไปก่อน เนื่องจากมองว่า Libra อาจส่งผลกระทบต่อนโยบายทางการเงินของแต่ละประเทศและเสถียรภาพทางการเงินโลก และยังอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินให้แก่การก่อการร้าย รวมทั้งมีข้อสงสัยในแง่ความปลอดภัยของการใช้งานและการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่ง Facebook เองก็ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องดังกล่าว
ดังนั้น คนส่วนใหญ่จึงยังคลางแคลงใจว่า Facebook จะสามารถปกป้องข้อมูลของผู้ใช้ลิบราไม่ให้รั่วไหลออกไปได้หรือไม่ ขณะที่บริษัท “Calibra” ที่ Facebook ตั้งขึ้นมาเพื่อให้บริการกระเป๋าเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (wallet) โดยสามารถรับส่งเงินผ่านแอปพลิเคชันอย่าง WhatsApp และ Facebook Messenger ก็ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องของการขอความยินยอม หาก Calibra จะแบ่งปันข้อมูลทางการเงินของผู้ใช้งานให้แก่ Facebook ในขณะเดียวกัน ความเชื่อมโยงระหว่าง Facebook กับบริษัทพันธมิตร (ไม่ว่าจะเป็นกรรมการหรือตัวองค์กรเอง) ยิ่งทำให้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับความเป็นอิสระและความสัมพันธ์ระหว่าง Facebook กับLibra
อังกฤษประกาศคุมเข้ม Libra แม้จะยังไม่มีการใช้จริง
ก่อนหน้านี้ ประเทศ G7 จัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ (taskforce) ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากธนาคารกลางหลายประเทศ เพื่อศึกษาเรื่องการกำกับดูแล Libra โดยเฉพาะ และในปัจจุบัน ฝรั่งเศสและเยอรมนีก็ประกาศจุดยืนอย่างชัดเจนแล้วว่าจะคัดค้าน Libra ในสหภาพยุโรป
ล่าสุด ธนาคารกลางแห่งอังกฤษ (Bank of England) ได้ออกประกาศคุมเข้ม Libra โดยกำหนดให้ระบบการชำระเงินของ Libra ต้องเป็นไปตามมาตรฐานขั้นสูงสุดด้านความมั่นคงทางการเงิน (financial resilience) และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลที่เหมาะสม การพิจารณา resilience ของระบบ Libra นั้นต้องดูให้ครบวงจร โดยพิจารณาจาก Libra Association ซึ่งเป็นสมาพันธ์ที่ขับเคลื่อนโครงการลิบรา ทุนสำรอง (Libra Reserve) และผู้ให้บริการอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้สอบทานธุรกรรม (validator) ศูนย์ซื้อขาย และผู้ให้บริการ wallet
Facebook ยังคงเดินหน้า แม้มีพันธมิตรถอนตัว
Libra Association มีแผนที่จะยื่นขอใบอนุญาตระบบการชำระเงิน (system payment license) จาก Financial Market Supervisory Authority (FINMA) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่ได้ออกแนวปฏิบัติไปเมื่อปลายเดือนสิงหาคมเกี่ยวกับระบบการชำระเงินบนบล็อกเชน มาตรการป้องกันการฟอกเงิน การยืนยันตัวตนของลูกค้า (Know-Your-Customers: KYC) และระบบติดตามความเสี่ยง โดย FINMA มีความเห็นว่า Libra จะต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์และมาตรฐานขั้นสูงสุดด้านการป้องกันการฟอกเงิน
อุปสรรคที่ Libra เผชิญยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เมื่อ PayPal หนึ่งในพันธมิตรเดิมได้เปิดเผยเมื่อต้นเดือนตุลาคมว่าจะถอนตัวจากการเป็นสมาชิกของ Libra Association ตามด้วย Visa, Mastercard, eBay, Stripe และ Mercado Pago ที่ต่างก็เพิ่งออกมาประกาศถอนตัวเช่นกัน เนื่องจากการลงนามในเอกสารแสดงเจตตามกำหนดการ (letter of intent) เข้าร่วมโครงการ Libra ของเหล่าพันธมิตรก่อนหน้านี้ยังไม่มีผลผูกพัน ดังนั้น การจัดประชุมสมาชิก Libra Association ครั้งแรกในวันที่ 14 ตุลาคมนี้ ก็ต้องลุ้นกันว่าสมาชิกที่ลงนามในกฎบัตรอย่างเป็นทางการมีบริษัทใดบ้าง
อย่างไรก็ดี Facebook จะต้องหาทางออกจากปัญหาที่รุมเร้าให้เร็วที่สุด เพราะจะต้องเข้าพบเจ้าหน้าที่ทางการของสหรัฐอีกสองครั้งในช่วงปลายเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งก็ต้องรอดูกันต่อไปว่า Facebook จะสามารถปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ทางการในแต่ละประเทศ ตลอดจนการเปิดตัว Libra ที่จะพลิกโฉมวงการการเงินได้ทันในปี 2563 ตามที่วางแผนไว้หรือไม่
ขอย้ำอีกครั้งนะคะว่า สินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง ควรเช็คให้ชัวร์ก่อนว่ามีความเข้าใจและสามารถยอมรับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องก่อนตัดสินใจลงทุน สำหรับผู้ที่สนใจจะลงทุนสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ เสี่ยงสูง ดอท คอม หรือค้นหาผลิตภัณฑ์หรือรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. ได้ที่แอปพลิเคชัน “SEC Check First” สุดท้ายนี้ ขอฝากให้ท่านระมัดระวังหากถูกชักชวนให้ลงทุนใน Libra โดยอ้างว่าเป็นโอกาสร่วมลงทุนกับ Facebook หรือพันธมิตรต่าง ๆ สำหรับผู้ที่มีเบาะแสเกี่ยวกับการดำเนินการที่น่าสงสัยใด โปรดแจ้ง SEC Help Center สายด่วน ก.ล.ต. 1207 เพื่อดำเนินการตรวจสอบต่อไปค่ะ
ที่มา: libra.org, calibra.com, www.ft.com, www.senate.gov, www.finma.ch, www.bankofengland.co.uk, www.reuters.com, spiegel.de